Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
27 ส.ค. 2023 เวลา 12:45 • ศิลปะ & ออกแบบ
Hanae Mori: แบรนด์แฟชั่นระดับโลกจากเอเชียที่เริ่มต้นบนร้านราเม็ง
ชื่อของ “ฮานาเอะ โมริ” สำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์แฟชั่นหรือผู้ที่สนใจในแฟชั่นแล้ว นับว่าเป็นชื่อของแบรนด์และบุคลากรที่สำคัญยิ่งในวงการแฟชั่น โดยนับได้ว่าเป็นชาวเอเชียคนแรกที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งยวดและเป็นผู้สร้างแบรนด์แฟชั่นจากเอเชียแบรนด์แรก
ที่ได้การยอมรับจากสมาพันธ์โอต์กูตูร์และแฟชั่นของฝรั่งเศสให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาพันธ์ และมีมูลค่าแบรนด์สูงกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากสไตล์เสื้อผ้าที่ผสานความเป็นตะวันออกกับตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน
แต่กว่าที่ฮานาเอะ โมริ จะมายืนอยู่ในจุดสูงสุดของวงการแฟชั่นแบบนี้ได้ก็ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มามากไม่น้อย
📌ฮานาเอะกับครอบครัวสมัยนิยม
ฮานาเอะ โมริ หรือ ฮานาเอะ ฟูจิ เกิดในชนบทที่ห่างไกลของญี่ปุ่นในเขตชิมาเนะใกล้กันกับฮิโรชิม่า
เมื่อปี 1926 พ่อของเธอ โทกุโซ ฟูจิ เป็นศัลยแพทย์ ส่วนแม่ของเธอ โนบุ ฟูจิ เป็นแม่บ้านธรรมดาเหมือนอย่างที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็น
แม่ของฮานาเอะเป็นผู้หญิงที่ชื่นชอบในการแต่งตัวเป็นอย่างมาก เธอมักจะสั่งเสื้อผ้าสวย ๆ จากโอซาก้าหรือโตเกียวผ่านแคทตาล็อกสินค้าที่เธอชอบอ่านในยามว่างเว้นจากงานบ้าน
ซึ่งพ่อของฮานาเอะเองก็ไม่ได้ขัดใจภรรยาอีกทั้งยังสนับสนุนความชอบของภรรยาอีกด้วย และเป็นครอบครัวเดียวหมู่บ้านที่นิยมสวมใส่เสื้อผ้าแบบตะวันตกในขณะที่คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านยังคงแต่งตัวกันอย่างชาวญี่ปุ่นในแถบชนบท
ฮานาเอะก็ได้ซึมซับเอาความนิยมในด้านแฟชั่นจากคนในครอบครัวของเธอด้วย ครอบครัวฟูจิได้ย้ายมายังโตเกียวเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้กับลูก ๆ ในเมืองหลวง ฮานาเอะยังคงอยู่ในญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยหลังจากที่ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอเมริกา ฮานาเอะก็ได้ศึกษารูปแบบแฟชั่นของซีกโลกตะวันตกจากเหล่าสาว ๆ ภรรยาของทหารอเมริกันเหล่านั้น
1
และเล็งเห็นว่าเสื้อผ้าแบบตะวันตกนี้แหละที่จะมาครองตลาดญี่ปุ่นในอนาคต
📌สตูดิโอร้านราเม็ง
1
ฮานาเอะโมริจบศึกษาในสาขาวรรณคดีญี่ปุ่นในระดับชั้นมหาวิทยาลัยในปี 1947 สองปีหลังจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา แต่ฮานาเอะก็ไม่ได้เจริญรอยสาขาวิชาที่จบมามากนัก ซึ่งในปีเดียวกันนี้เองฮานาเอะก็ได้แต่งงานกับเจ้าของโรงงานทอผ้านาม เคน โมริ
ด้วยความสนใจดั้งเดิมในแฟชั่นของเธอ เธอก็ได้ขอสามีไปเรียนเกี่ยวกับแฟชั่นและได้เปิดห้องเสื้อเล็ก ๆ ชื่อ ฮิโยชิยะ บนชั้นสองของอาคารร้านราเม็งย่านชินจูกุ ในกรุงโตเกียวราวปี 1951 เธอกับผู้ช่วยอีกสองคนได้ทำงานออกแบบและตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ที่นั่นก่อนที่จะขยับขยายมาอยู่ที่ย่านกินซ่าในปี 1954
ผลงานการออกแบบของฮานาเอะก็ได้ไปเตะตาก็ผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งซึ่งมาวานขอให้ฮานาเอะไปร่วมงานกับเขาในฐานะนักออกแบบชุดของนักแสดง
ฮานาเอะได้ทำงานในด้านคอสตูมนักแสดงเป็นเวลาเกือบ 5 ปี และมีชื่อเสียงจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “อีดิท เฮด (เจ้าแม่คอสตูมภาพยนตร์) แห่งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่น”
📌 โคโค่ ซาแนล
ในปี 1960 ฮานาเอะก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงานแฟชั่นกอปรกับมีลูกน้อยสองคนที่ต้องเลี้ยงดู เธอจึงมีความคิดที่จะวางมือจากวงการไปเสีย
แต่แล้วโชคชะตาก็ทำให้เธอได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งได้ปลุกไฟในด้านแฟชั่นให้กับเธออีกครั้ง
ผู้หญิงคนนั้นก็คือ “โคโค่ ชาแนล” ดีไซน์เนอร์ชาวฝรั่งเศสที่กำลังโด่งดังในขณะนั้น
ฮานาเอะได้พบกับโคโค่ ชาแนลในปี 1961 โดยฮานาเอะเป็นลูกค้าที่สั่งซื้อชุดของชาแนลและได้มีโอกาสพบกัน ซึ่งจากการพบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นในครั้งนี้ทำให้ฮานาเนะได้ศึกษารูปแบบของแฟชั่นฝรั่งเศสและเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เน้นตัดชุดแบบสั่งทำก็ได้หันมาทำเสื้อผ้าแบบ Ready-to-wear เพื่อตอบโจทย์ตลาดเสื้อผ้ามากขึ้น
อีกทั้งเมื่อเธอได้ไปยังนิวยอร์คและพบเห็นกับเสื้อผ้าถูก ๆ ที่บอกว่ามาจากญี่ปุ่นวางขายอยู่ในชั้นล่างของห้างสรรพสินค้าก็ทำให้เธอระลึกได้ว่าเสื้อผ้าเหล่านี้ไม่มีความญี่ปุ่นเลย
เธอจะมีแนวคิดที่จะสร้างเสื้อผ้าญี่ปุ่นให้เป็นที่รู้จักมากกว่านี้โดยการนำมาประยุกต์กับความเป็นตะวันตก เธอกลับมายังญี่ปุ่นพร้อมกับไฟที่ลุกโซนเพื่อนำพาแฟชั่นญี่ปุ่นให้ไปอยู่ในจุดที่สูงที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้
📌ผีเสื้อติดปีกแห่งวงการแฟชั่น
แฟชั่นโชว์แรกของฮานาเอะถูกจัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาในปี 1965 ภายใต้แนวคิด “ตะวันตกพบตะวันออก” ภาพของชุดกิโมโนร่วมสมัยลายผีเสื้อของเธอก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้มหลามและไปสะดุดตานิตยสาร Vogue จนภาพชุดลายผีเสื้อได้ขึ้นปกนิตยสาร Vogue พร้อม ๆ กับทำให้ “ผีเสื้อ” กลายเป็นภาพลักษณ์ของแบรนด์เรื่อยมา
โดยฮานาเอะกล่าวถึงแรงบันดาลใจของผีเสื้อนี้ว่ามาจากอุปรากรของปุชชินีเรื่อง “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของทหารหนุ่มอเมริกันกับสาวญี่ปุ่น
โดยแบรนด์ของฮานาเอะก็ถูกขายตามห้างในอเมริกาจนกระทั่งได้เปิดห้องเสื้อในอเมริกาช่วงปี 1970
โดยตลอดระยะเวลาที่แบรนด์ฮานาเอะโมริได้มายังอเมริกา เธอก็มีลูกค้าหลายรายเช่นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของเหล่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ทั้งแนนซี เรแกน และฮิลลารี คลินตัน รวมไปถึงนักแสดงฮอลลีวูดต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา
📌โอต์กูตูร์เจ้าแรกของเอเชีย
คอลเลคชั่นของฮานาเอะยังคงถูกนำเสนอเรื่อยมาทั้งในแฟชั่นโชว์ที่ลอนดอนปี 1972 หรือในปี 1975 ซึ่งฮานาเอะได้รับเชิญจาก “เกรซ เคลลี่” อดีตนักแสดงฮอลลีวูดผู้ได้กลายมาเป็นเจ้าหญิงแห่งโมนาโกในขณะนั้น รับเชิญให้ไปจัดแฟชั่นโชว์ในโมนาโก และในปีเดียวกันนี้ระหว่างที่กลับจากโมนาโกเธอก็ได้แวะไปจัดแฟชั่นโชว์ในปารีสด้วย
จนกระทั่งในปี 1977 ฮานาเอะก็ได้กลับไปเยือนปารีสอีกครั้งหนึ่ง
แต่ไม่ใช่เพื่อจัดแฟชั่นโชว์ธรรมดาหากแต่เพื่อเปิดห้องเสื้อแห่งแรกของเธอในฝรั่งเศส และจัดแสดงชุดโอต์กูตูร์คอลเลคชั่นแรกของแบรนด์เธอด้วย
ซึ่งในปีนี้เองเธอก็ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในสมาพันธ์โอต์กูตูร์และแฟชั่นของฝรั่งเศส ซึ่งนับว่าเป็นแฟชั่นดีไซน์เนอร์จากเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมในสมาพันธ์
กระทั่งในปี 1985 ฮานาเอะก็ได้มีโอกาสในการออกแบบชุดให้กับอุปรากรเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลายของโรงอุปรากร “ลา สกาล่า” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการผสมผสานความเป็นตะวันตกกับตะวันออกของเธอด้วย โดยเธอก็ได้ออกแบบชุดให้แก่วงการอุปรากรกว่า 150 ชุดด้วยกัน
📌ฮานาเอะ โมริกับการเปลี่ยนผ่านของสังคมญี่ปุ่น
นอกเหนือจากที่โด่งดังในยุโรปแล้ว ธุรกิจของฮานาเอะในญี่ปุ่นเองก็นับว่ามีชื่อเสียงไม่แพ้กัน
ฮานาเอะได้มาเปลี่ยนแปลงแฟชั่นของหญิงชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก จากเดิมที่ช่วงก่อนสงครามผู้หญิงญี่ปุ่นถูกจำกัดให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ก็ได้ออกมาใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปและสามารถออกมาทำงานได้ไม่ต่างกับผู้ชาย
เสื้อผ้าจากเดิมที่ใส่ชุดกิโมโนแบบดั้งเดิมก็เปลี่ยนมาเป็นเสื้อผ้าที่คล่องตัวเคลื่อนไหวสะดวกอย่างตะวันตก
โดยในปี 1967 ฮานาเอะก็ได้รับการจ้างวานให้ออกแบบชุดแอร์โฮสเตสของสายการบินญี่ปุ่น โดยฮานาเอะก็ได้ออกแบบมามากถึง 3 รุ่นด้วยกัน และถูกใช้ติดต่อกันตั้งแต่ปี 1967 จนถึงปี 1988
อีกทั้งยังออกแบบชุดยูนิฟอร์มของทัพนักกีฬาญี่ปุ่นในโอลิมปิกปี 1992 ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน
และโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1994 ที่ลิลแฮมเมอร์ ประเทศนอร์เวย์
นอกจากนี้ในปี 1993 ฮานาเอะเองก็ได้รับเลือกจากว่าที่เจ้าหญิงมาซาโกะ
ให้ออกแบบชุดเจ้าสาวในพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับมกุฏราชกุมารนารุฮิโตะแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นด้วย
ทำให้ฮานาเอะเป็นทั้งดีไซเนอร์ให้แก่เจ้าหญิงแห่งโมนาโกไปพร้อม ๆ กับเป็นดีไซเนอร์กับกับเจ้าหญิงญี่ปุ่นผู้ซึ่งเป็นจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นคนปัจจุบัน
📌เธอผู้เป็นแรงบันดาลใจต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นเอเชีย
ฮานาเอะ โมริ ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับดีไซน์เนอร์ญี่ปุ่นรุ่นใหม่ ๆ กล้าที่จะออกมาตีตลาดในต่างแดนมากขึ้น โดยในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ถึงต้นทศวรรษที่ 1980 มีดีไซน์เนอร์จากญี่ปุ่นที่เข้ามาถึงตลาดในดินแดนแฟชั่นอย่างฝรั่งเศสอยู่หลายเจ้า
ไม่ว่าจะเป็นโยจิ ยามาโมโตะ, เรอิ คาวาคุโบะ, หรือเคนโซ ทาคาดะ ก็ล้วนแล้วแต่ได้อิทธิพลมาจากฮานาเอะ สไตล์ความเป็นตะวันออกจากญี่ปุ่นเป็นที่สนอกสนใจของชาวตะวันตกเป็นอย่างมาก ด้วยสไตล์และลวดลายของเธอทั้งดอกไม้และผีเสื้อถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนโยนอย่างผู้หญิง
ทำให้แฟชั่นผู้หญิงของฮานาเอะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง และกลายเป็นแบรนด์จากเอเชียชั้นนำที่สร้างมูลค่าทางการตลาดมากมาย
และแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นหลังสงครามที่ก้าวกระโดดขึ้นมาทัดเทียมกับประเทศตะวันตกได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น
📌ปิดฉากตำนาน
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แบรนด์ฮานาเอะ โมริก็เผชิญกับปัญหาทางการเงินและหนี้สินหลังจากที่สามีอย่างเคน โมริเสียชีวิตลง ฮานาเอะก็ได้ความช่วยเหลือจากลูกทั้งสองในการพยุงกิจการ แต่แล้วในท้ายที่สุดก็ได้ตัดสินใจที่จะขายสิทธิ์การผลิตให้กับกลุ่มลงทุนของบริษัทมิตซุยที่จับมือกับกลุ่มธุรกิจตระกูลรอธส์ไชลด์ในปี 2002
ฮานาเอะยังคงทำงานอยู่จนถึงปี 2004 หลังจากงานแฟชั่นโชว์ครั้งสุดท้ายของเธอ เธอได้เกษียณตัวเองจากธุรกิจแบรนด์แฟชั่นที่เธอสร้างขึ้นมากับมือและได้รับการสนับสนุนจากสามี และจัดตั้งมูลนิธิเพื่อส่งเสริมเหล่าเยาวชนนักออกแบบและสร้างสรรค์
การเกษียณอายุของเธอนับว่าเป็นอีกหนึ่งการหายไปของบุคลากรในโลกแฟชั่นที่สำคัญ เธอใช้ชีวิตของเธอในวาระสุดท้ายที่บ้านในโตเกียวกระทั่งได้จากไปอย่างสงบในเดือนสิงหาคม ปี 2020 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 96 ปี
แบรนด์ฮานาเอะ โมรินับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการแฟชั่นได้ในระยะเวลาอันสั้นและสามารถแข่งขันกับแบรนด์แฟชั่นจากโลกตะวันตกได้อย่างสมน้ำสมเนื้อและเป็นหนึ่งในตัวอย่างของอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังสงครามจนประสบความสำเร็จในฐานะแบรนด์แฟชั่นแรกจากเอเชียที่เป็นที่รู้จักในระดับสากล
และมีมูลค่ามากกว่าหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ การจากไปของฮานาเอะ โมริก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งการปิดฉากของแบรนด์แฟชั่นที่ใหญ่และเคยโด่งดังเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย โอกาส แรงบันดาลใจ ความชอบ
สามสิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ฮานาเอะ โมริ ประสบความสำเร็จในธุรกิจเสื้อผ้าของเธอได้
โดยเฉพาะ “ความชอบ” ที่นับว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ฮานาเอะ “กล้า” ที่จะนำพาแฟชั่นจากญี่ปุ่นให้ติดปีกโบยบินไปไกลในระดับโลก ดังที่เธอเคยกล่าวเอาไว้ว่า
แฟชั่นเป็นบางสิ่งที่ผลักดันคุณ มอบความกล้าให้กับคุณที่จะกางปีกโบยบินและผจญภัยไปในโลก
ฮานะเอะ โมริ (Hanae Mori)
References :
●
https://www.famousfashiondesigners.org/hanae-mori
●
https://vinvoy.com/blog/hanae-mori-japanese-legend/
●
https://www.theguardian.com/fashion/2022/aug/23/hanae-mori-obituary
●
https://www.vogue.com/article/hanae-mori-obituary
●
https://wwd.com/fashion-news/designer-luxury/hanae-mori-japanese-couturier-obituary-1235299892/
●
https://www.nytimes.com/2022/08/18/obituaries/hanae-mori-dead.html
●
https://www.arabnews.jp/en/features/article_78571/
●
https://www.hanae-mori.com/history_en
เครดิตภาพ : TOSHIFUMI KITAMURA/Getty Images
แฟชั่น
ญี่ปุ่น
ประวัติศาสตร์
1 บันทึก
3
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Bnomics มีเรื่อง "เศรษฐกิจ" มาเล่าให้ชาว Blockdit ได้ฟังกัน Blockdit Originals by Bnomics
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย