Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฮวงจุ้ยเพื่อชีวิต
•
ติดตาม
11 ส.ค. 2023 เวลา 21:05 • บ้าน & สวน
สำรวจปราณสภาพ
จากบทความที่ผู้เขียนได้บรรยายถึง เรื่องราวของสนามวิถีปราณ รวมไปถึงบทบาทและกลไก ในการส่งผลทั้งในกรณีที่เป็น สภาพแวดล้อมภายนอกพื้นที่ และอิทธิพลที่กระทบถึงชะตาดิน ภายในพื้นที่ตั้งตัวอาคารบ้านเรือน แต่เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถนำไปใช้ ในเชิงปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะขอบรรยายถึงวิธี หรือขั้นตอนการสำรวจ ตรวจสอบวิถีปราณ ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาท หรืออิทธิพลของกระแสปราณ ที่จะส่งผลกระทบต่อตัวอาคารเป้าหมาย ที่ท่านผู้อ่านประสงค์จะทำการปรับชะตาโดยตรง
บทนำ
(Introduction)
ก่อนจะทำการออกแบบผังปราณของอาคารใดก็ตาม ก็จำเป็นต้องทำการสำรวจสภาพปราณดังที่จะบรรยายต่อไปนี้ ซึ่งตามหลักวิชาในศาสตร์ฮวงจุ้ย จะให้ความสำคัญกับเรื่องของสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกกันในศัพท์ทางวิชาว่า ชัยภูมิ ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนความสำคัญเอาไว้ว่า ชัยภูมิมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อสภาพปราณโดยภาพรวมของตัวอาคารมากถึง 80% ในขณะที่ผังปราณสภาพอื่นของตัวอาคาร จะมีสัดส่วนของอิทธิพลเพียง 20% เท่านั้น
Prana pattern expolation
เมื่อพิจารณาตามสัดส่วนพลังปราณจากที่กล่าวมา ทำให้ความสำคัญของการสำรวจสภาพปราณ มีความจำเป็นมากขึ้นอย่างมิอาจเลี่ยง และจะต้องกระทำอย่างละเอียดรอบครอบ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมภายนอกอาคาร เพื่อตรวจสอบภูมิสภาพ ทั้งที่เป็นคุณ คือ เป็นมงคล หรือที่เป็นโทษ คือ เป็นอัปมงคล ซึ่งจะส่งผลอิทธิพลคุกคามต่อตัวอาคาร ผลของการสำรวจสภาพแวดล้อมดังกล่าว จึงย่อมส่งผลต่อการออกแบบจัดวางผังปราณอย่างไม่มิอาจเลี่ยง ดังนั้น หากการสำรวจมีความละเอียดไม่เพียงพอ จึงย่อมจะส่งผลเสียต่อผังปราณโดยปริยาย
อุปกรณ์และอุปสรรค
(Equipment and Obstacles)
เริ่มต้นก็คงต้องพูดถึง อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ที่ท่านผู้ทำการปรับชะตาจะต้องมีในการสำรวจตรวจสอบ เพื่อเก็บข้อมูลวิถีหรือกระแสของปราณ ที่ไหลเวียนเคลื่อนย้ายอยู่ ภายในบริเวณโดยรอบที่ตั้ง ของพื้นที่อาคารเป้าหมาย อุปกรณ์ชิ้นแรกที่จะต้อง เตรียมไว้ให้พร้อมก็คือเข็มทิศ ซึ่งควรจะมีขนาดใหญ่พอ ที่จะอ่านตัวเลของศาได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่เข็มทิศติดรถขนาดกระทัดรัด หรือที่ใช้ห้อยไว้กับพวงกุญแจ เพราะนอกจากจะมีขนาดเล็กเกินไปแล้ว ขอบเขตการแบ่งช่วงองศา ก็ค่อนข้างหยาบเกินกว่าจะอ่านค่าที่ถูกต้องออกมาได้
แต่ในขณะเดียวกัน เข็มทิศเหล่านี้ส่วนใหญ่ ก็มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน เพราะมักจะติดตั้งไว้ภายในของเหลว ซึ่งมีฟองอากาศอยู่เพื่อใช้ ในการตั้งระดับให้ได้ระนาบ เพื่อให้ตัวเข็มได้ระดับขนาน กับพื้นโลกอย่างแท้จริง อีกทั้งการที่เข็มทิศอยู่ภายใต้ของเหลวนั้น ก็ทำให้เกิดแรงหน่วงจากผลกระทบ ที่เกิดจากสนามแม่เหล็กที่อยู่ใน บริเวณที่จะวัดองศาได้ด้วย สรุปเป็นว่าถ้าสามารถหาเข็มทิศที่ใหญ่พอ และอยู่ในของเหลวดังกล่าวได้ก็ถือว่าดีสุด
ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากในปัจจุบัน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ จะประกอบไปด้วยเหล็กเส้นหรือโครงโลหะ ที่อาจถูกก่อฉาบปิดไว้ด้วยปูนหรือคอนกรีต จึงทำให้สนามแม่เหล็กภายในโลหะเหล่านี้ สามารถส่งผลกระทบต่อการชี้องศาของตัวเข็มทิศได้ จนอาจทำให้ค่าที่อ่าน ได้เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง
Equipment and Obstacles
นอกจากนั้นตัวของยวดยานพาหนะ ที่ใช้กันอยู่ก็ล้วนสร้างขึ้น ด้วยโลหะเป็นองค์ประกอบหลัก ดังนั้นในการวัดองศาอาคารด้วยเข็มทิศนั้น จึงควรพยายามหลีกเลี่ยง ให้ห่างจากตัวยวดยาน หรือรถยนต์เหล่านั้น ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างน้อยก็ควรจะมากกว่าสองเมตรเป็นต้นไป เพื่อลดทอนอิทธิพลรบกวน จากโลหะของยวดยานเหล่านั้น
หม้อแปลงไฟ หรือเสาส่งสัญญาณคลื่นวิทยุ รวมไปถึงเสาไฟฟ้าแรงสูงทั้งหลาย ก็ล้วนมีผลกระทบต่อความถูกต้องของเข็มทิศได้ทั้งสิ้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้วัดองศาอาคารด้วยเข็มทิศ จะต้องให้ความสนใจระมัดระวังเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ค่าที่อ่านได้ถูกต้องตรงตาม ความเป็นจริงมากที่สุด ในกรณีนี้บางครั้งการทำงานของเข็มทิศ ก็อาจถูกก่อกวนด้วยสนามปราณที่เป็นหยินเกิน (over yin) หรืออาณาบริเวณที่มีพลังหยิน มารวมตัวเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่อาจเป็นอาคารไม้ที่มี โครงสร้างทำด้วยโลหะน้อย
หรืออาจเกิดจากสายแร่ ที่อยู่ภายใต้พื้นที่ส่ง สนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นมารบกวน ในกรณีนี้จะสังเกตได้จาก การไม่หยุดนิ่งของเข็มทิศ โดยจะแกว่งไปมาอยู่ตลอดเวลา ไปจนกระทั่งหมุนเป็นวงกลมไม่หยุด ในกรณีเช่นนี้หากต้องประสพพบเจอแล้ว ถ้าไม่เคยได้ฝึกฝนเรื่องเกี่ยวกับ ญาณสัมผัสที่แก่กล้าเพียงพอ ขอแนะนำให้ถอยออกมา ยกเลิกการวัดองศาโดยทันที ส่วนสาเหตุนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องของพลังเหนือธรรมชาติ ที่ยากสัมผัสได้จากประสาทสัมผัสปกติ
การวัดองศาด้วยเข็มทิศ
(Measuring degrees with a compass)
สำหรับกรรมวิธีปกติที่ใช้ ในการแก้ปัญหากรณีดังกล่าว คือการวัดองศาด้วยเข็มทิศ จากตัวอาคารปกติที่มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะมองเห็นหรือไม่ก็ตาม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะมี ดังนั้นการวัดจึงควรทำการวัดสามครั้ง โดยเริ่มที่หน้าประตู ทางเข้าหลักของตัวอาคาร แล้วถอยหลังห่างออกมา จากจุดเดิมประมาณหนึ่งเมตร ทำการวัดเช่นนี้สามจุด (ดังแสดงในรูปที่ 1) แล้วนำองศาที่ได้ทั้งหมดมาทำการหาค่าเฉลี่ย โดยการรวมองศาทั้งสามนั้น เข้าด้วยกันแล้วหารด้วยสาม ก็จะได้ค่าเฉลี่ยโดยประมาณ ขององศาที่ควรจะเป็น
ซึ่งในวิธีนี้จะใช้ในการตรวจสอบ สนามการรบกวนของโลหะ ภายในอาคารได้ด้วย โดยให้พิจารณาดูว่า หากค่าองศาที่วัดได้ทั้งสามนั้น มีค่าแตกต่างกันค่อนข้างมาก นับแต่สองถึงสามองศา ก็จะบอกได้ว่า ภายในอาคารหลังนั้นมีสนามรบกวน จากตัวโลหะค่อนข้างมาก ก็ให้แก้โดยลดระยะห่าง ระหว่างจุดให้น้อยลง จากหนึ่งเมตรเหลือเพียงครึ่งเมตร แล้วค่อยนำมาหาค่าเฉลี่ย ดังที่กล่าวไปแล้ว
รูปที่ 1 แสดงตัวอย่างการวัดองศาทิศอิงด้วยเข็มทิศ
ปกติแล้วการวัดองศาจะทำ ที่บริเวณหน้าบ้านเป็นหลัก โดยให้หันหลังให้ตัวบ้านแล้ว ทำการตั้งทิศเหนือให้ได้ก่อน เมื่อได้แล้วค่อยอ่านองศาที่ชี้ตรง ตั้งฉากกับประตูหลักของตัวอาคาร โดยจะอ่านค่าองศาที่ตัวอาคารหันไปประจัญ หรืออ่านองศาทิศอิง ด้านหลังของตัวอาคารก็ได้ เพราะต้องใช้ทั้งสองค่า แต่ไม่ว่าจะได้ค่าใดค่าหนึ่งมา เมื่อต้องการทราบอีกค่าหนึ่งก็เพียงบวกด้วย 180 เข้าไปก็จะได้อีกค่าองศา ที่ต้องการอย่างง่ายดาย
ส่วนสาเหตุที่ให้วัดจาก ประตูทางเข้าหลักนั้น ก็เนื่องมาจากบ่อยครั้งที่พื้นที่ด้านหลังของตัวอาคาร มักจะเหลือพื้นที่ไม่พอให้ทำการวัดค่าแบบเฉลี่ยดังกล่าว ในขณะที่การวัดภายในบ้าน ย่อมยากจะเลี่ยงผลกระทบจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ก็เอาเป็นว่า หากพื้นที่ด้านหลังของอาคารใด ก็ควรที่จะวัดองศาหลังอิงของอาคาร จากระนาบด้านหลังของตัวอาคารด้วย อีกทั้งระนาบของประตูทางเข้าหลัก ของตัวอาคารจะมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นช่องทางหลัก ที่กระแสปราณจะไหลเลื่อน เข้าสู่ภายในอาคาร
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ บ่อยครั้งที่จะพบว่า ตัวประตูทางเข้าหลักของตัวอาคาร กลับมิได้หันหน้าประจัญกับถนน ที่ผ่านด้านหน้าของพื้นที่ตั้งอาคาร โดยอาจหันด้านข้างหรืออาจถึงกลับ สลับหน้าหลังไปเลยก็มี ในลักษณะนี้ต้องถือว่า เป็นการปฏิเสธกระแสปราณ ทำให้การเคลื่อนย้ายเลื่อนไหล ของกระแสปราณเข้าสู่ภายใน ตัวอาคารไม่คล่องตัวเท่าที่ควร และยังต้องเพิ่มความยุ่งยาก ในการชักนำปราณมากขึ้นด้วย จึงไม่แนะนำ ส่วนในกรณีที่หันด้านข้างให้ หรือบิดระนาบตัวอาคาร ให้ทำมุมกับประตูทางเข้าสู่พื้นที่ตั้ง
ในกรณีนี้หากออกแบบไม่ดี ก็อาจสร้างเหลี่ยมศรพิฆาต พุ่งคุกคามใส่กระแสปราณ ที่จะผ่านเข้ามาในพื้นที่ จนทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่เอาเป็นว่า ไม่ว่าตัวอาคารจะหันด้านหน้า ทางเข้าไปในทิศทางใด ก็ให้วัดองศาของตัวอาคารจากระนาบ ของประตูทางเข้าหลักนั้นๆ โดยในกรณีที่ทางเข้าหลัก ของตัวอาคารไม่ได้อยู่ ในระนาบเดียวกับพื้นที่ตั้ง ก็จะต้องวัดองศาของพื้นที่ตั้ง ที่หันประจัญกับถนนมาด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบ การพิจารณาอีกชั้นหนึ่งด้วย
การวัดองศาด้วยจานองศาแดด
(Measuring degrees with a sun degree dish)
ในเรื่องการวัดองศานี้ ในปัจจุบันได้มีการออกแบบอุปกรณ์ การวัดองศาขึ้นหลายแบบ เพื่อใช้แทนเข็มทิศ การใช้จานองศาแดดก็เป็นอีกแนวคิดหนึ่ง ที่สามารถตัดผลกระทบ จากคลื่นรบกวนของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เกิดจากโครงสร้างโลหะทั้งหลาย ภายในอาณาบริเวณที่ตั้งตัวอาคาร เพราะไม่ได้มีส่วนของเข็มทิศ ที่เป็นแม่เหล็กเข้ามาเป็นองค์ประกอบ โดยหันไปใช้เงาของเสาแกนกลาง ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามองศา ของดวงอาทิตย์ที่ทำมุมกับพื้นโลก ทำให้ได้ค่าองศา ไปใช้งาน ที่ถูกต้องแม่นยำค่อนข้างมาก
แต่ในเสียมีดีในดีก็ย่อมมีเสียเป็นธรรมดา ปัญหาของอุปกรณ์วัด ทิศทางแบบใช้องศาแดดนี้ จึงค่อนข้างมีขั้นตอนในการ ติดตั้งเบื้องต้นที่ค่อนข้างยุ่งยาก และจำต้องอาศัยการฝึกฝน จนชำนาญระดับหนึ่ง ที่สำคัญการตั้งองศาแดดให้ถูกต้องนั้น ยังต้องทำการตั้งเวลาในการอ่านให้แม่นยำ โดยในประเทศไทยอาจเทียบกับ การบอกเวลาของกองอุทกศาสตร์ กองทัพเรือได้ ผ่านทางเลขหมายโทรศัพท์สายตรงที่กำหนดไว้
รูปที่ 2 แสดงตัวอย่างจานองศาแดด
นอกจากนั้นยังต้องรู้พิกัดตำแหน่งที่ตั้ง ของตัวอาคารที่จะทำการวัดด้วย กล่าวคือต้องระบุเส้นรุ้งเส้นแวง หรือ latitude และ longtitude ให้แก่โปรแกรม Plaintarium ซึ่งใช้ในการคำนวณองศาของแดด ที่ทอทาบตรงกับเงา ในช่วงเวลาดังกล่าว การอ่านจึงต้องตั้งค่าล่วงหน้า สักหนึ่งนาทีเป็นอย่างน้อย เพื่อเผื่อเวลาในการหมุนจาน ให้มุมของเสาแกนกลางทอทาบ ทับกับเงาแดดที่ปรากฏ แล้วค่อยอ่านองศาทิศประจัญ หรือหลังอิงของตัวอาคารออกมาได้ จะเห็นได้ว่า การใช้จานองศาแดดนั้น ต้องมีองค์ประกอบช่วยมากมาย
นอกจากต้องมีจานองศาแดด ที่ออกแบบมาเป็นการเฉพาะแล้ว ยังต้องมีนาฬิกาที่แม่นยำ ตั้งค่าได้อย่างถูกต้อง และสุดท้ายก็ต้องมีโปรแกรม คำนวณองศาของเงาแดดในช่วงเวลา และพิกัดตำแหน่งที่กำหนด โดยในตัวพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวงนี้ หากจะให้แม่นยำจริงๆ ก็ควรใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ GPS แบบมือถือประกอบด้วย ซึ่งในปัจจุบันก็ได้มีการผลิตออกมา จำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ ให้ท่านผู้อ่านเลือกซื้อได้ตามสะดวก
การวัดองศาด้วยเข็มทิศจีน
(Measuring degrees with the Chinese compass)
บรรยายไปมาท่านผู้อ่านคงเริ่มรู้สึกแล้วว่า การใช้เข็มทิศนั้นดูจะมี กระบวนการขั้นตอนที่ง่ายดายที่สุด แม้จะไม่มีการรับประกัน ความถูกต้องของข้อมูลโดยตรง แต่เท่าที่ประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ก็ไม่พบความแตกต่างจากกันมากนัก ระหว่างค่าที่อ่านตรง จากเข็มทิศกับอุปกรณ์อื่นๆ หลายคนอาจอยากทำตัว ให้บรรยากาศดูขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ เลยหันไปใช้จานเข็มทิศแบบจีนโบราณ หรือที่เรียกว่า หลอผาน (羅盤) มาทำการวัดองศา
รูปที่ 3 แสดงตัวอย่างหลัวผานหรือเข็มทิศจีน
เรื่องนี้ผู้เขียนคงต้อง ขอเตือนไว้สักเล็กน้อยว่า การเก็บข้อมูลเบื้องต้น คือตัวองศานี้ หากไม่ใช่ผู้ที่ผ่านการใช้งานมา อย่างเชี่ยวชาญแท้จริง ไม่จำเป็นอย่าใช้เป็นดีที่สุด เพราะนอกจากจะมีระบบการอ่านที่ยุ่งยากแล้ว ทั้งที่ความจริงผู้คิดสร้าง อาจมีความปรารถนาดีในการช่วย เอื้ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งาน
แต่การที่นำเอาสัญลักษณ์ต่างๆ มารวมกันไว้ในที่เดียวกัน จึงย่อมก่อเกิดพลังอำนาจ ที่เร้นลับที่ยากอธิบายขึ้น หากใช้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงอาจทำให้เกิดการก่อกวน กระแสปราณของสถานที่ จนกลายเป็นปัญหาวุ่นวายขึ้นได้
การวัดองศาจากโฉนดที่ดิน
(Measuring degrees from title deeds)
มีวิธีการอ่านองศาของตัวอาคารอีกวิธีหนึ่ง ที่มีความถูกต้องแม่นยำมากกว่าวิธีอื่นๆ ที่บรรยายมาข้างต้น และสามารถตัดปัญหาเกี่ยวกับ เรื่องการรบกวนของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากโลหะเหมือนในกรณีเข็มทิศ ทั้งไม่ต้องใช้เทคนิค หรืออุปกรณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงแต่วิธีดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องใช้ตัวเอกสาร โฉนดที่ดินเป็นข้อมูลพื้นฐาน เพราะโฉนดส่วนใหญ่จะมี แผนภาพของรูปทรงที่ดิน ที่ผ่านการรังวัดมาอย่างถูกต้องแล้ว ทั้งยังมีแนวทิศเหนือระบุไว้ ทำให้เราสามารถถ่ายองศาของที่ดิน เพื่อหาทิศหน้าประจัญ หรือหลังอิงได้ไม่ยากนัก
รูปที่ 4 แสดงตัวอย่างการวัดองศาทิศอิงด้วยจากโฉนด
โดยองศานี้สามารถใช้ได้ กับอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ เพราะมักจะสร้างให้หันหน้าไป ในทิศทางเดียวกับที่หน้าที่ดินหันไป ส่วนกรณีที่ไม่แน่ใจว่า ระนาบด้านหลังของตัวอาคาร จะขนานกับแนวที่ดินด้านหลังหรือไม่ หรือกรณีที่ไม่ได้สร้างตัวอาคารหันหน้า ไปในทิศทางเดียวกับหน้าที่ดิน ก็สามารถทำการร่างผังของตัวอาคาร ลงไปในแบบสำเนาของโฉนด โดยใช้สัดส่วนที่ย่อจากการวัดจากพื้นที่จริง แล้วค่อยทำการถ่ายองศา ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อคำนวณหาองศาบ้านตามที่ต้องการ
การวัดองศาที่ใกล้เคียงกับการวัดองศาในโฉนด ก็คือ การวัดจากแผนที่ของ google map โดยให้แสดงภาพแบบดาวเทียม แล้วหาภาพอาคารเป้าหมาย ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมทั่วไป ก็จะแสดงภาพจากด้านบน (Top view or Bird eye view) จึงทำให้สามารถมองเห็นทั้งระนาบด้านหลังและด้านหน้า ซึ่งในภาพแผนที่ ก็จะแสดงเข็มทิศไว้ให้ด้วย ทำให้เราสามารถพิมพ์ภาพออกมา แล้วทำการวัดองศาแบบเดียวกับที่วัดจากโฉนดได้
เตรียมอุปกรณ์สำรวจ
(Prepare survey equipment)
เมื่อท่านผู้อ่านพอจะเข้าใจ หลักการวัดองศาของตัวอาคาร ทั้งที่เป็นทิศหน้าประจัญและหลังอิง ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตาม เพียงแต่การวัดองศาที่ว่านี้ จะค่อนข้างเป็นกรรมวิธีในขั้นตอนท้ายสุด ในการติดตามกระแสปราณ แต่ก็ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในข้อมูลที่มีความสำคัญมาก เพราะจะใช้ในการกำหนดผังของสนามปราณ ที่มีอิทธิพลกระทบต่อตัวอาคาร แต่ก็ใช่ว่าขั้นตอนการสำรวจเก็บข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้เขียนกำลังจะบรรยายนี้ จะไม่มีความสำคัญ
แท้จริงแล้วต้องยอมรับว่า มีความสำคัญในทุกส่วน เพียงแต่อาจแตกต่างไปคนละบทบาท ซึ่งผลลัพธ์การประมวลผลสุดท้าย ในการวิเคราะห์ชะตาดิน จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดนี้ มาประเมินรวมกันเข้าอย่างครบถ้วน ยิ่งมีข้อมูลมากก็จะยิ่งได้ผลการวิเคราะห์ ที่แม่นยำถูกต้องมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
Prepare survey equipment
เพื่อที่จะทำการสำรวจเก็บข้อมูลดังกล่าวที่จะพูดถึงนี้ หากท่านผู้ทำการสำรวจมีกล้องถ่ายวีดีโอ หรือภาพนิ่งก็จะช่วยได้มาก เพราะจะถูกใช้เป็น ข้อมูลในการตรวจสอบ หรือทำการวิเคราะห์โดยละเอียด นอกเหนือจากการสำรวจดู โดยไม่ได้บันทึกอะไรไว้เลย เนื่องจากว่า เป็นการยากที่จะสำรวจ ตรวจสอบอาคารแต่ละหลัง ได้อย่างถี่ถ้วนรอบด้านในเวลาอันจำกัด
โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นอาคารขนาดใหญ่ การเก็บข้อมูลด้วยอุปกรณ์บันทึกภาพ จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็จะช่วยทำให้ผู้สำรวจสามารถ นำข้อมูลกลับมาทำการย้อนทวน และทำการวิเคราะห์ในภายหลังได้ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังสามารถให้ผู้รู้ท่านอื่น ช่วยให้คำชี้แนะหรือช่วยวิเคราะห์ได้อีกด้วย
สำรวจเส้นทางเข้า-ออกอาคาร
(Explore the entry-exit route to the building)
เมื่อมีอุปกรณ์ที่จำเป็นครบถ้วนแล้ว เราก็มาเริ่มกันเลย การเก็บข้อมูลนั้น ให้เริ่มเก็บบันทึกภาพ ตั้งแต่แนวโอบโค้งของถนน ที่อยู่ด้านหน้าตัวอาคาร รวมทั้งทิศทางการเคลื่อนที่ ของยวดยานที่แล่นผ่านไปมา เพราะจะเป็นข้อมูลที่บอกถึง การเคลื่อนไหวของกระแสปราณ ที่ผ่านด้านหน้าของพื้นที่ตั้ง หรือตัวอาคารด้วย ในกรณีที่ตัวอาคารอยู่ลึกเข้าไปในซอย ก็ต้องถ่ายภาพของถนนหลัก ก่อนเข้าซอยทั้งสองกรณี ดังกล่าวเช่นกัน
จากนั้นก็ให้เก็บภาพฝั่งตรงข้าม ที่ตั้งของตัวอาคาร หรือปากซอยโดยรอบตัว 360 องศา แล้วจึงเข้าสู่ตัวอาคาร แต่ถ้าเป็นการเข้าสู่ซอยแยกย่อย ก็ต้องเก็บภาพสภาพแวดล้อม ในซอยทั้งสองฟากข้างไปตลอดทาง ไม่ว่าจะมีเส้นทางลดเลี้ยวเพียงใดก็ตาม ก่อนจะมาถึงที่ตั้งตัวอาคาร โดยเฉพาะสภาพถนน แนวของปากท่อระบายน้ำ
Explore the entry-exit route to the building
ในกรณีที่เป็นฤดูฝนก็ให้เก็บภาพ บริเวณที่มีน้ำเจิ่งนองมาด้วย เพราะจะเป็นตัวที่บอกว่า มีปริมาณน้ำอยู่มากน้อยเท่าใดสกัดกั้นไว้ ก่อนจะถึงที่ตั้งตัวอาคาร ถ้าเป็นไปได้ก็ควรหาข้อมูลด้วยว่า น้ำที่เจิ่งนองอยู่นั้นคงอยู่เนิ่นนานเพียงใด ถ้าแห้งเร็วก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอยู่นานจะมีผลกระทบจาก คุณภาพของน้ำที่อาจเน่าเหม็นด้วย เนื่องจากลมพัดพาน้ำเก็บกัก ดังนั้นหากมีน้ำสกัดกั้นไว้ ในช่วงนั้นปราณจะไม่สามารถเข้าสู่ พื้นที่ภายในซอยนั้นได้อย่างพอเพียง
กรณีที่ตัวอาคารตั้งอยู่ภายในหมู่บ้าน ก็ต้องเก็บภาพบริเวณซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านด้วย ในเรื่องนี้ก็จะเป็นดัชนีที่จะชี้บอกให้รู้ว่า มีปริมาณผ่านเข้าสู่ภายในหมู่บ้านมากน้อยเพียงใด โดยหมู่บ้านที่มีซุ้มประตูปิดกั้นด้านบน จนปรากฏเงาทอทาบที่พื้น จะทำให้เกิดสภาวะสกัดพลัง เพราะแสงคือหยาง เงาคือหยิน ดังนั้นกระแสปราณ ที่ผ่านเข้าสู่ตัวหมู่บ้าน เมื่อต้องผ่านร่มเงาของซุ้มหลังคา ก็จะถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นพลังหยิน
มากน้อยก็ต้องขึ้นกับว่า ร่มเงาจากซุ้มประตูทางเข้านั้น แผ่กว้างมากน้อยเพียงใดนั่นเอง ในเรื่อนี้นั้นร่มเงาจากต้นไม้ภายในหมู่บ้าน ก็จะแสดงบทบาทแบเดียวกันด้วย ตลอดทางเข้าสู่ตัวหมู่บ้านก่อนถึงที่ตั้งตัวอาคาร ก็ควรทำการบันทึกภาพสภาพแวดล้อม โดยรอบไว้ให้หมดเช่นกัน โดยเฉพาะตำแหน่งสวนหย่อม หรือทะเลสาบถ้ามี ก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่จะใช้เป็น องค์ประกอบในการวิเคราะห์
สำรวจสภาพโดยรอบอาคาร
(Survey the surroundings of the building)
เมื่อเข้ามาถึงด้านหน้าตัวอาคาร ก็ให้ทำการเก็บภาพสภาพแวดล้อม โดยรอบตัวอาคารทั้ง 360 องศา เพื่อใช้ในการวิเคราะห์หา พลังพิฆาตในกรณีต่างๆ ถ้ามี ก่อนเข้าตัวอาคารให้ยืนอยู่ภายนอก ห่างพอที่จะเก็บภาพตัวอาคารทั้งหมด เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ สนามปราณในภาพรวม ช่วงเวลาที่เหมาะต่อการ เก็บข้อมูลดังกล่าวนั้น อยู่ในช่วง 9 โมงเช้า ถึงบ่าย 3 โมงเย็น ถ้าเช้ากว่านั้นจะยัง ไม่เห็นแสงเงาพอเพียง
โดยเฉพาะถ้าหลังช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว ไม่ควรเข้าไปเก็บข้อมูลเป็นอันขาด เพราะเป็นช่วงที่พลังหยินเริ่มมีกำลังแรง หากอาคารสถานที่เหล่านั้น เป็นที่รวมของพลังหยิน ซึ่งหมายรวมเอาเหล่าวิญญาณได้ด้วย ก็จะทำให้อาจเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ จึงแนะนำให้งดเว้นโดยเด็ดขาด เพื่อสวัสดิภาพของผู้ทำการสำรวจเอง สำหรับช่วงเวลาที่ดีก็อยู่ ในช่วงเที่ยงวันจนถึงบ่ายโมง เพราะเป็นช่วงที่พลังหยาง กำลังจะเปลี่ยนไปเป็นพลังหยิน จึงทำให้ได้ข้อมูลของวิถีปราณ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทั้งสองด้าน
Survey the surroundings of the building
สำหรับการเก็บข้อมูลของตัวอาคาร ให้เริ่มจากบริเวณรั้วด้านนอกพื้นที่ แล้วค่อยไล่ตามไปที่ประตูทางเข้ารั้ว หากเป็นพื้นที่ใหญ่ ก็ต้องทำซ้ำกระบวนการเดิม คือเก็บภาพแวดล้อมทั้งหมด ตั้งแต่ทางเข้าไปจนถึง ที่ตั้งตัวอาคารหลัก ในกรณีที่มีอาคารมากกว่าหนึ่งหลัง เมื่อเข้าสู่เขตพื้นที่ภายในรั้วแล้ว ก็ให้เก็บภาพโดยรอบตัวอาคารก่อน เพื่อดูแนวเคลื่อนของ กระแสปราณรอบตัวอาคาร หากไม่สามารถทำได้รอบ
ในกรณีที่มีการสร้างอาคารเต็มพื้นที่ หรือที่เป็นอาคารพาณิชย์ หรือทาวน์เฮ้าส์ ก็ข้ามขั้นตอนนี้ไป จากนั้นก็ให้เก็บภาพตัวอาคารโดยละเอียด ทั้งสนามหญ้า การปลูกต้นไม้ โรงรถ สระน้ำ หรืออาคารหลังย่อยอื่นๆ ก่อนจะไปจบที่บริเวณประตู ทางเข้าหลักของตัวอาคาร ให้เก็บภาพมุมกว้างที่สามารถเห็น สภาพของประตูทางเข้าทั้งหมด และควรดูว่าประตูทางเข้านั้นเปิดเข้าหรือออก หรือเป็นแบบเลื่อน ข้อมูลพวกนี้จะมีผลต่อการวิเคราะห์ทั้งหมด เพราะจะเป็นตัวกำหนดปริมาณ ของกระแสปราณที่จะเคลื่อนเข้าสู่ตัวอาคาร
สำรวจสภาพภายในอาคาร
(Explore the interior of the building)
เมื่อเข้าสู่ภายในตัวอาคารแล้ว ก็ให้เก็บภาพห้องโถงแรก ที่ผ่านประตูเข้ามาทั้งหมด ก่อนจะไปยังห้องอื่นๆ โดยให้เรียงลำดับไปจากห้องนั่งเล่น ห้องอาหาร ห้องครัว ห้องน้ำ ห้องทำงาน ห้องสมุด หรือห้องเก็บของถ้ามี รวมไปทั้งห้องนอนด้วย กรณีที่มีคนนอนที่ชั้นล่าง อย่าลืมว่าต้องเก็บภาพตำแหน่ง ของประตูและหน้าต่างทั้งหมด ภายในอาคารมาด้วย เพราะเป็นจุดที่กระแสปราณ จะเลื่อนไหลผ่านเข้าออก
รวมไปถึงระดับของพื้นห้องทั้งหมดด้วย ถ้ามีห้องใต้ดินก็ให้ลงไปเก็บภาพด้วย แล้วจึงกลับขึ้นมาที่ชั้นหนึ่ง ก่อนจะไปที่บันไดทางขึ้นสู่ชั้นบน ให้เก็บภาพบันไดทั้งหมดมาโดยละเอียด ถ้าสามารถมองเห็นจำนวนขั้นทั้งหมดจะดีมาก เพราะจะใช้ในการนับจำนวนขั้นบันไดได้ด้วย อีกทั้งชานพักและช่องแสง บริเวณผนังกำแพงเหนือบันไดด้วย
Explore the interior of the building
เมื่อขึ้นไปถึงชั้นบนแล้วก็ให้ เก็บภาพโถงแรกที่ขึ้นบันไดมาไว้ก่อน โดยควรจะมองให้เห็นเพดาน และประตูทางเข้าห้องทั้งหมด แล้วค่อยไปเก็บภาพภายใน ห้องเหล่านั้นอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำหรือห้องนอน ควรจะเก็บภาพโดยรอบในห้องมา พร้อมเก็บข้อมูลด้วยว่า เป็นห้องนอนของสมาชิกผู้ใดภายในบ้าน ถ้ามีมากกว่าสองชั้นก็ให้ทำซ้ำกระบวนการเดิมโดยเริ่มที่บันไดขึ้นสู่ชั้นถัดไป หากมีดาดฟ้าก็ควรขึ้นไปเก็บภาพด้วย ทั้งสภาพของดาดฟ้า และทัศนียภาพโดยรอบจากที่สูง จะได้ภาพมุมกว้างมากขึ้น
ถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยเสริม การวิเคราะห์ข้อมูลได้ดียิ่ง ในกรณีที่เป็นอาคารโรงงาน หรือมีมากกว่าหนึ่งอาคาร ให้เริ่มที่อาคารสำนักงานหลักก่อน โดยต้องเก็บภาพห้องผู้บริหาร คนสำคัญมาให้หมด จากนั้นค่อยไปเก็บข้อมูลของอาคารอื่นๆ ให้ทั่ว ในกรณีที่มีทางเชื่อมระหว่างอาคารจะต้องเก็บภาพมาด้วย เพราะถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะตัดสิน ผังชะตาดินได้อย่างพลิกผันทีเดียว ก็ถือว่าเป็นการจบการสำรวจเก็บข้อมูลโดยสังเขป และควรวาดผังที่ตั้งของตัวอาคาร ทั้งหมดพร้อมรายละเอียดภายใน ของแต่ละชั้นของตัวอาคารมาด้วย
บทสรุป
(Conclusion)
จากที่บรรยายมาถือเป็นขั้นตอนวิธีหลัก ที่ต้องกระทำอย่างมิอาจละเลย เมื่อต้องทำการสำรวจสภาพปราณของอาคาร เพียงแต่ยังมีรายละเอียดมากกว่าที่นำมาบอกเล่าเป็นแนวทางไว้ข้างต้น โดยเฉพาะประเภทของอาคารที่ต้องทำการสำรวจ อย่างคร่าวๆ ก็แบ่งออกได้ 3 กลุ่มหลัก คือ อาคารที่พัก อาคารประกอบการ และ อาคารที่ทำการรัฐ โดยอาคารที่พัก ก็ยังแบ่งออกเป็นประเภทย่อยได้อีกหลายรูปแบบ อาทิเช่น อาคารบ้านเดี่ยว อาคารชุดอย่างคอนโดมีเนียม หรือ อาคารทาวน์เฮ้าส์ ที่อาจแบ่งเป็น อาคารบ้านแฝด หรือ อาคารสำนักงานบ้าน (Home office)
ในขณะที่อาคารประกอบการ ยิ่งมีความหลากหลายมากกว่า ขึ้นกับประเภทของธุรกิจ ที่ใช้อาคารแห่งนั้น เป็นสถานประกอบการ ตัวอย่างเช่น อาคารสำนักงาน อาคารโรงงาน อาคารโรงแรม อาคารสถานศึกษา อาคารสถานพยาบาล ซึ่งจะมีรายละเอียดในการสำรวจแตกต่างกันไป
ส่วนอาคารประเภทสุดท้าย คือ อาคารที่ทำการรัฐ ก็จะมีรายละเอียดการสำรวจที่แตกต่างเช่นกัน ขึ้นกับประเภทงานที่หน่วยงานในอาคารแห่งนั้นให้บริการ กล่าวโดยสรุปแล้ว แม้ขั้นตอนการสำรวจที่กล่าวมาในบทความนี้ จะค่อนข้างมุ่งเน้นไปที่บ้านอยู่อาศัยเป็นหลัก แต่ขั้นตอนเหล่านี้ ก็สามารถใช้ในการสำรวจเบื้องต้น สำหรับอาคารทุกปรเภท
Reference :
https://www.fengshuitown.com/fengshui/fengshui-compass-accurate-2.htm
https://www.facebook.com/OnetreeThailand/photos/a.481549588604060/500344550057897/?type=3
(มิติทางปัจจัยสภาพ ep.9 สำรวจปราณสภาพ)
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
มิติทางปัจจัยสภาพ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย