17 ส.ค. 2023 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ระบบมาตรฐานทองคำ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ "ดอลลาร์" ถูกเรียกว่า "กระดาษทิชชู่"

หลายๆคนที่อยู่ในโลกการเงินคงเคยได้ยิน วลีที่ว่า "ดอลลาร์กำลังกลายเป็นกระดาษทิชชู่ " หรือดอลลาร์กำลังกลายเป็นแบงค์กงเต็ก
วลีที่น่าขำขันนี้ มีความเป็นมาตั้งแต่ยุคที่สหรัฐฯ ยังมีใช้ "Gold Standard หรือ ระบบมาตรฐานทองคำ"
ก่อนที่จะบอกเล่าว่าระบบมาตรฐานทองคำนี้ ทำไมถึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้"ดอลลาร์" ถูกเรียกว่า "กระดาษทิชชู่" เรามาทำความรู้จักกับระบบมาตรฐานทองคำกันก่อน
Gold Standard หรือ ระบบมาตรฐานทองคำ เป็นระบบการเงินที่ "มูลค่าของสกุลเงิน" ของประเทศจะเชื่อมโยงโดยตรง กับปริมาณทองคำที่ประเทศนั้นถือครองอยู่
สมมุติว่า ถ้าสกุลเงินของประเทศหนึ่งถูกตรึงไว้ กับมาตรฐานทองคำในอัตรา 20 ดอลลาร์ต่อทองคำ 1 ออนซ์
ถ้าบุคคลทั่วไปต้องการทองคำ 1 ออนซ์ พวกเขาสามารถใช้เงิน 20 ดอลลาร์ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยน
หรือหากประเทศต้องการเพิ่มปริมาณสกุลเงินของตน พวกเขาก็ต้องเพิ่มปริมาณของทองคำตามไปด้วย
กล่าวคือ เมื่อมูลค่าของสกุลเงินถูกผูกติดกับทองคำ รัฐบาลของประเทศนั้นๆจะต้องรักษาระดับของปริมาณทองคำไว้ เพื่อให้สกุลเงินของพวกเขามี "มูลค่าคงที่" นั่นเอง
ระบบมาตรฐานทองคำนี้ เป็นที่นิยมใช้โดยเฉพาะประเทศขนาดเล็ก และประเทศที่ไม่ได้มีความแข็งแรงในด้านระบบการเงิน
แต่จุดเริ่มต้นที่ทำให้ "ดอลลาร์" ถูกเรียกว่า "กระดาษทิชชู่" นั้นเกิดจากสาเหตุหลายประการและนำไปสู่การที่สหรัฐฯ ได้ทำการ "ยกเลิก" ระบบมาตรฐานทองคำที่ว่านี้
โดยเริ่มจากข้อตกลง Bretton Woods ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ลงนามเมื่อปี 1944 ในวันที่ 22 กรกฎาคม ที่เมืองเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา
วัตถุประสงค์หลักของข้อตกลงนี้ก็เพื่อที่จะ "สร้างระบบการเงินระหว่างประเทศใหม่" หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
ซึ่งในข้อตกลง Bretton Woods ได้กำหนดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ไว้ที่ 35 ดอลลาร์ต่อ 1 ออนซ์ทองคำ
และกำหนดให้ทุกประเทศสมาชิก ต้องรักษาอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินของตนให้คงที่ เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ภายในช่วง 1%
และจากข้อตกลงนี้ ยังได้มีการก่อตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกขึ้นอีกด้วย
ต่อมาจากการเข้าร่วมสงครามเวียดนามในปี 1960 ทำให้สหรัฐฯ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและมีการนำทองคำสำรองออกมาใช้ เป็นผลทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น
การลดลงของปริมาณทองคำในระบบมาตรฐานทองคำของสหรัฐฯ ส่งผลเสียกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนของมาตรฐานทองคำของพวกเขา
จนกระทั่งในปี 1971 วันที่ 15 สิงหาคม ประธานาธิบดี "ริชาร์ด นิกสัน" เขาได้ประกาศว่าจะยุติการแปลงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นทองคำ ถือเป็นการเอาทองคำแยกออกจากดอลลาร์สหรัฐไปโดยสิ้นเชิง
หมายความว่า มูลค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะไม่ผูกติดกับทองคำอีกต่อไป
สิ่งนี้ทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกลายเป็น "สกุลเงินลอยตัว" ซึ่งหมายความว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่จะถูกกำหนดโดย "ความต้องการของตลาด" นั่นเอง
ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดของข้อตกลง Bretton Woods ด้วย
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกระบบมาตรฐานทองคำของสหรัฐฯ ในช่วงแรกนั้นทำให้ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเป็นอย่างมาก
แต่ด้วยความที่สหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่และเติบโตได้รวดเร็ว และมีตลาดทุนที่ใหญ่ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก
ความต้องการในดอลลาร์สหรัฐ จึงยังคงมีอยู่มาก เป็นผลให้ดอลลาร์สหรัฐเริ่มกลับมาแข็งค่าในภายหลัง
เเม้สหรัฐฯ จะนำระบบมาตรฐานทองคำออกไป แต่ตราบใดที่ยังมีความต้องการในดอลลาร์สหรัฐอยู่ สกุลเงินนี้ก็จะยังสามารถแข็งค่ากลับขึ้นมาได้
แต่ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้นักลงทุนมองว่าการนำระบบมาตรฐานทองคำออกไป ทำให้ "วินัยทางการเงินของสหรัฐฯ นั้นน้อยลง"
ความต้องการในดอลลาร์สหรัฐที่ยังมีอยู่มาก ทำให้พวกเขามีการใช้วิธีที่เรามักเรียกมันว่า "การพิมพ์เงิน" เพิ่มมาในระบบเศรษฐกิจหลายครั้ง เมื่อสหรัฐฯ เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ
โดยคำว่า การพิมพ์เงิน ในทีนี้มักเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายนักลงทุน แล้วนำเงินนั้นมาใช้
ด้วย "ความน่าเชื่อถือของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ" ทำให้พวกเขามั่นใจว่าความต้องการในดอลลาร์สหรัฐจะยังมีอยู่ตลอด
พวกเขาจึงทำการพิมพ์เงินแบบนี้มาตลอดหลายสิบปี พอเผชิญกับวิกฤตต่างๆ พวกเขาก็พิมพ์เงินออกมาแก้ปัญหา
ทำให้ในสายตาใครหลายคน การกระทำเช่นนี้จึงถูกมองว่า "เป็นการกระทำที่มักง่าย" และทำให้เงินที่ถูกเพิ่มในระบบดูไม่มีคุณค่า
นี้เลยเป็นที่มาและสาเหตุที่ว่าทำไม "ดอลลาร์" ถึงถูกเรียกว่า "กระดาษทิชชู่" นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา