7 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จีนจะตามรอย “ทศวรรษแห่งความสูญเสีย” ของญี่ปุ่นหรือไม่?

ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจของจีนที่ดูจะอ่อนแอลง
ไม่ว่าจะเป็นราคาสินทรัพย์หรืออัตราการปล่อยเงินกู้ที่ลดลง ก็ได้สร้างความกังวลให้คนมากมายว่าจีนกำลังจะตามรอยญี่ปุ่นในช่วงยุค 90
โดยในปี 1991 – 2001 ญี่ปุ่นเจอกับช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาเป็นเวลานานมาก จนระยะเวลานั้นถูกเรียกว่า “ทศวรรษแห่งความสูญเสีย” หรือ “Lost Decades”
ซึ่งต้นเหตุก็มาจากการที่ฟองสบู่ในตลาดสินทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่นได้แตกลง เหตุการณ์นี้มีความคล้ายกับสถานการณ์ในปัจจุบันของจีนตรงที่ภาคอสังหาฯ ของจีนก็เกิดฟองสบู่จากการที่ธนาคารปล่อยเงินกู้เยอะเช่นเดียวกับในญี่ปุ่น
นอกจากนี้ จีนก็เจอกับปัญหาเหมือนญี่ปุ่น ที่ผู้ประกอบการไม่ยอมจ้างงานเพิ่มเพราะไม่ค่อยมีคนซื้อของ และคนก็ไม่ค่อยกล้าจับจ่ายใช้สอยของเพราะหางานยาก
แต่แม้สถานการณ์ในจีนและญี่ปุ่นจะมีความคล้ายกัน แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งบางประการว่าทำไมจีนจะไม่ตามรอยญี่ปุ่น
อย่างแรกก็เป็นเพราะ ราคาอสังหาฯ ของจีนไม่ได้เฟ้อขึ้นสูงและตกลงมาแรงเท่าญี่ปุ่นในช่วงนั้น
นี่เป็นเพราะรัฐบาลจีนได้ตั้งเพดานราคาอสังหาฯ ไว้บางส่วนเพื่อป้องกันการเกิดฟองสบู่ ซึ่งนโยบายนี้ก็ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยไม่สามารถขึ้นสูงเกินไปจนตกลงมาแรงได้
นอกจากนี้ ผลกระทบจากปัญหาในภาคอสังหาฯ ของจีนก็ค่อนข้างจะถูกจำกัดอยู่ในหมู่บริษัทพัฒนาอสังหาฯ
ตามรายงานของ Capital Economics การกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นในภาคเอกชนส่วนใหญ่ก็มาจากผู้ประกอบการในภาคอสังหาฯ
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลจีนออกกฎหมายจำกัดหนี้ของผู้ประกอบการ
คนที่ได้รับผลเสียส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกนักพัฒนาอสังหาฯ เช่นกัน แถมบริษัทจีนในตอนนี้ก็ไม่ได้มีการถือหุ้นไขว้เยอะเหมือนบริษัทญี่ปุ่นในยุค 90 ด้วย
นี่ก็ทำให้ปัญหาที่เกิดกับบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ไม่ถูกส่งต่อเป็นวงกว้างไปยังธุรกิจอื่นๆ
นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนก็ยังมีแนวโน้มจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นด้วย Larry Hu นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของบริษัท Macquarie มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอลง
ในตอนนี้นั้นมีสาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลถอนนโยบายช่วยเหลือเร็วเกินไปหลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกออกมาค่อนข้างดี เพราะงั้นในการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนครั้งนี้
รัฐบาลจีนก็น่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและคงไว้อีกซักพักแม้อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานจะลดลงแล้วก็ตาม ซึ่งนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงหน้า
ปัจจัยที่กล่าวมาเหล่านี้ ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะไม่ร้ายแรงเท่าการชะลอตัวของเศษฐกิจญี่ปุ่นในยุค 90
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงจากระดับหนี้ผู้ประกอบการที่ค่อนข้างสูงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจลดความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา