5 พ.ย. 2023 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Yuri Gagarin: สมบัติแห่งโซเวียต ชายผู้อยู่เหนือโลก

อวกาศนับว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ลี้ลับที่น้อยคนนักจะเดินทางไปถึง อีกทั้งยังกว้างใหญ่ไพศาล มืดทึบ และน่ากลัวในคราวเดียวกันไม่ต่างอะไรกับมหาสมุทรบนโลกที่มนุษย์เองก็ยังสำรวจไม่ครบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้มันยากแก่การสำรวจ
อย่างไรก็ดี การพยายามขวนขวายหาทางที่จะสำรวจของมนุษย์นั้นก็นำมาซึ่งการประดิษฐ์คิดค้นต่าง ๆ ในด้านเทคโนโลยีเพื่อท้าทายเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของมนุษย์นี้ต่อจักรวาล
ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่การแข่งขันทางอวกาศ อันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็นที่เอาความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแข่งกัน โดยคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตที่กำลังเรืองอำนาจหลังจากการสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต่างฝ่ายต่างมีกำลังมากมายที่จะทำในสิ่งที่มนุษย์เคยวาดฝันเอาไว้ให้เป็นจริง
ทุกก้าวย่างของสำเร็จทางอวกาศของทั้งอเมริกาและโซเวียตล้วนมีแต่เรื่องราวที่น่าสนใจ ซึ่งก็ได้เป็นแรงบันดาลใจและส่งอิทธิพลให้ชาติอื่นในยุคสมัยต่อมาเริ่มที่จะส่งคนไปอวกาศเพื่อการสำรวจและเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโลกและจักรวาล
ซึ่งในเดือนนี้เอง Bnomics จะพาไปดูประวัติศาสตร์การบินในระดับอวกาศผ่านสารพัดเรื่องราวของเหล่าบุคคลสำคัญในช่วงการแข่งขันทางอวกาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นจุดประกายเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ
โดยจะเริ่มต้นจากแรงงานเด็กผู้ได้ออกนอกโลกไปไขว่คว้าดวงดาวเป็นคนแรกของโลกอย่าง “ยูริ กาการิน” (Yuri Gagarin) กัน
🚀เด็กน้อยผู้รักในการบิน
ยูริ กาการิน เกิดในปี 1934 ที่สโมเลนสก์ ครอบครัวของเขาเป็นแรงงานในฟาร์มของรัฐ โดยพ่อของเขาเป็นช่างไม้ และแม่ของเขาเป็นคนรีดนมวัว โดยกาการินได้เข้าเรียนอยู่ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์บุกโซเวียตของกองทัพนาซี ทำให้โรงเรียนของเขาถูกเผาทิ้ง และกาการินต้องถูกพาตัวมาใช้แรงงานตลอดระยะเวลาที่เมืองของเขาถูกยึดครอง
เมื่อจบสงครามลง ยูริก็ได้เรียนหนังสืออีกครั้งหนึ่งโดยเหล่าครูอาสาต่าง ๆ ซึ่งในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้มีครูสอนเป็นอดีตนักบินของกองทัพ ซึ่งครูคนนี้เองก็เป็นอีกหนึ่งผู้จุดประกายความชอบในวิศวกรรมการบินของกาการิน เขาหลงรักในเครื่องบิน และทำโมเดลเครื่องบินจำลองเล่นกันกับเพื่อน ๆ ของเขา
ในวัย 16 ปี กาการินได้ออกไปทำงานในโรงงานเหล็ก ซึ่งที่นี่เองเขาได้รับการศึกษาในโรงเรียนช่าง โดยเมื่อจบการศึกษาเขาก็ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นในวิทยาลัยเทคนิคอุตสาหกรรมแห่งซาราตอฟ
ซึ่งที่นี่เองที่ทำให้เขาได้เริ่มหัดขับเครื่องบินจริง ๆ กับกลุ่มชมรมเครื่องบินในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่จะมาฝึกกันเพื่อเตรียมพร้อมในการสอบเข้านายร้อยโซเวียต ซึ่งต่อมาเขาก็ได้รับการตอบรับให้ไปเข้าเรียนในโรงเรียนการบินของกองทัพ ที่โอเรนเบิร์ก
หลังจากที่สำเร็จการศึกษา กาการินก็ได้รับราชการในกองทัพโซเวียตไปประจำอยู่ที่มูร์มันสก์ในฐานะนักบินของทัพเรือเหนือ จนกระทั่งปี 1957 ข่าวการปล่อยยานลูนาร์ 3 ได้ทำให้เขาสนใจในอวกาศเป็นอย่างมาก เขาได้รับการแนะนำให้เข้าร่วมในโครงการสำรวจอวกาศของโซเวียตนาม “วอสตอค”
🚀วอสตอค แบบทดสอบสุดหินของนักบินอวกาศ
ที่โครงการวอสตอค กาการินได้รับการทดสอบอย่างหนักทั้งสภาพร่างกายและจิตใจเพื่อให้มีความพร้อมก่อนขึ้นไปสู่อวกาศ โดยแข่งขันกับคนอื่น ๆ อีกนับร้อยคน ก่อนที่จะเหลือเพียงแค่ 20 คนเท่านั้น
เขาได้รับการฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการออกนอกโลกอยู่นานและทำได้ดีมาก จนเพื่อน ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกมาเหมือนกันต่างอยากโหวตให้เขาเป็นคนแรกที่ได้ออกนอกโลกไป
จาก 20 คนก็มีการคัดเลือกอีกครั้งเหลือ 6 คนที่เรียกว่า Vanguard 6 เพื่อรับบททดสอบสุดท้าย พวกเขาทำการสอบอยู่สองวันเต็มทำภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติก่อนที่ผลสรุปจะออกมาว่าให้กาการินเป็นนักบินคนแรกที่พร้อมแก่การออกไปนอกอวกาศเพื่อว่าเขาตัวเล็ก และเข้าไปในยานได้อย่างพอดี
🚀สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น
ในวันที่ 12 เมษายน 1961 ฐานปล่อยยานในคาซัคสถานก็ได้ทำการปล่อยยานอวกาศวอสตอค 1 ขึ้นสู่ฟ้าหลังจากเสียงบอกลาของกาการิน “Поехали!” (ไปได้!)
ยานวอสตอค 1 ถูกยิงขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและลอยเคว้งคว้างโคจรอยู่ราว 108 นาที และกลายเป็นมนุษย์คนแรกที่อยู่เหนือโลกเหนือชั้นบรรยากาศพร้อมกลับมองลงมาดูยังโลกสีฟ้าของเขาจากเบื้องบนดังที่เขาบรรยายถึงโลกว่า
ข้าพเจ้าได้เห็นโลกอันสวยงามจากบนนี้ มนุษย์เอ๋ย จงปกป้องโลกใบนี้และทำให้มันสวยงามขึ้นยิ่งกว่าเดิม อย่าได้ทำลายมัน
ยูริ กาการิน
เมื่อกาการินกลับสู่พื้นโลก เขาก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างมากทั้งจากในโซเวียตเอง และจากคนทั้งโลกในฐานะของมนุษย์อวกาศคนแรก เขาได้รับการอวยยศและชื่อเสียงมากมายในฐานะของวีรบุรุษ และก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาติ
เป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่ประสบความสำเร็จเหนือสหรัฐอเมริกาในการแข่งขันอวกาศ(ก่อนที่อเมริกาจะทำในสิ่งที่เจ๋งกว่า) กาการินได้เดินสายทัวร์รอบโลกเพื่อบอกเล่าประสบการณ์และความสำเร็จในการขึ้นสู่อวกาศนี้ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ บราซิล เซสโกสโลวาเกีย เป็นต้น
โดยหลังจากนั้นกาการินก็ได้ไปอยู่ที่นครดารา(ฐานอวกาศของโซเวียต)และทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยานอวกาศอยู่อีกสักพักใหญ่ เพราะถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกโลกอีกเพราะชาวโซเวียตมองว่าชีวิตของกาการินนั้นล้ำค่าเกินกว่าที่จะเอาไปเสี่ยงอีกแล้ว
🚀โศกนาฏกรรมของวีรบุรุษแห่งอวกาศ
ถึงแม้ว่ากาการินจะถูกห้ามไม่ให้ออกนอกโลกอีกครั้งหนึ่งเพื่อไม่ให้ไปเสี่ยงภัย ทว่าอยู่บนโลกก็ใช่ว่าจะปลอดภัยนัก และแล้วจุดจบของวีรบุรุษอวกาศแห่งโซเวียตก็มาถึงในเดือนมีนาคม ปี 1968 หรือก็คือ 7 ปีหลังจากกลับมาบนโลก
กาการินประสบอุบัติเหตุในขณะที่ซ้อมขับเครื่องบิน โดยเครื่องบินของเขาดิ่งลงพื้นในย่านโนโวสโยโลโวของแคว้นวลาดิมีร์ ซึ่งคาดว่าเกิดจากสภาพอากาศแปรปรวน ความตายของเขานำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจทั่วทั้งโซเวียต
โดยรัฐบาลได้ประกาศไว้อาลัยเขาและตั้งให้วันตายของเขาเป็นวันไว้อาลัยในทุก ๆ ปี ซึ่งเป็นครั้งแรกของโซเวียตที่มีการจัดตั้งวันไว้อาลัยให้แก่คนอื่นที่ไม่ใช่ประมุขของรัฐ โดยอัฐิของกาการินถูกฝังไว้ที่กำแพงเครมลินจนถึงทุกวันนี้
🚀สมบัติแห่งโซเวียต ชายผู้อยู่เหนือโลก
เรื่องราวของยูริ กาการิน นับว่าเป็นอีกฉากหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบุคคลที่เป็นตัวละครผู้มีบทบาทสำคัญในละครที่มีชื่อว่าโลกนี้ วีรกรรมและชื่อเสียงของเขาในการเป็น “คนแรกของโลก” ได้สร้างคุณค่าและเป็นความภาคภูมิใจของโซเวียตที่ยกย่องเชิดชูเขาในฐานะวีรบุรุษและหวงแหนประหนึ่งสมบัติแห่งชาติ
อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของมวลมนุษยชาติที่อยากจะแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อค้นหาและเอาชนะความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งที่พวกเขาไม่รู้จัก ดังที่ยูริ กาการินเคยกล่าวเอาไว้ว่า.
เรื่อง: ณัฐรุจา งาตา Contents Creator, Bnomics
ภาพประกอบ: บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
โฆษณา