11 ส.ค. 2023 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

นโยบาย "แจกเงิน" จากทางภาครัฐ สามารถทำให้เกิด "เงินเฟ้อ" ได้จริงหรือไม่?

นโยบายการกระจายเงินโดยตรงสู่สาธารณะ หรือหลายคนเรียกง่ายๆว่า "นโยบายแจกเงิน" เป็นนโยบายรูปแบบหนึ่งที่รัฐบาลทั่วโลก นิยมใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจดำเนินการโดยกระทรวงทางการคลัง และธนาคารกลางแห่งชาติ
ประเด็นที่เราจะมาชวนวิเคราะห์กันครั้งนี้ คือ นโยบาย "แจกเงิน" จากทางภาครัฐ สามารถทำให้เกิด "เงินเฟ้อ" ได้จริงหรือไม่?
ก่อนอื่นเลยเราต้องมาทำความเข้าใจคำว่า เงินเฟ้อ กันก่อนว่ามันเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอะไรบ้าง หลักๆมีดังนี้
1. การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน ต้นทุนค่าจ้าง จะทำให้ผู้ผลิตต้อง "ปรับราคา" สินค้าและบริการเพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
2. การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการ
เมื่อความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณไม่เพียงพอ สิ่งนี้สามารถ "ผลักดัน" ราคาสินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้นได้ ท้ายที่สุดจะนำไปสู่เงินเฟ้อ เพราะมูลค่าของเงินด้อยค่าลง เมื่อเทียบกับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
3. การเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ
เมื่อปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น สิ่งนี้อาจสามารถก่อเกิดเงินเฟ้อได้ จากกฏพื้นฐานเรื่องอุปสงค์อุปทาน และมันยังเป็นตัวผลักดันสองสาเหตุที่กล่าวก่อนหน้านี้ด้วย
นอกจากนี้ภาวะเงินเฟ้ออาจเกิดจากปัจจัยภายนอกได้ เช่น สงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ฯลฯ หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็สามารถผลักดัน สาเหตุสามข้อที่กล่าวข้างต้นและทำให้เกิดเงินเฟ้อได้เช่นกัน
หลังการรู้จักสาเหตุของเงินเฟ้อแล้ว เราจะกลับมาวิเคราะห์กันว่า นโยบายแจกเงินสามารถทำให้เกิดเงินเฟ้อได้หรือไม่
คำตอบของคำถามนี้ ก็คือ "ทั้งได้และไม่ได้" ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ
ลองสมมุติว่า รัฐบาลประเทศ A กำลังจะทำนโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • ตัวอย่าง ก.
หากประเทศ A อยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีการหมุนเวียนเงินที่ต่ำ(เงินฝืด) และไม่มีปัจจัยภายนอกอย่างสงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ ที่จะไปกระทบเรื่อง ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน
การทำนโยบายแจกเงินจะ "ไม่ได้ทำให้เกิดเงินเฟ้อ"
  • ตัวอย่าง ข.
ในทางกลับกัน หากประเทศ A มีภาวะเศรษฐกิจที่ดี และไม่ได้มีการหมุนเวียนเงินที่ต่ำ จะมีปัจจัยภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น
การทำนโยบายแจกเงินอาจจะ "ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้" เพราะการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นั้นจะไปกระตุ้นการใช้จ่ายให้ "มากขึ้น"
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่าย จะสามารถกระตุ้นต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยได้ ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเงินเฟ้อ
นอกจากปัจจัยภายนอกอย่างสงคราม โรคระบาด และภัยธรรมชาติแล้ว ยังมีปัจจัยทางการเงินอย่าง "อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" ที่สามารถเป็น "ตัวกำหนดแนวโน้ม" ของเงินเฟ้อได้เช่นกัน
หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปจะทำให้เงิน "แข็งค่าขึ้น" กดดันไม่ให้เกิดเงินเฟ้อ แม้มีการทำนโยบายแจกเงิน
แต่หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง โดยทั่วไปจะทำให้เงิน "อ่อนค่าลง" เงินเฟ้ออาจจะดีดตัวสูงขึ้นได้ ถ้ามีการทำนโยบายแจกเงิน
อย่างไรก็ตาม การทำนโยบายแจกเงินของรัฐบาล อาจจะสามารถทั้งทำให้เกิดเงินเฟ้อได้และไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มาเกี่ยวข้องด้วย
แต่สิ่งที่ "อาจจะ" ตามมาได้นั้นก็คือ "หนี้ของกระทรวงการคลัง" ที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายของรัฐบาล
สิ่งนี้จะไม่เป็นปัญหา "หากรัฐบาลใช้จ่ายตามงบประมาณของปีนั้นๆ" และนโยบายแจกเงินสามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
แต่หากไม่เป็นตามที่กล่าวไว้คือ รัฐบาลใช้จ่ายมากกว่างบประมาณที่กำหนดและการแจกเงินไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้จริง
การใช้จ่ายที่ "มากกว่า" การหารายได้เข้าคลัง หรือที่เรียกกันว่า "การขาดดุลการคลัง" ของรัฐบาล
หากมีการขาดดุลมากเกินไป จะทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับการจัดการระบบเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคต
เพราะนั่นแสดงว่ารัฐบาล "ไม่มีความสามารถ" ในการหารายได้ ไม่ว่าจะมาจาก การเก็บภาษี รายได้จากทรัพย์สิน รายได้จากการลงทุน
และเมื่อหาเงินได้ไม่พอ สิ่งที่ตามมานั่นก็คือ "การกู้เงินที่มากขึ้น" และ "การเก็บภาษีที่มากขึ้น" ของรัฐบาล
ท้ายที่สุดผลกระทบก็จะไปตกอยู่ที่ "ประเทศ" เพราะต้องมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และ "ประชาชน" ที่ต้องจ่ายภาษีเยอะขึ้น
โดยสรุปแล้ว หากประเทศมีเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีการหมุนเวียนเงินที่ต่ำ และไม่มีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้อง อย่างเช่น สงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำ และปัจจัยอื่นๆ การทำนโยบายแจกเงินจะ "ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ"
แต่ถ้าประเทศมีเศรษฐกิจที่ดี มีการหมุนเวียนเงินที่ปกติหรือสูง การทำนโยบายแจกเงินอาจจะ "ทำให้เกิดเงินเฟ้อ" โดยที่ไม่ต้องมีปัจจัยภายนอกมาเกี่ยวข้อง แต่ถ้ามีก็จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีก
กรณีของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.86% แต่ดอกเบี้ยนโยบายกลับอยู่ที่ 2.25% ประกอบกับเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวอะไรมากนัก
ประเทศไทยน่าจะยังสามารถทำนโยบายแจกเงินได้
แต่ในอนาคตยังคงต้องระมัดระวัง เพราะประเทศไทยนำเข้าพลังงานแต่ปัญหาด้านพลังงานทั่วโลกยังไม่ได้คลี่คลาย เงินเฟ้อที่มาจากพลังงานอาจเพิ่มขึ้นได้
และผลักดันต้นทุนสินค้าและบริการทำให้ราคาสูงขึ้น
และถึงแม้หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60.96% แต่หนี้ครัวเรือนสูงถึง 87.7% ต่อ GDP
ในระยะสั้น การทำนโยบายแจกเงิน อาจจำเป็นต้องทำเพื่อลดความทุกข์ยากของประชาชน
แต่ในระยะยาว หากในอนาคตรัฐบาลไทยมีการใช้จ่ายที่มากขึ้น แต่หารายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP Growth) ไม่เติบโตขึ้นตามการใช้จ่าย จนเกิดการขาดดุลการคลังที่มากเกินไป
ด้วยหนี้ครัวเรือนที่สูง คงเป็นเรื่องยากที่จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากประชาชนได้ และสุดท้ายรัฐบาลคงใช้วิธี "กู้เงิน" เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ต่อไป
บทความนี้แค่ยกตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น จริงๆแล้วยังมีอีกหลายแง่มุมกว่าที่กล่าวไว้ และปัจจัยที่มีผลกระทบกับเงินเฟ้อ นั้นมีมากมายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
เพื่อนๆที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา