11 ก.ย. 2023 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

"ซื้อหุ้นตอน PE สูง" และ "ขายตอน PE ต่ำ" เทคนิคที่นักลงทุนมือใหม่หลายคนอาจไม่รู้

PE หรือ PE Ratio เป็นสิ่งพื้นฐานที่นักลงทุนนิยมใช้ในการประเมินบริษัทที่ตนสนใจลงทุน
PE ย่อมาจาก Price to Earnings เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่วัดราคาหุ้นของบริษัทเทียบกับกำไรต่อหุ้น (EPS) คิดโดยเอา ราคาต่อหุ้น (Price) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (EPS)
อัตราส่วน PE สูง หมายความว่านักลงทุนต้องยอมจ่ายเงินในราคาที่สูงสำหรับซื้อหุ้นของบริษัท
อาจเป็นเพราะบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว มีสถานะการแข่งขันที่แข็งแกร่ง หรือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม
แต่อัตราส่วน PE ที่สูง อาจหมายความว่าหุ้นนั้นมีมูลค่าสูงเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้บริษัท
อัตราส่วน PE ต่ำ หมายความว่านักลงทุนจ่ายเงินในราคาที่ต่ำสำหรับซื้อหุ้นของบริษัท
อาจเป็นเพราะบริษัทไม่ค่อยเติบโต เกิดปัญหาภายในบริษัท เป็นบริษัทที่อิ่มตัวแล้ว หรือนักลงทุนมองข้ามบริษัทนั้นไป
แต่อัตราส่วน PE ที่ต่ำ อาจหมายความว่าหุ้นนั้นมีมูลค่าต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับรายได้ของบริษัท
หากเป็นนักลงทุน เราอาจที่จะค้นหาหุ้นของบริษัทที่มีการเติบโต มีสถานะการแข่งขันและการเงินที่แข็งแกร่ง แต่มี PE ที่ต่ำ ซึ่งก็ไม่ง่ายเลยที่เราจะค้นหามันเจอก่อนนักลงทุนคนอื่นๆ
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถซื้อหุ้นที่มีการเติบโต มีสถานะการแข่งขันและการเงินที่แข็งแกร่งใน PE ที่สูงได้
เพราะว่าหากลองพิจารณาแล้ว P ใน PE นั้นคือราคาหุ้น ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถส่งผลกับราคาหุ้นได้
ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถของบริษัทเอง ความคาดหวังของนักลงทุน นโนบายส่งเสริมจากรัฐ ยังรวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ และอื่นๆอีกมากมาย
และ E ใน PE นั้นคือ กำไรต่อหุ้น ที่หาโดยเอากำไรสุทธิของบริษัทมาหารจำนวนหุ้นสามัญที่ออกจำหน่ายทั้งหมด หมายความว่า ยิ่งบริษัทมีกำไรสูง กำไรต่อหุ้นก็จะสูงตาม
หาก "กำไรต่อหุ้นของบริษัทไม่ได้เพิ่มขึ้น" แต่ "ราคาของหุ้นสูงขึ้น" แสดงว่าบริษัทนั้นอาจกำลังได้รับ "ความคาดหวังจากนักลงทุน"
  • คำถาม คือ แล้วนักลงทุนคนอื่นๆควรซื้อหุ้นของบริษัทนั้นหรือไม่
คำตอบ คือ นักลงทุนอาจจะยังสามารถซื้อหุ้นของบริษัทนั้นได้ใน "บางกรณี"
ลองมาสมมุติสถานการณ์กัน
ตัวอย่าง
บริษัท A เป็นบริษัทชั้นนำที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ "สินค้าฟุ่มเฟื่อย" ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งที่กำลังเผชิญเศรษฐกิจถดถอยทำให้ "เศรษฐกิจไม่ดี"
การที่เศรษฐกิจไม่ดีทำให้กำไรของบริษัท A ลดลง ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นลดลงตาม
แต่บริษัทได้ประกาศว่าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การประกาศนี้ส่งผลให้ราคาของหุ้นเพิ่มขึ้น เพราะ "ได้รับความคาดหวังจากนักลงทุน" เรื่องรายได้ที่อาจเกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต
กำไรต่อหุ้นที่ลดลง บวกกับราคาของหุ้นที่เพิ่มขึ้น เมื่อรวมกันแล้วทำให้หุ้นของบริษัท A มี "PE ที่สูง"
เวลาผ่านไปเศรษฐกิจของประเทศกลับมาดีอีกครั้ง ส่งผลให้กำไรของบริษัท A กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้กำไรต่อหุ้นสูงขึ้นด้วย แต่ด้วย PE ที่สูงอยู่แล้ว ทำให้นักลงทุนบางคนไม่กล้าเข้าซื้อ
แม้ PE ของหุ้นที่สูงอยู่แล้วตั้งแต่ตอนเศรษฐกิจไม่ดี แต่เมื่อกำไรต่อหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ "PE ของหุ้นนั้นต่ำลง" ได้
กล่าวคือ กรณีที่ยกตัวอย่างนี้ ถ้าหากเราซื้อหุ้นบริษัท A ที่ PE สูง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี แล้วถือไว้จนเวลาผ่านไป กำไรต่อหุ้นของบริษัท A กลับมาดีอีกครั้ง
ทำให้ PE ของหุ้นต่ำลง เมื่อ PE ของหุ้นต่ำลง สิ่งนี้อาจสามารถดึงดูดนักลงทุนรายอื่น กลับเข้ามาซื้อหุ้นได้ เพราะเห็นว่า PE ต่ำลงแล้ว กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น และอยู่ในช่วงเศรษฐกิจดี
การกลับเข้ามาซื้อของนักลงทุน "ผลักดัน" ให้ราคาหุ้นของบริษัท A สูงขึ้น และจังหวะนี้เอง เราก็สามารถที่จะขายหุ้นที่ถืออยู่ เพื่อทำกำไรได้นั่นเอง
นักลงทุนหลายคนมักเรียกว่า "ซื้อหุ้นตอน PE สูง ขายตอน PE ต่ำ" หรือที่เรียกกันติดตลกอย่างขำขันว่า "ซื้อแพงแล้วแต่ขายแพงกว่า"
อย่างไรก็ตาม แม้นักลงทุนอาจจะสามารถซื้อหุ้นที่ดีใน PE ที่สูงได้ในบางกรณี แต่เทคนิคนี้มีข้อควรระวังหลายอย่าง
ข้อแรก เทคนิคนี้มักใช้ได้กับบริษัทที่ "ค่อนข้างเป็นวัฎจักรตามระบบเศรษฐกิจ" เพราะสามารถคาดการณ์รายได้ได้ง่ายกว่า
2
ข้อสอง เทคนิคนี้มักใช้ได้กับหุ้นของบริษัทที่เป็น "ผู้นำอุตสาหกรรม" มากกว่าบริษัททั่วไป
ข้อสาม เทคนิคนี้มักใช้ได้กับหุ้นของบริษัทที่มีงบการเงินที่แข็งแรง และมีผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ
ข้อสี่ หากจะใช้เทคนิคนี้ นักลงทุนต้อง "มีความเข้าใจในบริษัทนั้นเป็นอย่างดี" เพราะ นักลงทุนต้องสามารถประเมินให้ได้ว่า "PE ที่สูงหรือต่ำ นั้นมาจากอะไรกันแน่"
เช่น อาจมาจากความหวังที่สูงเกินจริง (FOMO) หรือ อาจมาจากนโยบายสนับสนุนชั่วคราวจากภาครัฐ ไม่ใช่ความสามารถของบริษัทนั้นจริงๆ หรือบริษัทนั้นกำลังประสบปัญหาอะไรสักอย่างอยู่ หรือบริษัทนั้นแข็งแกร่งจริงๆ นักลงทุนเลยเชื่อมั่น เป็นต้น
ข้อควรระวังที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่ "จำเป็นต้องให้ความสำคัญ" หากคิดที่จะซื้อหุ้นใน PE ที่สูง
รวมถึงนักลงทุนควรที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับ EPS Growth ของบริษัทนั้นๆด้วย เพื่อให้เราสามารถประเมินหรือคาดการณ์ การเติบโตของกำไรต่อหุ้นได้แม่นยำมากขึ้น
เพราะในบางครั้งหลายๆสิ่ง อาจไม่เป็นไปอย่างที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นก็ได้
อย่างเช่น พอกำไรต่อหุ้นของบริษัท A ที่มี PE สูง กลับมาดีอีกครั้งแต่มีนักลงทุนบางส่วนเข้ามาซื้อหุ้นเป็น "จำนวนมาก" เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจดีและกำไรต่อหุ้นของบริษัท A เพิ่มขึ้น
สิ่งนี้อาจผลักดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปอีก พอเป็นแบบนี้แล้วถึงแม้กำไรต่อหุ้นของบริษัท A จะเพิ่มขึ้น แต่ PE ก็จะไม่ต่ำลง เพราะว่าราคาหุ้นที่สูงขึ้นจะทำให้ PE สูงขึ้น ซึ่งจะหักล้างกับส่วนของกำไรต่อหุ้น ทำให้ PE ไม่ลดลง
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอ และเทคนิคนี้ก็เป็นแค่ หนึ่งในวิธีประเมินบริษัทเมื่อนักลงทุนคิดที่จะซื้อหุ้นใน PE ที่สูง
จริงๆแล้วหากคิดที่จะซื้อหุ้นใน PE ที่สูง ยังมีวิธีในการประเมินอื่นๆอีกมากมาย
นักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียด และประเมินความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา