22 ก.ค. 2023 เวลา 02:30 • การศึกษา
ดงสาร

“จิตอาสางานคุณค่า” สู่คลังเมล็ดพันธุ์ข้าวทุ่งพันขัน4,000ไร่

นายก อบต.โพนงาม เปลี่ยนยูนิฟอร์มร่วมกิจกรรมลงแขกดำนาที่แปลงสาธิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านดงสาร ส่วนหัวหน้าสำนักปลัดฯ ตอบรับข้อเสนอเข้าสู่แผนพัฒนาตำบล นอกจากนี้ชุมชนสะท้อนขายเมล็ดพันธุ์ในทุ่งพันขัน 4,000 ไร่ ก็ไม่พอ นักวิจัย มรภ.สกลนคร หนุนคลังเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง นำวิศวกรสังคมจิตอาสา งานคุณค่าดำนากล้าเมล็ดพันธุ์ 2 วัน 1คืน ระหว่างวันที่ 14 – 15 กรกฎาคม 2566
เมื่อฝนตกลงมาเม็ดแรกช่วงเดือนหก (มิถุนายน) เป็นสัญญาณเตือนเกษตรกรเตรียมตัวทำนาปีอีกครั้ง บรรยากาศเหมือนทุกคนจะดีใจ แต่มีคำถามที่ซ่อนไว้ในใจ “ทำนาก็ไม่มีกำไร” ชวนให้คิดต่ออย่างสิ้นหวังว่า “ไม่รู้จะทำอะไรไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำนา” พร้อมกับมีคำตอบปลอบใจ “อย่างน้อยก็มีข้าวไม่ได้ซื้อกิน” นี่คือเสียงสะท้อนปัญหาของชาวนาที่เป็นวัฏจักรหมุนแบบนี้ทุกปี
เปรียบเหมือนอัลกอริทึม (Algorithm) รู้เลยว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่ยังไม่มีการแก้ปัญหาทั้งกระบวนการผลิต เกษตรกรทำนาส่วนใหญ่มีแต่ผู้สูงอายุ สำหรับวัยรุ่น หนุ่มสาวหันหลังจากบ้านเกิดเดินหน้าไปเป็นแรงงานในเมืองใหญ่ต่างถิ่น
รายงานสถานการณ์ชาวนาบ้านดงสาร ตำบลโพนงาม อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร จากเวทีศึกษาความต้องการพัฒนาในชุมชน ปี 2565 โดยโครงการวิจัยการพัฒนากระบวนการเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยระบบการผลิตเกษตรมูลค่าสูงของกลุ่มเกษตรกรฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้รับสนับสนุนทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ด้าน นายณัฎฐพล นิพันธ์ หรือผู้ใหญ่เด่น อายุ 61 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านดงสาร เปิดเผยข้อมูลบริบทชุมชนบ้านดงสารเพิ่มเติมว่า บ้านดงสารเป็นหมู่บ้านที่ยากจนมาก เป็นป่าบุ่งป่าทามแต่ก่อนขนานนามว่าทุ่งน้ำทุ่งไฟ คือ ในฤดูฝนน้ำจากแม่น้ำสงครามจะท่วมทั้งหมดเหลือแต่หมู่บ้าน และในฤดูร้อนไฟจะไหม้ทุ่งหญ้าแซง บางปีที่สถานการณ์ไม่เลวร้ายมากนัก จะเป็นซุปเปอร์มาร์เกตของชาวบ้านได้พึ่งพิงธรรมชาติ เช่น หาหน่อไม้ขาย มีมันแซงขาย เกิดผักป่ากินได้ เป็นต้น ชาวบ้านจะนำมาขายหรือแลกข้าวกับชุมชนใกล้เคียง
ต่อมาช่วงปี 2518 หลังน้ำลดประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นจุดเริ่มต้นทำนาปรัง แต่ก่อนชาวบ้านจะเรียกทำนาแซง พอได้ผลผลิตมีข้าวกินจึงขยายพื้นที่ ต่อมาเป็นทุ่งพันขัน 4,625 ไร่ ในปัจจุบัน แต่ปัญหาที่พบ คือ ข้าวแข็งเป็นเมล็ดสีเหลืองขายได้ในราคาที่ถูกมากหรือเป็นอาหารสัตว์
นี้คือโจทย์ใหญ่เป็นมหากาพย์ความเจ็บปวดของชาวนา ที่มาคู่กับความยากจน เหมือนถูกแช่แข็งการพัฒนา เกษตรกรจึงทำนาแบบอาศัยธรรมชาติ จนเกิดวัฒนธรรมใหม่ คือ ต่างคนต่างทำเอาไว้กินหรือเพื่อรับเงินเยียวยาจากรัฐบาล นี่เป็นข้อเท็จจริงที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับเพื่อเดินหน้าต่อ
แนวทางการแก้ไขปัญหาทุกคนก็ทราบดีว่า ต้องจัดการทั้งห่วงโซ่อุปทานข้าว แต่จะลงมือทำให้เกิดมรรคเกิดผลกระทบตามบริบทพื้นที่บ้านดงสารข้างต้น ก้าวแรกจะเดินยังไง ? ยังเป็นคำถามดัง ๆ จากชาวนา เพื่อให้นักวิชาการใจกล้า เดินเข้ามาส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาให้บ้านดงสารเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
อาจารย์สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า เมื่อปี 2565 ความต้องการของชุมชนครั้งแรกไม่มีอะไรเป็นพิเศษแค่อยากทานข้าวนุ่ม ๆ จากผลผลิตนาปรังแค่นี้เอง ดูเหมือนง่ายนะแค่หาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมมาให้ แต่โชคชะตากำหนดให้ทุ่งพันขันมีความซับซ้อนของนิเวศน์ย่อยเล็กน้อย มีพื้นที่ลุ่มและที่กึ่งดอนสลับกันไปมา เกษตรกรจึงใช้เมล็ดพันธุ์ไม่เหมือนกัน ประกอบกับเมล็ดพันธุ์ข้าวระยะสั้น 3 เดือนขาดตลาด
ซึ่งเป็นความท้าท้ายสำหรับนักวิจัยมาก จึงหาทางออกร่วมกับชุมชนนำไปสู่แปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวนำร่อง 15 ไร่ เกิดกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว 1 ตัน โดยใช้เทคโนโลยีการคัดพันธุ์และเมล็ดที่เหมาะสม ด้วยการจัดการห่วงโซ่คุณค่าเกื้อกูลคนจน (Value chain) คือการพัฒนาอาชีพทำนาโดยมีพี่เลี้ยง ช่วยเหลือครัวเรือนยากจน 25 ครัวเรือน
อ.สายฝน กล่าวต่อว่า ในปี 2566 ได้รับทุนวิจัยต่อเนื่อง สังเกตเห็นว่าชาวบ้านดงสารโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีที่ดินทำกินทั้งนาปีและนาปรัง จะเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้หมุนเวียนจากนาปีไปทำนาปรัง และการแลกเปลี่ยนหรือหยิบยืมเมล็ดพันธุ์กันซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน
จึงเกิดแนวคิดต่อยอดเป็นนวัตกรรมคลังเมล็ดพันธุ์นาปีนาปรัง โดยร่วมมือกับท้องถิ่น อบต.โพนงาม และชุมชน จัดกิจกรรมจิตอาสางานคุณค่าดำนากล้าเมล็ดพันธุ์ ได้นำนักศึกษาวิศวกรสังคม และชาวบ้านดงสารมากกว่า 30 คน ลงแขกดำนาที่แปลงสาธิตของพี่เลี้ยง ในวันที่ 14 – 15 กรกฎาคม 2566
ถึงวันจัดกิจกรรม คุณครูสุวรรณ บงศ์บุตร พี่เลี้ยงการทำนา กล่าวต้อนรับ นายก อบต.โพนงาม , รองประธานสภา อบต.โพนงาม , หัวหน้าสำนักปลัด อบต.โพนงาม , ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา คณะนักวิจัย และนักศึกษาวิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร , กลุ่มเป้าหมาย
พร้อมทั้งชี้แจงภารกิจในครั้งนี้ว่า แปลงสาธิตมีทั้งหมด 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ เตรียมต้นกล้าไว้ประมาณ 800 มัด คาดการณ์ว่าจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างน้อย 3,500 กิโลกรัม คลอบคลุมเกษตรกรทำนาปรังประมาณ 1,000 ไร่ หรือมากกว่า 50 คน ซึ่งยังไม่เพียงพอกับเนื้อที่ทุ่งพันขัน 4,625 ไร่
ด้าน นายสุขเกษม เพ็ชรเลิศ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.โพนงาม เปิดเผยว่า แปลงสาธิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแนวคิดงานวิจัยครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นการเกษตร เตรียมพลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาท้องถิ่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ พร้อมแนะนำเกษตรกรทำนาข้าวแบบประณีตจะได้ผลผลิตมากกว่า 1,800 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากเคยทำโครงการเหล่านี้และสำเร็จเป็นรูปธรรมมาแล้วที่จังหวัดบุรีรัมย์ เน้นย้ำให้รักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นถิ่น
หลังจากนั้น นายสนันตน์ ธรรมรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม พร้อมกับ ผศ.ดร.สาคร อินทะชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ลงมือปักกล้าต้นแรกและพาจิตอาสาดำนาแปลงสาธิตจนเสร็จสิ้นภารกิจ บรรยากาศเอื้ออำนวยไม่มีแดดไม่มีฝนเหมาะสมหรับทำกิจกรรมกลางแจ้งในครั้งนี้
ทางด้านวิศวกรสังคมจิตอาสา แจ้งว่า ในทีมมีอยู่ 2 คนที่ไม่เคยทำนาเลย ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่าการทำนาที่บ้านเปลี่ยนเป็นหว่านเกือบทั้งหมดนานแล้วที่ไม่ค่อยได้ดำนา รู้สึกว่าลำบากและเหนื่อยแต่ในขณะลงมือปักดำได้พูดคุยกันฟังเรื่องเล่าของแต่ละคนก็สนุกไปอีกแบบ ได้ความรู้ใหม่ เช่น การทำนาข้าวประณีต เทคนิคการดำนาพื้นที่โนน พื้นที่ลุ่ม พื้นที่นาทาม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้สัมผัสกับบรรยากาศบ้าน ๆ แบบโฮมสเตย์ สิ่งที่น่าทึ่งอีกอย่างชาวบ้านมีอาชีพเลี้ยงควาย บางบ้านมีมากถึง 70 – 100 ตัว ที่สำคัญน้อง ๆ นักศึกษาได้บริการวิชาการให้คำปรึกษาเรื่องกฎหมายกับชาวบ้านอีกด้วย
การจัดกิจกรรมความเชื่อมโยงนวัตกรรมแก้จนสู่ปฏิบัติการโมเดลแก้จนครั้งนี้ยังไม่ใช่บทสรุป แต่เป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีพัฒนาต้นน้ำเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการปักหลัก เพราะมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนกลยุทธ์งานแปรรูปช่วงกลางน้ำ รวมไปถึงงานปลายน้ำได้ปักหมุดไปที่การท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์
ได้ทาบทามคุณไผ สมศักดิ์ บุญคำ CEO และผู้ก่อตั้ง Local Alike ธุรกิจการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เจ้าของสโลแกน “การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนหากไม่มีการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของชุมชน อย่าเรียกว่าการพัฒนา ให้เรียกว่า การกุศล” ซึ่งจะเริ่มขับเคลื่อนเข้ามาเสริมองคาพยพประเมินชุมชนบ้านดงสารในช่วงปลายฤดูฝนนี้
โฆษณา