22 ส.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จังหวะนรก เมื่อยุโรปเจอพิษทั้งดอกเบี้ยสูงและตลาดแรงงานตึงตัว

ตัวเลขเศรษฐกิจของพื้นที่ยูโรโซน (Eurozone) ออกมาดีกว่าที่คาดในไตรมาสที่ 2 อย่าง GDP ก็โตที่ 0.3% ซึ่งสูงกว่าที่แบบสำรวจของ Reuters คาดไว้ที่ 0.2% นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อก็ลดลงจาก 5.5%
ในเดือนมิถุนายน มาเป็น 5.0% ในเดือนกรกฎาคมด้วย ซึ่งตัวเลขที่ดีขึ้นเหล่านี้ทำให้นักวิเคราะห์บางคนเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยุโรปจะไม่เจอกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาในปีนี้เหมือนอย่างที่เคยคาดกันไว้ในตอนแรก แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีข้อโต้แย้งบางประการว่าทำไมเศรษฐกิจยุโรปจะหนีภาวะซบเซาไม่พ้น
อย่างแรกก็คือผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยและความต้องการซื้อทั่วโลกที่อ่อนแอยังมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งในตอนนี้ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวจะดูดีขึ้น ผู้คนก็ยังไม่ค่อยกล้าจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนกันอยู่ดี เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลงมาติดต่อกันเป็นเดือนที่สามแล้วนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 (แผนภูมิ 1)
นอกจากนี้ ตามรายงานของธนาคาร ING ตัวเลข GDP ของยุโรปในไตรมาส 2 ที่ดีกว่าคาดนั้น ไม่ได้มาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยุโรป แต่มาจากการเดินบัญชีระหว่างประเทศของไอร์แลนด์ (ที่ค่อนข้างมีความผันผวน) เป็นหลัก
ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลงกว่านี้อีก เมื่อผลดีจากการเปิดประเทศหลังโควิดเริ่มซา ในขณะที่ดอกเบี้ยยังคงสูงและความต้องการซื้อทั่วโลกยังคงซบเซา
อย่างที่สองคือเงินเฟ้อยังคงเป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับยุโรป แม้ตัวเลขเงินเฟ้อจะลดลงบ้าง แต่มันก็ยังสูงกว่าเป้าของธนาคารกลางยุโรปที่ 2% อยู่ดี
แถมเงินเฟ้อโดยรวมก็น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงไปอีกสักพักด้วย เนื่องจากองค์ประกอบของเงินเฟ้อยังคงไม่ลดลงมาง่ายๆ อย่างราคาอาหาร แอลกอฮอล์ และยาสูบ และราคาสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมพลังงาน ก็ลดลงมาบ้าง แต่ค่อนข้างช้า (จาก 11.6% ในเดือนมิถุนายน มาเป็น 10.8% ในเดือนกรกฎาคม
และจาก 5.5% ในเดือนมิถุนายน มาเป็น 5.0% ในเดือนกรกฎาคม ตามลำดับ) ในขณะเดียวการอัตราค่าบริการยังคงเพิ่มขึ้นจาก 5.4% ในเดือนมิถุนายน มาเป็น 5.6% ในเดือนกรกฎาคม และเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) ก็ยังอยู่ในระดับเดิมที่ 5.5% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานยุโรปก็ดูท่าทางจะไม่คลายตัวง่ายๆ ดูจากอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการที่ 6.4% ในเดือนกรกฎาคม (แผนภูมิ 2)
และแม้อัตราการเปิดรับสมัครงานจะเริ่มลดลงบ้าง แต่ตัวเลขก็ยังคงอยู่ในระดับที่สูง (แผนภูมิ 3) ซึ่งการว่างงานที่ต่ำกับความต้องการจ้างงานที่สูงนี้ จะเป็นแรงกดดันที่ทำให้อัตราค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมบริการ ที่ค่าแรงเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการ ซึ่งค่าแรงที่สูงก็จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานลดลงมาได้ยาก
โดยสรุปแล้ว สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดก็เป็นปัจจัยที่อาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ดังนั้น ก็ยังเป็นไปได้ว่ายุโรปจะยังต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา แม้ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวจะดูดีขึ้นก็ตาม
Sources:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา