30 ก.ค. 2023 เวลา 08:34 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Barbie (2023) - ความหมายของ "บาร์บี้" ที่ไม่ได้มาพร้อมกับความสมบูรณ์แบบ

กำกับโดย Greta Gerwig และเขียนบทร่วมกับ Noah Baumbach
ถึงแม้ว่าเดือนนี้จะมีหนังที่อยากดูมากที่สุดอย่าง Oppenheimer (2023) อย่างไรก็ตาม เมื่อเห็นชื่อ Greta Gerwig ที่มีผลงานยอดเยี่ยมอย่าง Lady Bird (2017) และ Little Women (2019) แปะอยู่บนโปสเตอร์ Barbie ก็อดไม่ได้จนต้องไปชม
หลังจากดูจบ อาจจะไม่ได้ถึงกับชอบทั้งหมด แต่ประทับใจในไอเดียวิธีการสร้างหนัง ซึ่งดูเป็นโมเดลที่มีอนาคตทีเดียว
[ เรื่องย่อ ]
"Barbie" (Margot Robbie) อาศัยอยู่ใน Barbie Land ดินแดนที่เต็มไปด้วยสีสันอันสดใสและวันคืนที่สมบูรณ์แบบ จนกระทั่งเธอได้สัมผัสถึงความรู้สึกแปลกบางอย่าง ทำให้เธอตัดสินใจออกเดินทางผจญภัย เพื่อตามหาสาเหตุของความรู้สึกนั้น
[ ความรู้สึกหลังชม ]
- อันดับแรก ต้องขอชม "ฝีมือของผู้กำกับและมือเขียนบท"
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้เห็นหนังเกี่ยวกับของเล่นที่มีมาตรฐานสูงขนาดนี้ โดยเฉพาะการผสานสีสันและอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ "Barbie" เข้ากับโลกของภาพยนตร์ ด้วยบทภาพยนตร์ที่ฉลาด อบอวลด้วยหลายอารมณ์ มีอารมณ์ขันจิกกัดไม่เหมือนใคร
- ประเด็นหลักในเรื่อง พูดถึงการผจญภัยและการเรียนรู้โลกความเป็นจริงของบาร์บี้ เพื่อตามหา "ตัวตน" (Identity)
เมื่อบาร์บี้ตระหนักถึงความตาย และพบว่าชีวิตของตัวเองไม่สามารถสมบูรณ์แบบได้ (ในฐานะบาร์บี้พิมพ์นิยม) เธอจะเข้าใจและยอมรับตัวเองได้อย่างไรในฐานะที่เธอไม่อาจคงความอุดมคติได้นิจนิรันดร์
- อีกประเด็นที่สำคัญ คือ "การพูดถึงโลกที่ล้ำยิ่งกว่า" อย่างโลก Barbie Land ที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ 100% (มาตาธิปไตย - Matriarchy) ซึ่งอาจไม่มีที่ทางให้ผู้ชายมากนัก เมื่อผู้ชายถูกบริษัทออกแบบมาให้เป็นตัวประกอบ ไม่เหมือนบาร์บี้ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก
ท้ายที่สุด เราจะหาทางอยู่ร่วมกันอย่างไรให้ทุกฝ่าย win-win เพราะ "มาตาธิปไตย" หรือ "ปิตาธิปไตย" (Patriarchy)  อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เท่า "ประชาธิปไตย" (Democracy) ที่อยู่บนความพอดีและทำให้ทุกคนพึงพอใจ
- ชอบความเสียดสีที่จิกตั้งแต่บาร์บี้ เคน ยันบริษัท Mattel เจ้าของผลิตภัณฑ์ รวมถึงนักแสดงหลายคนที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นในลุคนี้ เช่น Ryan Gosling กับ Simu Liu
(อย่างฉากเพลง "Dance the Night" กับ "I'm just Ken" นี่ขำลั่นจริง)
- "โมเดลธุรกิจจากภาพยนตร์" ก็ถือว่าน่าสนใจ
นอกจาก Barbie จะสร้างรายได้ถล่มทลาย พร้อมคำวิจารณ์ที่ดี รายได้ทั้งจากของเล่นน่าจะสูงขึ้นอีกมากจากกระแสของภาพยนตร์ รวมไปถึงกำไรจากแบรนด์ต่าง ๆ ที่ได้มา Collab กับ Barbie (รวมไปถึงรถ Chevrolet ที่โผล่เข้ามาบ่อย ๆ)
ในส่วนภาพลักษณ์แบรนด์ หนังก็ช่วยปรับดีขึ้น จากที่บาร์บี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ Empower ผู้หญิงให้สามารถเป็นได้ทุกอย่างตามฝัน ไปสู่เทรนด์ใหม่ที่ไม่ได้มองความเป็นผู้หญิงแบบนั้นแล้ว
แต่ให้คุณค่ากับ "ตัวตน" เราก็คือเรา การยอมรับในตัวตนของกันและกัน การก้าวออกจากกำแพงความคาดหวัง การยอมรับในความหลากหลายที่ไม่มีการแบ่งเพศ ไปจนถึงการเป็นคนที่รับกับความผิดพลาดได้ เมื่อโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบแท้จริง (No one perfect)
ว่าไปแล้ว ก็นึกถึงหนังในปีเดียวกัน อย่างเรื่อง Air ที่เสนอความเป็น Nike ภายใต้สโลแกน "Just do it!" ผ่านภาพยนตร์ ซึ่งก็สร้าง image เชิงบวกให้กับแบรนด์
- Production และ Costume ในเรื่องสะดุดตาเด่นมาก ส่วนเพลงประกอบ ก็เพราะทั้งอัลบั้ม จนน่าจะสร้างรายได้จากช่องทาง Music Streaming และขายอัลบั้มได้อีกเยอะเช่นกัน
- ฉากเปิดเรื่อง มีการล้อเลียนโดยเอา Insipiration มาจากฉากเปิดเรื่องของ "2001: A Space Odyssey (1968)" หนังไซไฟคลาสสิคของ Stanley Kubrick
- มาว่ากันที่ข้อเสียบ้าง
-- อย่างแรก ส่วนตัวรู้สึกว่า หนังพยายามบิ้วและชี้ "พลังความเป็นผู้หญิง" มากไปนิดนึง แต่ยังดีที่ในช่วงหลัง หนังกลับมาบาลานซ์น้ำหนักของประเด็นให้ออกมาโทนกลาง พร้อมกับบทสรุปที่สวยงามได้
-- อย่างถัดมา รู้สึกว่า หนังจงใจเสียดสี / ขายของเยอะไปหน่อย ทำให้หลายอย่างใส่เข้ามาดูจงใจกระแทกกระทั้นเกินไป
-- อย่างสุดท้าย ไม่เหมาะกับคนที่ชอบหนังแฟนซีหรือสีชมพูดเยอะ ๆ
สรุป - ถือเป็นหนังดีที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี และชนกันค่อนข้างดุเดือดกับ Oppenheimer ทำให้โรงหนังคึกครื้นเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ Barbie ว่าจะไปถึงไปได้ไกลขนาดไหน (ดู Oppenheimer มีแต้มต่อมากกว่าในเวทีออสการ์)
ดังนั้นไม่อยากให้พลาดกัน ใครสนใจดูได้ในโรง !
ป.ล. อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพูดคุยติดต่อ
IG: benjireview

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา