20 ส.ค. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์

Norman Hartnell: ดีไซน์เนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังแฟชั่นของราชินีอังกฤษ

ถ้าพูดถึงสมเด็จพระราชินีนาถแห่งบริเตนใหญ่ ผู้เป็นเจ้าปกครองหญิงที่โด่งดังและมีอำนาจมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกผู้คนก็อาจจะนึกถึงสมเด็จพระราชินีหลัก ๆ อยู่ 3 พระองค์คือ ควีนเอลิซาเบธที่ 1 ผู้นำอังกฤษเข้าสู่ยุคทอง, ควีนวิกตอเรีย ผู้นำพาสหราชอาณาจักรขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก
และควีนเอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดเป็นลำดับ 2 ของโลก ผู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงของสังคมอังกฤษมาเป็นระยะเวลานาน
นอกจากควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะเป็นประมุขที่โด่งดังจากพระราชประวัติที่ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ของโลกมาเป็นระยะเวลานานและเป็นสัญลักษณ์ของสหราชอาณาจักรจนถูกนำมาทำเป็นซีรีย์แล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เป็นที่จดจำก็คือเรื่องของ “แฟชั่น” ที่มีการแปรเปลี่ยนไปตามช่วงพระชนมายุของพระองค์
ซึ่งในวันนี้ เราจะมาพูดถึงนอร์แมน ฮาร์ทเนล (Norman Hartnell) หนึ่งแฟชั่นดีไซน์เนอร์คนโปรดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ที่มีผลงานสำคัญอย่างการออกแบบชุดในพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก และแฟชั่นในช่วงต้นรัชกาลกัน
📌 ทายาทเจ้าของผับผู้ใฝ่ใจในการละคร
ชีวิตของนอร์แมน บิชอป ฮาร์ทเนล เริ่มต้นขึ้นในปี 1901 ในเมืองเล็ก ๆ ในเขตตอนใต้ของลอนดอน ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของผับแห่งหนึ่งในละแวกนั้น
ในสมัยเด็กเขาชื่นชอบในศาสตร์ของศิลปะการแสดงเป็นอย่างมาก เขามักจะไปดูละครเวทีที่เวสต์เอนด์อยู่บ่อยครั้ง และหลงใหลในชุดที่นักแสดงสวมใส่ เขามักจะกลับมาบ้านแล้ววาดภาพชุดต่าง ๆ ที่เขาได้เห็นจากละครเวทีเอาไว้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีแรงบันดาลใจและสามารถใช้แรงบันดาลใจนั้นตามหาความฝันได้ในอนาคต
เมื่อโตขึ้น นอร์แมนได้เข้าเรียนในสาขาวิชาภาษาสมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเกี่ยวกับงานด้านแฟชั่นของเขา ฮาร์ทเนลได้มีส่วนร่วมในชมรมละครของมหาวิทยาลัยและได้ทำงานเบื้องหลังในการออกแบบชุด
ในขณะเดียวกันชีวิตของเขาในเคมบริดจ์ก็ได้ทำให้เขารู้จักกับบุคคลมากมาย อาทิ เซซิล เบียตัน ช่างภาพแฟชั่นชื่อดังของนิตยสาร Vogue ซึ่งได้มีส่วนเผยแพร่งานของเขาในสื่อ และได้รับคำชื่นชมมากมายจากนักวิจารณ์ และทำนายว่าฮาร์ทเนลจะกลายเป็นอนาคตที่สดใสของวงการแฟชั่นได้อย่างแน่นอน ซึ่งคำทำนายนั้นก็ได้กลายมาเป็นความจริงในที่สุด
📌 ดีไซน์เนอร์คนโปรดของชาวลอนดอน
ชุดที่ออกแบบโดยฮาร์ทเนลเป็นที่นิยมขึ้นมาอย่างก้าวกระโดดหลังจากที่เขาลาออกจากมหาวิทยาลัยมาทำงานด้านแฟชั่นอย่างจริงจัง โดยเขามักจะเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของเหล่าแม่ ๆ ที่ต้องการชุดเดรสที่สวยที่สุดให้แก่บุตรสาวที่ต้องไปงานเลี้ยงเต้นรำของชนชั้นสูงอังกฤษ
ชุดของเขาโด่งดังไปถึงดาราฮอลลีวูดอย่าง วิเวียน ลีห์ (Vivian Leigh) ดาวค้างฟ้าแห่งเกาะบริเตน ที่มีผลงานในภาพยนตร์คลาสสิคชื่อดังอย่าง “วิมานลอย” (Gone with the wind) 1 ใน 10 ภาพยนตร์อเมริกันที่ดีที่สุด
ด้วยจำนวนลูกค้าที่มาหาชุดให้กับลูกสาวของตนไปงานเลี้ยง ทำให้ฮาร์ทเนลได้คลุกคลีอยู่กันชนชั้นสูงจนกระทั่งเขาได้มีโอกาสออกแบบชุดแต่งงานให้กับเจ้าหญิงอลิซ ดัชเชสแห่งกลอสเตอร์ พร้อมกับเพื่อนเจ้าสาวอีกสองคน ซึ่งหนึ่งในเพื่อนเจ้าสาวนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เธอคือเจ้าหญิงเอลิซาเบธนั่นเอง
📌 คนโปรดของราชวงศ์
ในงานอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายเฮนรี่, ดยุคแห่งกลอสเตอร์ และว่าที่เจ้าหญิงอลิซ สมเด็จพระราชินีในขณะนั้นคือสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ได้ทอดพระเนตรชุดของว่าที่เจ้าหญิงอลิสก็รู้สึกชื่นชมในความสามารถของฮาร์ทเนล
และได้ใช้บริการตัดเย็บของฮาร์ทเนลอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งนั่นก็ทำให้ฮาร์ทเนลรู้จักมักคุ้นกับเจ้าหญิงเอลิซาเบธอยู่ไม่น้อยจนได้ฮาร์ทเนลมาเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์ผู้ออกแบบชุดให้ในวันอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าหญิงเอลิซาเบธกับดยุคแห่งเอดินบะระ โดยได้แรงบันดาลใจชุดมาจากภาพวาด “พริมาเวร่า” ของบอตติเชลลี่ซึ่งประดับประดาด้วยไข่มุกและเพชรกว่า 1,000 เม็ด
📌 พระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก
การออกแบบชุดแต่งงานของเจ้าหญิงเอลิซาเบธนั้นเป็นเพียงแค่ตอนต้นของจุดสูงสุดในชีวิตของฮาร์ทเนลเท่านั้น จุดสำเร็จสูงสุดของฮาร์ทเนลเริ่มต้นจากการที่พระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเสด็จสวรรคตลงพร้อมกับการที่เจ้าหญิงเอลิซาเบธจะขึ้นเสวยราชสมบัติแห่งบริเตน
ในบ่ายวันหนึ่งของเดือนตุลาคมปี 1952 ว่าที่สมเด็จพระราชินีนาถก็ได้เสด็จมาหาฮาร์ทเนลพร้อมกับขอให้ฮาร์ทเนลออกแบบชุดในวันพระราชพิธีให้ โดยมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับชุดในวันอภิเษกสมรส ซึ่งฮาร์ทเนลก็ใช้เวลาในการศึกษาเกี่ยวพระราชพิธีและออกแบบชุดออกมาเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด
โดยเป็นชุดเดรสจากผ้าซาตินสีขาว ประดับด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำแต่ละประเทศที่อยู่ภายใต้เครือจักรภพบริเตน แสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของสมเด็จพระราชินีนาถผู้ปกครองดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน
📌 ฉากสุดท้ายในชีวิต
ฮาร์ทเนลยังคงออกแบบชุดต่าง ๆ ให้กับควีนเอลิซาเบธอยู่เรื่อยมาโดยได้ร่วมงานกับดีไซเนอร์หลายต่อหลายคนในราชสำนัก ซึ่งดีไซน์เนอร์เหล่านั้นหลายคนก็ได้ออกจากราชสำนักไปสร้างแบรนด์ของตนเองและประสบความสำเร็จมากมาย
แต่ฮาร์ทเนลยังคงเลือกที่จะทำงานให้ราชสำนักตลอดมาจนถึงช่วงครบรอบ 25 ปีการครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถ เขายังคงสร้างคอลเลคชั่นขนาดเล็ก ๆ ขายอยู่บ้างในห้องเสื้อเดิมที่เคยอยู่ แต่ส่วนใหญ่ยังคงทำงานให้กับราชวงศ์จนกระทั่งจากไปในปี 1979
ฮาร์ทเนลนับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคคลากรสำคัญในวงการอุตสาหกรรมการออกแบบสิ่งทอ ซึ่งนิตยสารเดอะไทม์ได้ยกย่องให้เป็นผู้มีอิทธิพลด้านแฟชั่น
และขนานนามว่าเป็น “อัศวินแฟชั่นคนแรกของโลก” จากวีรกรรมที่ทำงานใกล้ชิดกับราชวงศ์ในด้านแฟชั่นจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน
จากเด็กผู้มีความฝันและแรงบันดาลใจจากละครเวทีสู่แฟชั่นดีไซน์เนอร์แนวหน้าของเกาะบริเตน เราไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยว่าเรื่องราวของฮาร์ทเนลนั้นเป็นเหมือนกันเทพนิยายที่พลิกผันชะตาได้อย่างเหลือเชื่ออีกคนหนึ่ง ด้วยทัศนคติที่พยายามไขว่คว้าโอกาสที่มีโดยไม่จมปลักนิ่งเฉย และเป็นคนที่ทำตามความฝันได้และประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชมเลยทีเดียว
Sources:
เครดิตภาพ : National Portrait Gallery, London
โฆษณา