1 ต.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

Madame Tussaud : เจ้าแม่หุ่นขี้ผึ้งกับจุดกำเนิดของ “ธุรกิจบ้านผีสิง”

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เดือนตุลาฯ ฮาโลวีน Blockdit Originals by Bnomics เดือนนี้ก็จะขอมาเล่าเรื่องผี ๆ ฮาโลวีนกันบ้าง โดยจะมาในธีมของ "อุตสาหกรรมสยองขวัญ" นั่นเอง
ถ้าพูดถึง “บ้านผีสิง” แล้วล่ะก็ ก็คงมีทั้งคนที่คิดถึงบ้านผีสิงจริง ๆ แบบที่มีผีอยู่ และคนที่คิดถึงบ้านผีสิงแบบที่เป็นธุรกิจสยองขวัญเพื่อความบันเทิง ธุรกิจบ้านผีสิงนั้นสามารถกอบโกยรายได้มากถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และมีธุรกิจบ้านผีสิงทั่วโลกกว่า 2,500 แห่งเลยทีเดียว
แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ต้นกำเนิดธุรกิจบ้านผีสิงนั้น เกิดขึ้นมาจากผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นคนเดียวกันกับผู้ให้กำเนิดพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งที่มีชื่อเสียงที่สุดด้วย
เนื่องในสัปดาห์แรกของเดือนแห่งเทศกาลฮาโลวีนนี้ Bnomics จึงจะขอพาทุกท่านไปเปิดประตูสู่ห้องหุ่นแห่งความสยองขวัญเพื่อไปรู้จักกับ “มาดามทุสโซ” เจ้าแม่แห่งวงการหุ่นขี้ผึ้งผู้ริเริ่มหยิบเอาความสยองขวัญมาทำให้เป็นอุตสาหกรรม
📌หลานมารีย์กับคุณลุงฟิลิปเป
มาดามทุสโซ (ชื่อเดิม: มารีย์ กรอสโฮทซ์) เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปี 1761 ในเมืองสตราบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส โดยหลังจากที่พ่อของเธอเสียชีวิตจากสงคราม แม่ของเธอก็ได้พาเธอย้ายไปอาศัยอยู่เป็นแม่บ้านที่สวิตเซอร์แลนด์ ณ บ้านของคุณหมอท่านหนึ่งผู้ที่จะเปลี่ยนชีวิตของมารีย์ไปตลอดกาล
ฟิลิปเป คูร์เตียส เป็นแพทย์ฝีมือดีผู้ช่ำชองในการปั้นหุ่นขี้ผึ้งเพื่อใช้ในการแพทย์เป็นอย่างมาก ก่อนที่จะวางมือจากการเป็นแพทย์และหันมาเป็นประติมากรผู้รังสรรค์ชิ้นงานจากหุ่นขี้ผึ้งขึ้นมาในภายหลัง ซึ่งเขาก็ได้ถ่ายทอดวิชาการปั้นหุ่นขี้ผึ้งให้กับหนูน้อยมารีย์ ผู้ที่ให้ความนับถือเขาไม่ต่างจากพ่อของเธอ
โดยมารีย์เรียกฟิลิปเป ว่า “คุณลุง” โดยต่อมาฟิลิเปก็ได้ย้ายมายังปารีส และจัดการแสดงผลงานที่นั่น ซึ่งมารีย์ก็ได้ตามมาหาเขาในภายหลัง
ฟิลิปเปได้จัดแสดงนิทรรศการหุ่นขี้ผึ้งขึ้นมาในชื่อ “ห้องแห่งมหาโจร” (Caverne des Grands Voleurs) ซึ่งจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของเหล่าอาชญากรชื่อดังในฝรั่งเศสที่ฟิลิปเปได้ปั้นเอาไว้ ซึ่งห้องแห่งมหาโจรของฟิลิปเปนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้มาดามทุสโซสร้างห้องหุ่นแห่งความสยองขวัญขึ้นมา
📌เซเลบนักปั้นแห่งปารีสท่ามกลางยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ
มารีย์เริ่มชีวิตในฐานะประติมากรนักปั้นหุ่นในปี 1777 โดยผลงานชิ้นแรกของเธอเป็นรูปเหมือนของวอลแตร์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งสามปีหลังจากนั้น ตั้งแต่ปี 1780 มารีย์ก็ได้กลายเป็นประติมากรคนสำคัญที่ปั้นรูปเหมือนให้กับเซเลบริตี้ต่าง ๆ มากมาย ตลอดจนถูกจ้างให้ไปสอนปั้นหุ่นในราชสำนักด้วย
1
โดยในบันทึกของเธอกล่าวว่าราชสำนักชอบเธอมากจนเชื้อเชิญให้เธอไปอาศัยอยู่ในแวร์ซายน์ถึง 9 ปีด้วยกัน ทว่ากลับไม่มีหลักฐานรองรับในส่วนนี้
แต่แล้วในปี 1789 การปฏิวัติฝรั่งเศสก็อุบัติขึ้นมา มารีย์ถูกจับเนื่องจากเคยมีความสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับพระราชวงศ์ และเกือบจะถูกประหารชีวิต แต่แล้วก็ถูกปล่อยตัวในภายหลังจากการช่วยเหลือโดยเพื่อนของลุงฟิลิปเป
1
มารีย์ก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นนักปั้นหุ่นเพื่อหล่อรูปหน้าของผู้ที่ถูกประหารชีวิตสำหรับใช้เป็นแบบในการปั้นหุ่นรูปผู้ตายในอนาคต ซึ่งงานนี้เองที่ทำให้เธอได้รับรู้เกี่ยวกับอีกด้านของมนุษย์ที่ลึก ๆ แล้วชื่นชอบในความความเสียว ลุ้นระทึก และความกลัวกระตุ้นอะดรีนาลีนในฐานะสิ่งบันเทิงใจ
จนกระทั่งในปี 1794 ลุงฟิลิปเปก็ถึงแก่กรรมและทิ้งธุรกิจหุ่นขี้ผึ้งของเขาให้กับมารีย์ ในปีถัดมาเองมารีย์ก็ได้แต่งงานกับฟร็องซัวร์ ทุสโซ นับตั้งแต่นั้นมา มารีย์ก็ถูกเรียกขานว่า “มาดามทุสโซ”
1
📌ห้องหุ่นแห่งความสยองขวัญ
หลังการสิ้นสุดของยุคปฏิวัติฝรั่งเศสและการสงบศึกของสงครามปฏิวัติจากสนธิสัญญาแห่งอาเมียง มาดามทุสโซก็ได้ตัดสินใจเดินทางไปยังลอนดอนเพื่อจัดแสดงชุดคอลเลคชั่นประวัติศาสตร์ของเธอที่ทำมาตลอดช่วงยุคปฏิวัติ
โดยอ้างอิงจากห้องแห่งมหาโจรของฟิลิปเป มาดามทุสโซได้จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งของอาชญากรและผู้เสียชีวิตจากการประหารชีวิตด้วยกิโยติน เป็นห้องจัดแสดงแยกมาจากห้องจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งหลัก
ซึ่งต่อมาก็ได้รับการเชื้อเชิญให้ไปจัดแสดงคู่กับนวัตกรรมของพอล ฟิลดอร์ อย่างเครื่องฉายภาพ ซึ่งทำให้ห้องหุ่นแห่งความสยองขวัญของมาดามทุสโซ เพิ่มระดับความหลอนขึ้นไปอีก
ทั้งจากเหล่าหุ่นขี้ผึ้งเหมือนจริงจากฝีมือการปั้นของมาดามทุสโซและการแสดงแสงสีเสียงของพอล ฟิลดอร์ ทำให้ห้องหุ่นแห่งความสยองขวัญของมาดามทุสโซกลายเป็นความบันเทิงของชาวลอนดอนที่อยากสัมผัสประสบการณ์อันน่าขนลุกนี้
แต่อย่างไรก็ดี เธอไม่ได้มีรายได้จากค่าเข้าชมมากนักจากการร่วมมือกับฟิลดอร์ อีกทั้งยังไม่สามารถกลับฝรั่งเศสได้เพราะภัยสงคราม เธอจึงเดินสายจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้งไปทั่วเกาะอังกฤษ จนท้ายที่สุดก็มาปักหลักและตั้งเป็นนิทรรศการถาวรที่กรุงลอนดอน และห้องแยกที่จัดแสดงหุ่นอันน่ากลัวนั้นก็กลายมาเป็น “ห้องแห่งความสยองขวัญ”
ในแรกเริ่ม ห้องแห่งความสยองขวัญนั้นยังคงจัดแสดงเรื่องราวของผู้ร้ายและเหยื่อจากยุคปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นหลัก แต่ด้วยความที่ชาวอังกฤษนั้นไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสมากนัก เธอจึงได้เริ่มปั้นหุ่นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์บริติชบ้าง เพื่อดึงดูดผู้ชมชาวอังกฤษ
1
ห้องหุ่นแห่งความสยองขวัญของมาดามทุสโซได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ลบและบวก สืบเนื่องจากที่เธอพยายามนำเสนอภาพของบุคคลที่เป็นผู้ร้ายของสังคม แต่ถึงอย่างนั้นมาดามทุสโซก็ยังปั้นชิ้นงานเพื่อมาเพิ่มในคอลเลคชั่นหุ่นขี้ผึ้งของเธออยู่เรื่อย ๆ
1
มาดามทุสโซถึงแก่กรรมในปี 1850 ด้วยวัย 88 ปี กิจการหุ่นขี้ผึ้งได้ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากลุงฟิลิปเปถึงหลานมารีย์ จากมาดามทุสโซถึงลูก ๆ ของเธอ
ธุรกิจหุ่นขี้ผึ้งและห้องหุ่นแห่งความสยองขวัญของมาดามทุสโซนับได้ว่าเป็นธุรกิจแรก ๆ ในโลกที่หยิบยกเอาด้านมืดในจิตใจของมนุษย์มาทำธุรกิจ และยังคงเปิดให้บริการอยู่จนถึงทุกวันนี้
อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจและส่งต่อให้เกิดเป็น “ธุรกิจบ้านผีสิง” ที่ได้กอบโกยรายได้อย่างเรื่อย ๆ จากความชื่นชอบในความระทึกขวัญของมนุษย์เรื่อยมา
ผู้เขียน : ณัฐรุจา งาตา Content Creator, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
อ้างอิง:
โฆษณา