16 ส.ค. 2023 เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

โลกกำลังจะ "ขาดแคลน" โลหะสำคัญ อย่าง "ทองแดง" มากที่สุดในรอบหลายปี

แม้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่อาจหยุดความต้องการในตัวแร่อุตสาหกรรมอย่าง "ทองแดง" ได้
ทองแดงซึ่งเป็นโลหะสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตแทบทุกประเภท ตอนนี้กำลังเผชิญกับการขาดแคลนมากที่สุดในรอบหลายปี
เหตุการณ์นี้ทำให้ทองแดงเป็นที่สนใจอย่างมาก รวมถึงในโลกการลงทุนด้วย
แต่ทำไมทองแดงถึงกลายเป็น "จุดสนใจ" ของนักลงทุนสาย Commodity ในช่วงนี้ได้กัน
โดยทั่วไปแล้วปกติทองแดงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้ "ทำนายหรือหาแนวโน้ม" ทางเศรษฐกิจ
เพราะว่าทองแดงถือเป็นวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ ด้วยค่าการนำไฟฟ้าที่สูง ทนทานต่อการกัดกร่อน และความอ่อนตัว
เลยทำให้มันนิยมถูกใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสายไฟ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร โครงสร้างงานสถาปัตยกรรม และยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมาย
ราคาของทองแดง แสดงถึงความต้องการในอุตสาหกรรม เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกขยายตัวหรือหดลง ราคาของทองแดงก็จะขึ้นลงตามไปด้วยเช่นกัน
มันจึงมักถูกมองเป็นสิ่งที่ใช้ทำนาย "วัฏจักรของระบบเศรษฐกิจ"
แต่สิ่งที่ทำให้มันน่าสนใจกว่าที่ผ่านมานั้น มาจากการที่นักวิเคราะห์พบว่า ขณะนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาการ "ขาดแคลนทองแดง" ทั่วโลก
โดยได้รับแรงหนุนจากกระแสความต้องการที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมชิป เครื่องใช้ไฟฟ้า AI ยานยนต์ การเปลี่ยนผ่านของพลังงาน และอื่นๆ
รวมไปถึงการเปิดประเทศอีกครั้งของจีน และความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต
โดย Robin Griffin รองประธานฝ่ายโลหะและเหมืองแร่ของ Wood Mackenzie บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาระดับโลก เกี่ยวกับภาคส่วนพลังงาน เคมีภัณฑ์ โลหะและเหมืองแร่ จากประเทศสกอตแลนด์
เขากล่าวว่า "เราได้คาดการณ์การขาดดุลที่สำคัญในทองแดงไปจนถึงปี 2030"
โดยเขาให้เหตุผลว่า "สาเหตุ" เริ่มต้นมาจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่อันดับสองของโลกอย่างเปรู
เป็นผลทำให้ Glencore หนึ่งในบริษัทด้านทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ระงับการดำเนินงานในเหมืองทองแดง Antapaccay
ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเปรู หลังจากมีผู้ประท้วงปล้นสะดมและจุดไฟเผาสถานที่
และความต้องการที่มากขึ้น จากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน "รถยนต์ไฟฟ้า" เพราะมันใช้ทองแดงมากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันถึง "สองเท่า"
นอกจากนี้ ชิลีซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ที่สุดของโลกคิดเป็น 27% ของอุปทานทั่วโลก
พวกเขาผลิตทองแดงได้ลดลง 7% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เนื่องจากแหล่งแร่ทองแดงเดิมนั้นกำลังลดลง และข้อจำกัดด้านน้ำที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าในระยะสั้นข้อมูลของ International Copper Study Group (ICSG) จะรายงานว่าการเติบโตของการผลิตทองแดงทั่วโลกในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 25.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบรายปี
แต่การเติบโตของการบริโภคทองแดงทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 25.51 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบรายปี
และข้อมูลจาก McKinsey พวกเขาได้คาดการณ์ความต้องการของทองแดง จากการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นทั่วโลก
โดยคาดว่าการมาของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า สิ่งนี้จะเพิ่มความต้องการทองแดงต่อปีเป็น 36.6 ล้านตันภายในปี 2031 จากปัจจุบันที่อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านตัน
เป็นที่น่าจับตาว่า เมื่อโลกของเรากำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้ยุคคาร์บอนเป็นศูนย์ ความต้องการทองแดงจากอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องการเปลี่ยนถ่ายพลังงานจะทำให้ราคาทองแดงเพิ่มขึ้นหรือไม่
และช่องว่างที่จะเกิดขึ้นนี้จะ "ผลักดัน" ราคาของทองแดงไปอยู่ที่จุดไหน
ในส่วนของระยะยาว S&P Global Market Intelligence ได้คาดการณ์ว่าความต้องการทองแดงทั่วโลกต่อปีจะเพิ่มขึ้นเกือบ "สองเท่า" เป็น 50 ล้านตันภายในปี 2035
โดยการผลิตของเหมืองทองแดงทั่วโลกอยู่แค่ประมาณ 22 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างแตกต่างกันมากเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับความต้องการทองแดงที่พวกเขาคาดการณ์ไว้
ในขณะที่ BloombergNEF ได้ประมาณการความต้องการทองแดงว่าจะเพิ่มขึ้น 53% ภายในปี 2040 แต่การผลิตของเหมืองจะเพิ่มขึ้นเพียง 16%
แม้ว่าข้อมูลจากหลายแห่งจะมีการคาดการณ์ความต้องการและการเติบโตการผลิตของทองแดงไม่เหมือนกัน
แต่ทุกที่มี "ความเห็นพ้องต้องกัน" ว่าโลกเรากำลังเผชิญกับ "ความท้าทาย" ด้านการขาดแคลนทองแดงในอนาคต
โดยมีหลายปัจจัยซึ่ง "ส่วนใหญ่" มาจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนถ่ายพลังงาน
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตทองแดงอย่างเปรู อาจจะเป็นแค่เรื่องชั่วคราวก็ได้
หากทุกอย่างสงบลงก็เป็นไปได้ที่ทางรัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทองแดง เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีบทบาทสำคัญและจำเป็นสำหรับประเทศเปรู
อ้างอิงข้อมูลดัชนีราคาทองแดงโลกจาก London Metal Exchange (LME)
พบว่าราคาทองแดงมีการ "ปรับตัวสูงขึ้น" จากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงขึ้นหลังจากการเปิดประเทศทั่วโลก
และจึงค่อยๆปรับย่อลงมาเรื่อยๆ สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงต่อภาวะถอถอยและแรงกดดันทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก
เพื่อนๆหรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียด และประเมินความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา