23 ก.ค. 2023 เวลา 10:23 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Oppenheimer (2023) - ความสำนึกผิดของโพรมีเธียสที่มอบเปลวเพลิงให้แก่มนุษย์

Now I am become Death, the destroyer of worlds
ภควัทคีตา
กำกับและเขียนบทโดย Christopher Nolan
สวัสดีครับ ! ได้ดูเสียทีกับเรื่อง Oppenheimer (2023) หนังที่รอคอยที่สุดประจำปีนี้
หลังจากได้รับชม ก็รู้สึก "ไม่ผิดหวัง" และอยากจะมาเรียนรีวิวแชร์ความรู้สึก เชื่อว่า หนังเรื่องนี้จะเป็นหนังอีกเรื่องที่ทำให้ทุกคนตราตึงใจ 😊
[ ความรู้สึกหลังชม ]
- จุดแรก รู้สึกอยากจะยกย่องใน "ความยอดเยี่ยมของเทคนิคการเล่า"
โนแลนเป็นนักเล่าเรื่องฝีมือฉกาจ เขาเป็นผู้กำกับที่เล่าเรื่องธรรมดาด้วยวิธีการที่ไม่ธรรมดา เช่น การเล่าเรื่องแบบไม่ลำดับเวลา (Nonlinear narrative) บทสนทนาที่อัดแน่นด้วยรายละเอียด ไปจนถึงการประกอบไอเดียและ Element จำนวนมหาศาลให้เป็นชิ้นด้วยความเป็นระเบียบ เชื่อมด้วยกับตรรกะที่แม่นยำ
ส่วนนี้เองทำให้โนแลนเป็นกระบี่มือหนึ่งในการทำหนังสาย Plot Driven (ภาพยนตร์ที่อาศัยพลังของพล็อตเรื่องเป็นหลัก) !
และเมื่อก้าวเข้ามาสู่โทนของภาพยนตร์ชีวประวัติอย่าง Oppenheimer โนแลนก็นำเอกลักษณ์ที่ตัวเองมีมาใช้ในภาพยนตร์ได้โดดเด่น ทั้งสไตล์การรัวไดอะล็อก Quote ที่น่าสนใจ ความเดือดของเรื่อง (ที่เป็นฐานมาจากทริลเลอร์ / แอ็คชัน) ความเป็นไซไฟและความเซอร์เรียล สตอรี่ที่สลับกันระหว่างช่วงเวลา
ส่งผลให้ Oppenheimer เป็นหนังชีวประวัติที่เดือดและเข้มข้นมากจริง ๆ
- จุดถัดมา "พลังแห่ง Cinematic"
เมื่อผู้กำกับเป็นผู้ศรัทธาในพลังแห่งภาพยนตร์ (Cinema) ดังนั้นหายห่วงเรื่อง "Cinematic Experience"
ฉากและมวลรวมอารมณ์ในเรื่องตื่นตาตื่นใจ
ไม่ว่าจะงานภาพ เช่น ความคราฟต์ของฟุตเทจจินตนาการฟิสิกส์, ซีนระเบิดและเปลวเพลิงในเรื่อง, ซีนการทดสอบนิวเคลียร์ (Trinity Test) อันแสดงถึงพลานุภาพของเพลิงยักษ์ที่เผาทำลายในรัศมี, ช็อตโคลสอัพนักแสดง
ไปจนถึงเสียงประกอบเกี่ยวกับระเบิด ทั้งเสียงระเบิดจริง และเสียงที่เกี่ยวข้อง เช่น ซาวน์ที่ให้ฟีลลิ่งเหมือนของกำลังหล่นกระทบพื้น (งาน Foley ละเอียดมาก)
ทั้งหมดถูกอัดแน่นภายใต้ธีมระเบิดปรมาณู ดังนั้นค่อนข้างน่าเสียดาย ถ้าเกิดไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ !
- พล็อตเรื่องโฟกัสที่ชีวิตของ "J. Robert Oppenheimer" นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นหัวเรือโครงการ Manhattan หรือโครงการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ (Atomic bomb) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกของสหรัฐฯ
ชีวิตของออปเพนไฮเมอร์ ถูกสำรวจในหลายมิติ ทั้งในแง่นักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่อง ขณะเดียวกัน ก็มีผิดพลาดและน่าอาภัพ โดยเฉพาะช่วงที่เขาร่วงหล่นโดนทำลายชีวิตจากผลพวงทางการเมือง ทำให้เห็นว่า "ชีวิตของออปปี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ"
บางทีชีวิตที่เรียบง่าย หรือชีวิตที่ "ไม่ยิ่งใหญ่" อาจมีความสุขกว่าชีวิตที่ต้องเผชิญกับกระแสการเมือง ความบีบคั้น และความรู้สึกผิดบาปในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไปชั่วชีวิต
- อีกประเด็นที่ชอบ คือ ชอบที่หนังแสดงให้เห็นถึง "อำนาจของวิทยาศาสตร์" ที่เปลี่ยนแปลงได้ทั้งในระดับปัจเจก ไปจนถึงพลวัตทางการเมือง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การทดลองนิวเคลียร์ในครั้งนี้ ทำให้ชีวิตของออปปี้เปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน ขณะที่ในระดับประเทศ สหรัฐฯ ได้กลายเป็นชาติผู้กำหนดกติกาโลก เมื่อสหรัฐ ฯ ได้ครอบครองอาวุธทรงอานุภาพชิ้นนี้
นี่จึงแสดงให้เห็นว่า "ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงสำคัญ และเป็นเครื่องมือที่กำหนดพลวัตโลกได้อย่างไร"
- ชอบวาทะศิลป์ของ Oppenheimer เช่น การเกริ่นถึง "ตำนานโพรมีเธียส (Prometheus)" และการยกคำกล่าวจาก "ภควัทคีตา" บ่งบอกถึงระดับความรู้ด้านวรรณกรรมและวรรณศิลป์ของออปปี้
นอกจากนี้ ถ้าใครเป็นแฟนคลับนักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์ รับรองว่าฟินแน่นอน เพราะ มีชื่อนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่เราเคยเรียนกันในหนังสือโผล่มาเพียบ
- พาร์ทนักแสดง มีการขนทัพนักแสดงเบอร์ใหญ่มามากมาย แต่ที่เด่นที่สุด ขอยกนิ้วให้  "Cillian Murphy" ที่เพิ่งจะได้รับบทนักแสดงหลักในภาพยนตร์ของโนแลน ดูแล้วน่าจะมีโอกาสเข้าชิงออสการ์ไม่ยาก
- งานดนตรีประกอบโดย  Ludwig Goransson น่าสนใจเป็นพิเศษ ธีมเด่นติดหู ขณะที่บรรยากาศดนตรีโดยรวม ดูเค้นเข้ากับโทนหนัง Oppenheimer เป็นอย่างยิ่ง
- มาถึงข้อเสียบ้าง
-- ส่วนแรก หนังไม่เฟรนลี่กับคนดู อย่างน้อยผู้ชมควรรู้การเมือง และมีความรู้ทางฟิสิกส์มาบ้าง เพื่อให้ต่อติดกับภาพยนตร์ได้
-- ส่วนถัดมา หนังของโนแลนอาศัย "ไดอะล็อกและเหตุการณ์" เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก (Story-based)
แต่ในแง่ภาพยนตร์ชีวประวัติที่ต้องสำรวจชีวิตของตัวละคร หากมีการเพิ่มความเป็น Character-based เช่น การใช้ความดิ่งลึกทางการแสดง การ Improvise การขุดอารมณ์ของตัวละคร จะช่วยให้หนังมีมิติที่นุ่มนวล
-- ส่วนที่สาม หนังเรื่องนี้เหมือนเป็นรถเฟอร์รารี่ที่ซดน้ำมันหนักตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงฉากสุดท้ายของเรื่อง
ส่วนตัวรู้สึกว่า หนังแน่นและเป๊ะในทุกอย่าง ทว่ามันก็ขาดความยืดหยุ่นในเวลาเดียวกัน บางทีถ้ามีการใส่ space หรือลดทอนความแน่นออกไปบ้าง อาจช่วยให้หนังมีความเป็นธรรมชาติขึ้น กระชับ ไม่ยืดเยื้อ
(ยิ่งถ้าให้ฉากนิวเคลียร์ระเบิดเป็นฉากจบจะสวยมาก เพราะ ตรงนี้เป็น Climax ของเรื่อง)
-- ส่วนสุดท้าย ฉาก 18+ (อาจจะ) ไม่ต้องมีก็ได้ 😅
"Gadget" ระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกที่ถูกทดลองในโครงการแมนฮัตตัน
สรุป - ถือเป็นหนังฟอร์มยักษ์คุณภาพคับแก้วของโนแลน และน่าจะได้ชิงออสการ์หลายสาขา ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ ผู้กำกับ นักแสดงนำชาย การตัดต่อ งานภาพ งานเสียง และดนตรีประกอบภาพยนตร์
ชมมาขนาดนี้ ถ้าไม่ดูเสียดายแย่ !
[ เพิ่มเติม ]
ใครสนใจความรู้เกี่ยวกับการเขียนบทแนว Character-based หรือ Plot-based แนะนำสองบทความนี้ อธิบายเข้าใจง่ายมาก
ป.ล. อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพูดคุยติดต่อ
IG: benjireview

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา