18 ก.ค. 2023 เวลา 18:02 • ไลฟ์สไตล์

ราศีปะทะปีจร

ในทุกต้นปี ช่วงใกล้ปีใหม่ ทั้งของไทยและของจีน ซึ่งมักจะใกล้กัน ห่างกันอย่างมากไม่เกินสองเดือน ผู้คนที่ถือคติโหราศาสตร์แบบจีนโบราณ ก็มักจะทำการตรวจสอบดูว่า ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนั้น เป็นปีนักษัตอะไร และตัวเองจะมีปีเกิดที่ไปปะทะ หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า ปีชง หรือไม่ เรื่องนี้ในปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่แค่ชาวจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น
แต่แทบจะเรียกได้ว่า สังคมโดยภาพรวมส่วนใหญ่แล้ว เริ่มที่จะหันมาให้ความสนใจกับเรื่องนี้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ที่หวั่นเกรงผลกระทบโดยตรง หรือผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการปรับแก้ชะตา หรือจำหน่ายเคล็ดวัตถุที่จะใช้ในการแก้เคล็ดปีชงดังกล่าว กระทั่งดูเหมือนว่า กระแสนิยมในเรื่องนี้ยิ่งนับวันก็ยิ่งจะแผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไปในสังคมปัจจุบัน
ซึ่งผู้เขียนก็ต้องคอยตอบคำถามเพื่อนฝูงญาติมิตร และสัมพันธ์ชนทั้งหลายบ่อยครั้ง รวมทั้งท่านผู้อ่านและเพื่อนสมาชิกในเว็บไซท์ดาวแปด ในทุกช่วงที่ใกล้ต้นปี เมื่อมีบทความตอบคำถามของตัวเองเช่นนี้ ก็เลยคิดว่าน่าจะเรียบเรียงมานำเสนอไว้ เพื่อช่วยขยายความเข้าใจของทุกๆ ท่านที่สนใจในเรื่องปีชงที่ว่านี้ เพื่อจะได้วางตัววางใจได้อย่างเหมาะสม ไม่ต้องหวั่นเกรงจนเกินเหตุ
และที่จริงแล้ว การเริ่มนับเปลี่ยนปีนักษัตหรือราศีปีชงนั้น มิได้เปลี่ยนในวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสากล หรือวันตรุษจีนที่เป็นเหมือนวันปีใหม่ตามคติของชาวจีน แต่จะถือเอาวันเปลี่ยนสาร์ทใหญ่เป็นหลัก ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ประมาณ 3-5 กุมภาพันธ์ของแต่ละปี โดยจะเป็นวันที่มีการเปลี่ยนรหัสคู่ราศีของปีจร คือเปลี่ยนทั้งรหัสราศีทั้งสองคือ กิ่งฟ้าและก้านดิน ไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะราศีล่างที่เป็นก้านดินหรือปีนักษัตเท่านั้น (สนใจรายละเอียดเข้าไปอ่านเรื่อง พฤกษาแห่งฟ้าดิน)
หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสติดตามข้อมูลจากเว็บไซท์ทางโหราศาสตร์จีนหลายแห่ง หรือไปตามศาลเจ้าต่างๆ ก็มักจะมีการแจกแจงปีนักษัตที่จะชงกับปีปัจจุบันนั้นๆ เอาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะแสดงเอาไว้เป็นจำนวนสี่ปีนักษัต ในบทความนี้ก็จะบรรยายถึงเหตุผลที่มาว่าทำไมจึงต้องเป็นแค่สี่ปีดังกล่าว จะมีน้อยหรือมากกว่านั้นได้หรือไม่ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้หายสงสัยเสียที และถ้าจะทำอะไรก็จะได้ทำไปอย่างมีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นองค์ประกอบ
ปกติแล้วหากจะว่ากันตามหลักวิชาแท้จริง แต่ละปีที่จรเข้ามาจะมีรหัสคู่ราศีแปรเปลี่ยนไปทุกปี ตามวงจรของหกสิบรหัสคู่ราศี หรือที่ทางหลักวิชาจะเรียกว่า หลักจับกะจื้อ หรือ ลิ่วสือเจี๋ยจื่อ (六十甲子) ซึ่งจะเรียงรายไปตามลำดับ พอหมดปีหนึ่งก็จะขยับไปหนึ่งรหัสคู่ราศีเป็นเช่นนี้ทุกๆ ปี โดยผู้เรียนวิชาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ดวงชะตาแบบจีน โดยเฉพาะสายวิชาสี่ราศีแปดอักษร หรือ โป้ยยี่ซี้เถียว นั้น จะรู้จักกันในนามของราศีปีจร
ซึ่งจะหมุนเวียนเข้ามาทุกปี และผู้ที่ทำการวิเคราะห์ดวงชะตาจะนำมากระทบเปรียบเทียบกับตัวผังดวง เพื่อดูว่าราศีปีจรดังกล่าว มีผลกระทบต่อผังชะตาอย่างไรบ้าง ซึ่งการวิเคราะห์ในลักษณะนี้ จะได้รายละเอียดที่ตรงเป้าที่สุด เพราะหากต้องการรู้ผลกระทบจากปีจรจริงๆ จะต้องตรวจดูเป็นรายบุคคล ซึ่งจะมีผังดวงแตกต่างกันไป จึงจะสามารถบอกรายละเอียดความดีร้ายที่จะจรเข้ามาได้อย่างถูกต้องใกล้เคียงที่สุด
แต่เนื่องจากการวิเคราะห์ผังดวงแบบจีนนั้น มีขั้นตอนที่สลับซับซ้อน จนดูเหมือนจะหาผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ค่อยได้ จึงเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจสำหรับคนทั่วไป จึงมีผู้รู้บางส่วนหันมาหาวิธีที่จะบอกผลกระทบต่อชีวิตผู้คนในภาพรวมแบบกว้างๆ จึงหันไปใช้ปีนักษัตที่เกิดของแต่ละคนมาเป็นตัวตัดสินความดีร้าย ซึ่งถ้าจะถามว่า มีผลจริงหรือไม่ ในฐานะผู้ที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับหลักวิชาเหล่านี้มานานพอสมควร ก็ต้องบอกตามตรงว่า ค่อนข้างจะมีผลกระทบน้อย
เนื่องจากปีกับเดือนเกิดนั้นจะถือเป็นเรือนนอก ขณะที่วันและเวลาหรือยามที่เกิดจะเป็นเรือนใน ดังจะเห็นได้จากการดูฤกษ์ยามทั้งแบบจีนและไทยนั้น จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับวันและเวลามากกว่าปีและเดือน แต่เพื่อความไม่ประมาท ผู้เขียนก็ไม่เคยตัดผลกระทบของปีจรออกไป เพราะจากประสบการณ์พบว่า หากปีเกิดถูกปะทะ และวันเวลาใดก็ถูกราศีจรเข้ามาปะทะด้วย มักจะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งผู้เขียนได้สังเกตเห็นมาหลายกรณีแล้ว โดยตรวจสอบจากชะตาของคนที่รู้จัก บ่อยครั้งที่พวกเขาประสบอุบัติเหตุ ก็จะตกอยู่ในสภาวะปะทะดังกล่าว
สำหรับในตอนนี้ เอาเป็นว่า เราจะใช้ปีจรมาเป็นตัวพิจารณาเพียงอย่างเดียวก่อน เพื่อที่จะพาท่านผู้อ่านไปทำความเข้าใจตามที่หลายๆ ที่แจกแจงไว้ ความจริงแล้วแม้จะใช้ตัวราศีปีจรมาเป็นตัวตรวจสอบ โดยใช้เฉพาะราศีล่างหรือก้านดิน ที่สามารถเทียบเคียงไปกับปีนักษัตหรือปีเกิด ก็จะมีการพิจารณาได้ในหลายกรณี โดยเฉพาะในเรื่องของการมีผลต่อปีเกิดบุคคลนั้น
ตามหลักวิชาจะมีการเปรียบเทียบตรวจสอบถึงสี่สภาพด้วยกัน ที่เรียกกันในศัพท์ของหลักวิชาว่า “เฮ้ง ชง ผั่ว ไห่” โดยเฮ้งจะหมายถึงการเบียดเบียน ทำให้หงุดหงิด ก่อกวน แต่ไม่ถึงกับทำร้าย ส่วนชงนั้นจะหมายถึงการปะทะโดยตรง ขณะที่ผั่วจะหมายถึงแตกหัก หรือแตกแยกก็ได้ และไห่หมายถึงโทษภัย คือให้โทษ ให้ร้าย ทำให้เกิดความเสียหาย
จากหลักเกณฑ์ทั้งสี่สภาพข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้าจะตรวจสอบผลกระทบลำพังเพียงปีจร ก็ต้องดูให้ครบทั้งสี่สภาวะนี้ ซึ่งจะมีระดับความรุนแรงของการส่งอิทธิพลต่อปีเกิดแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน โดยในที่นี้ตัวชงจะแรงสุด เพราะถือเป็นการปะทะตรง ไม่อาจหลีกเลี่ยง ขณะที่ผั่วจะรุนแรงรองลงมา ขณะที่ไห่นั้นจะเป็นอันดับสาม และเฮ้งนั้นเบาสุด อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง การตั้งเกณฑ์ในการพิจารณาปีชงนั้น
จึงสนใจเฉพาะสองอันดับแรก คือ ชง กับ ผั่ว เท่านั้น ส่วนอีกสองสภาพหลังจะถูกมองข้ามไป ถ้าถามว่าผิดหรือไม่ ก็คงต้องตอบว่าไม่ผิดแต่ไม่ครบถ้วน ที่ตอบเช่นนี้ก็เพราะว่า แม้จะเรียงระดับความรุนแรงดังที่ว่ามาก็ตาม แต่เมื่อนำไปกระทบกับผังชะตาของแต่ละคนเข้าจริง ระดับความรุนแรงก็อาจจะพลิกผันไปจากนี้ได้ เพราะบางครั้งตัวชงและผั่วอาจถูกภาคีออกไป จนหมดสภาพ ขณะที่ตัวเฮ้งและไห่กับแสดงบทบาทชัดเจนขึ้นมาได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ท่านผู้อ่านไม่สบสนไปกว่านี้ เราจะกลับมาพิจารณากรณีของการชงและผั่วตามหลักคตินิยมต่อ ส่วนเหตุผลที่ใช้เพียงสองกรณีนี้มาจากหลักเกณฑ์ใด ก่อนจะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนคงต้องพาท่านผู้อ่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคติปีชงที่ใช้ในความหมายทั่วไปก่อน โดยจะถือกันว่า ในทุกปีนั้นจะมีการเคลื่อนของราศีปีนักษัตไป และจะถือว่าทุกปีนักษัตนั้นจะมีเทพเจ้าประจำปีคอยดูแล โดยเรียกกันว่า ไท่ส่วย หรือบางสายวิชาอาจแปลเป็นไทยว่า ดาวพฤหัส ซึ่งก็ไม่ถึงกับผิด
เหตุผลก็เพราะว่า วงโคจรของดาวพฤหัสรอบดวงอาทิตย์นั้นจะใช้เวลาประมาณ 11 ปีกว่าๆ จึงปัดเป็นสิบสองปี ดังนั้นจึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับสิบสองนักษัตอย่างลงตัวพอดี แต่เรื่องนี้คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญว่าจะเรียกเป็นอะไร เอาเป็นว่า เมื่อไท่ส่วยหรือบางทีเรียกผีหลวง มาสถิตอยู่ในทิศใด เช่น ปี ค.ศ. 2010 นี้ ตรงกับปีขาล ซึ่งอยู่ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือโดยประมาณ ดังนั้นทิศตรงข้ามคือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ จึงเป็นปีที่ตั้งประจัญกับทิศไท่ส่วยโดยตรง จึงเรียกทิศนี้ว่า ส่วยผั่ว หรือทิศแตกสลายนั่นเอง
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ จึงทำให้เป็นที่มาของการนำตัวชงกับผั่วมาใช้เท่านั้น ส่วนที่ว่ามีถึงสี่ปีนั้นมาจากเหตุผลใด คำตอบก็คือ ปีแรกที่จะมีผลกระทบโดยตรงก็คือ ปีนักษัตที่ปะทะตรงกับไท่ส่วย ปีที่สองก็คือปีที่ตรงกับปีจรนั้น ซึ่งถือว่าไปทับหรือตรงกับไท่ส่วย จึงเหมือนเป็นการท้าทาย ปีที่สามก็เป็นปีที่ตรงกับผั่ว
ซึ่งตั้งประจัญกับไท่ส่วย และสุดท้ายปีที่สี่ก็คือ ปีที่ปะทะกับผั่วนั้น รวมทั้งหมดเป็นสี่ปี โดยการปะทะนั้นจะอาศัยหลักเกณฑ์ของ หลักชง หรือคู่ปะทะทั้งหก ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ เอาเป็นว่าผู้เขียนจะสรุปเป็นตารางของสี่ปีนักษัตที่จะมีผลกระทบ ในแต่ละปีจรที่ผ่านไปทั้งสิบสองไท่ส่วยหรือสิบสองนักษัต เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบดังนี้
รูปที่ 1 แสดงตารางภาวะขัดแย้งของราศีนักษัต
จากตารางในรูปที่ 1 ข้างต้น จะแสดงถึงรายการปีนักษัตที่ถูกถือเป็นปีชงกับปีที่จรเข้ามา ในหัวข้อนี้ก็จะหันมาพูดถึง แนวทางการแก้ไขหรือเปลี่ยนร้ายให้กลายดี ที่หลายๆ สำนักได้ให้คำแนะนำคล้ายๆ กันไว้ จนเรียกได้ว่า เป็นสูตรสำเร็จก็ว่าได้ โดยหลักการที่ใช้กันนั้นก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ สำหรับแวดวงผู้ที่เรียนรู้ในหลักการโหราศาสตร์จีนปกติ เพราะมันคือสิ่งที่เรียกันตามศัพท์วิชาภาษาจีนว่า หลักฮะ และ ซาฮะ
โดยหลักฮะหรือคู่ภาคี ก็คือสภาพที่ตรงข้ามกับหลักชงข้างต้น ส่วนซาฮะหรือไตรภาคีนั้น อาจเรียกได้ว่า เป็นสมพงษ์ปีนักษัตแบบรายสามปี ซึ่งหลักนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในการทำนายทายทักหลายๆ เรื่องด้วยกัน แต่คงมิใช่ประเด็นที่จะนำมาพูดถึงในที่นี้ สำหรับปีนักษัตที่ถูกมาใช้แก้ในแต่ละปีที่ถูกระบุไว้ในสี่ปีชง ได้แสดงไว้ในตารางต่อไปนี้
รูปที่ 2 แสดงตารางการภาคีราศีล่าง
การแก้ไขโดยใช้หลักภาคีคู่และไตรภาคีนั้น จะใช้กับทุกปีที่ถูกระบุว่าเป็นปีชงทั้งสี่นั้น ตัวอย่างเช่น ปี ค.ศ. 2010 นี้ตรงกับปีขาล ดังนั้น ปีที่ชงก็คือ วอก ขาล กุน และมะเส็ง ซึ่งนี่ก็คือสี่ปีที่ต้องแก้ไข หากใช้หลักการจากตารางข้างต้น ก็จะได้ว่า ปีวอกจะต้องใช้ มะเส็ง ชวด และมะโรง เป็นตัวแก้ ปีขาลจะต้องใช้ กุน มะเมีย และจอ เป็นตัวแก้ ปีกุนต้องใช้ ขาล เถาะ และมะแม เป็นตัวแก้ และสุดท้ายปีมะเส็งต้องใช้ วอก ฉลู และระกา เป็นตัวแก้
โดยการแก้ก็ให้หาสัญลักษณ์รูปสัตว์ที่ตรงกับปีนักษัตดังกล่าวมาติดตัวไว้ จึงเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ที่เป็นเคล็ดวัตถุหลากหลายรูปแบบ ที่น่าสังเกตจะเห็นว่า บางปีนั้น ตัวแก้กลับเป็นตัวชงเสียเอง เช่น กุนกับขาล กรณีเช่นนี้ก็คือสิ่งที่ผู้เขียนได้ตั้งประเด็นไว้ข้างต้นที่ว่า การใช้เพียงปีมาเป็นตัวพิจารณาดวงชะตานั้น ไม่เพียงพอ เพราะมันมีโอกาสที่จะขัดแย้งกันในตัว เพื่อที่จะหาบทบาทที่แท้จริงออกมา จึงต้องอ่านราศีคู่ตัวอื่นร่วมประกอบการพิจารณาด้วย
มีอีกคติหนึ่งที่เกี่ยวกับปีชงนี้ ก็คือการนำหลักการหกสิบรหัสคู่ราศีในหลักจับกะจื้อ มาเทียบเป็นเทพเจ้าไท่ส่วยทั้งหกสิบองค์ โดยแต่ละองค์นั้นก็จะตรงกับรหัสคู่ราศีในแต่ละตำแหน่งในหกสิบคู่นั้น ดังนั้นเมื่อรู้ว่าปีจรใดมีรหัสคู่ราศีตรงกับเทพองค์ใด เมื่อปีนั้นจรมาก็ให้ไปกราบไหว้บูชาเทพเจ้าองค์นั้น ตัวอย่างเช่นปีนี้ ค.ศ.2010 ตรงกับรหัสคู่ราศี 73 หรือ แกเอี้ยง
ซึ่งมีเทพไท่ส่วยนามว่า อู่ฮ้วงไต่เจียงกุง ซึ่งเป็นปีเสือธาตุไม้ ตามหลักการนับอิม ส่วนใครที่สนใจรายชื่อเทพเจ้าไท่ส่วยทั้งหกสิบองค์ ก็สามารถสืบค้นได้ภายในเว็บไซท์ เพราะมีหลายแห่งที่ให้ข้อมูลไว้อย่างละเอียด โดยเฉพาะจะไปบูชาได้ในที่ใด เนื่องจากมิใช่จุดประสงค์หลักในการนำเสนอบทความนี้
ส่วนถ้าจะถามว่า ตำรับในการไปกราบไหว้บูชาเทพไท่ส่วยนี้ จะมีผลจริงหรือไม่ ก็ต้องยกให้เป็นเรื่องของคติความเชื่อของแต่ละคน แต่ในหลักวิชาก็ต้องถือว่า เป็นการแก้ไขอย่างหนึ่ง ในการผูกชะตาของตนเข้าไปอิงกับชะตาฟ้า เนื่องจากในหนึ่งชะตาชีวิตนั้นจะประกอบไปด้วยสามชะตาย่อย คือ ชะตาฟ้า ชะตาดิน และชะตาคน
ในกรณีนี้เมื่อชะตาคนถูกอิทธิพลจากปีจรเล่นงาน ดังนั้นการไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เท่ากับเป็นการปรับชะตาฟ้าของตนให้ดีขึ้น โดยอาศัยพลังเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยปรับชะตาตน ส่วนชะตาดินนั้นคือบ้านที่อยู่อาศัย ก็เป็นส่วนที่มีผลต่อการช่วยส่งเสริมหรือตัดทอนชะตาคนได้ด้วย หากชะตาดินดี ก็จะช่วยต้านสิ่งที่เลวร้ายได้
สรุปแล้วการไปไหว้บูชาเทพเจ้าตามคติความเชื่อความศรัทธา ก็ไม่ถึงกับเป็นสิ่งที่ผิด เพราะทุกสิ่งในโลกล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะศักดิ์สิทธิ์ได้ ก็ขึ้นกับความเชื่อของคนหมู่มากที่ทุ่มเทจิตใจเข้าไป เนื่องจากพลังมาจากใจดังกล่าว ดังนั้นยิ่งทุ่มเทความเชื่อความศรัทธาเข้าไปมาก ก็จะยิ่งมีพลังมากเป็นธรรมดา
และพลังเหล่านี้นี่เองที่ต้องถือเป็นส่วนของพลังฟ้าที่สามารถโน้มนำเข้ามาช่วยปรับแก้ชะตาของตนได้ ส่วนจะได้ผลมากน้อยเพียงใด ก็คงต้องขึ้นอยู่กับพลังของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ มีมากน้อยเพียงใด และความเชื่อความศรัทธาของผู้ที่ไปกราบไหว้บูชานั้นมีความจริงใจจริงจังมากแค่ไหนด้วย หากไม่มีความจริงใจไปไหว้แบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ก็จะได้ผลตามส่วนที่ตนตั้งใจนั้นเป็นธรรมดา
ดังที่ได้เกริ่นนำไว้ตอนต้นว่า แท้จริงแล้วราศีของแต่ละปีจรนั้น มิใช่มีเพียงราศีล่างหรือก้านดินที่นำไปเทียบกับสิบสองนักษัตเท่านั้น แต่เป็นรหัสคู่ราศีทั้งกิ่งฟ้าและก้านดิน ดังที่ยกตัวอย่างปี ค.ศ.2010 ในปัจจุบันนี้ ซึ่งตรงกับรหัสคู่ราศีที่เรียกว่า แกเอี้ยง หรือ 73 ซึ่งแกก็คือกิ่งฟ้ารหัส 7 และเอี้ยงคือก้านดินรหัส 3 ดังนั้นการจะพิจารณาการปรับแก้ชะตาเพื่อให้พ้นไปจากอิทธิพลของปีจรปัจจุบัน
หากจะให้หมดอิทธิพลโดยแท้จริงจึงต้องปรับแก้ทั้งกิ่งฟ้าและก้านดิน โดยอาศัยหลักของคู่ภาคีหรือหลักฮะดังที่นำเสนอไว้ข้างต้น ในการปรับแก้ก้านดินที่ราศีล่าง และใช้ภาคีคู่ทั้งห้า หรือโหงวฮะ ในการปรับแก้กิ่งฟ้าที่ราศีบน ซึ่งในกรณีนี้เป็นปีแกเอี้ยง หรือ 73 จึงต้องใช้ตัวภาคี อิกไห หรือ 2B ในการปรับแก้
คราวนี้เราจะมาดูว่า เหตุที่เราใช้รหัสคู่ราศีไปแก้ไขในรูปแบบของการภาคี ก็เพื่อสร้างบทบาทสภาวะการภาคีรหัสคู่ราศีปีจรนั้นเอาไว้ เนื่องจากเมื่อเกิดการเกาะเกี่ยวกันขึ้นแล้ว ก็ย่อมไม่อาจแสดงบทบาทของปีจรออกมาได้ ก็จะเท่ากับหลีกพ้นอิทธิพลของปีจรไปได้หนึ่งปี พอขึ้นปีใหม่ก็ค่อยเปลี่ยนไปใช้รหัสคู่ราศีใหม่
สำหรับเรื่องของรายละเอียดการภาคีนี้มีค่อนข้างมาก จึงไม่เหมาะที่จะนำมาเสนอไว้ในที่นี้ แต่ก็บอกได้ว่า ถ้าใช้วิธีการนี้ก็ไม่ต้องไปสนใจในเรื่องของสี่ปีชง เพราะเหมือนการตัดไฟแต่ต้นลม โดยการทำลายบทบาทอิทธิพลของปีจรนั้นไปแล้ว
เมื่อเราได้รหัสคู่ราศีในการภาคีมาแล้ว คำถามคือแล้วจะใช้วิธีใดในการสร้างความสัมพันธ์กับรหัสคู่ราศีดังกล่าว เพราะไม่อาจใช้วิธีนำเอารูปสัตว์ที่แทนปีนักษัตมาใช้พกติดตัวได้ ดังนั้นการแก้ด้วยวิธีนี้ทางหนึ่งที่น่าจะสมเหตุสมผลก็คือ การมองหาคนที่เกิดในรหัสคู่ราศีดังกล่าว เช่นกรณีนี้ก็ต้องหาคนที่เกิดปีกุน ที่มีรหัสคู่ราศีเป็น อิกไห
และให้เขามอบของบางอย่างให้ ถ้าจะให้ดีควรเป็นสิ่งที่เขาใช้อยู่ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางด้านพลังคน เมื่อได้มาแล้วก็ให้พกติดตัวไว้ตลอดปี เรียกได้ว่า เป็นการสร้างความผูกพันทางด้านพลังโดยตรง ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องของจิตใจ จึงต้องอาศัยความจริงใจทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นสิ่งสำคัญ
ด้วยหลักการนี้ บางสำนักจึงได้มีการสร้างวัตถุมงคลหรือเคล็ดวัตถุขึ้นมา เพื่อให้แต่ละคนที่เกิดในปีที่มีรหัสคู่ราศีที่เหมาะสมเป็นผู้มอบให้แก่คนที่เข้าเกณฑ์ปะทะปีจรนั้นๆ ผู้เขียนเคยเห็นของเพื่อนบางคนที่ได้มาตามคติของสำนักเขา โดยทำเป็นรูปเหรียญซึ่งมีตัวอักษรจีน ที่แทนรหัสคู่ราศีทั้งกิ่งฟ้าและก้านดินไว้ที่สองด้านของตัวเหรียญ แล้วให้พกติดตัวไว้ เรื่องนี้ก็ต้องถือว่า เข้าตามหลักการข้างต้นเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นวัตถุรูปแบบใด
ขอเพียงต้องได้รับจากคนที่มีรหัสคู่ราศีดังกล่าวจริงๆ จึงจะได้ความผูกพันทางด้านพลังดังว่า ส่วนที่มีบางเว็บไซท์ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ว่าเป็นเพียงมายาคติ ผู้เขียนก็ต้องยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะสรรพสิ่งในโลกีย์ล้วนเป็นมายา แม้แต่ฟ้าดินมนุษย์ ก็เป็นเพียงมายาภาพที่ปรากฏอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น และถ้าจะว่ากันในประเด็นนี้จริงๆ แม้หลักวิชาทั้งหลายก็ล้วนไม่มีเพราะถือเป็นมายาคติเช่นกัน
(มิติทางปัจจัยสภาพ ep.6 ราศีปะทะปีจร)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา