3 ก.ย. 2023 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์

ญี่ปุ่น ตอนที่ 5 ขยายแสนยานุภาพ

ยุคเมจิ ตอนที่ 4 พิฆาตพญาหมีขาว
จักรวรรดิญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20 เริ่มส่งสาส์นไปให้กับพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย ขอให้รัสเซียรับรองการยึดครองคาบสมุทรเกาหลีของญี่ปุ่น ส่วนทางญี่ปุ่นจะรับรองอิทธิพลต่างๆของรัสเซียในพื้นที่แมนจูเรีย หรือบริเวณคาบสมุทรเหลียวตง
ทางรัสเซียได้เช่าบริเวณคาบสมุทรเหลียวตง ตรงเมืองมุกเดนก็คือเฉิ่นหยางในปัจจุบัน (มุกเดนเป็นภาษาแมนจู เฉิ่นหยางเป็นภาษาจีน) ถ้าให้กล่าวตรงๆก็คือยึดครองไว้นั้นละครับเพราะรัสเซียเช่าพื้นที่ดังกล่าวไว้ 99 ปี เป็นฐานทัพเรือซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำลึกและเป็นกระแสน้ำอุ่น เรียกพื้นที่ดังกล่าวว่า พอร์ตอาร์เทอร์ (Port Arthur) เป็นดินแดนที่ติดกับรัสเซียตอนใต้อยู่แล้ว
คาบสมุทรเหลียวตง
พระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 มองว่าสาส์นที่จักรวรรดิญี่ปุ่นส่งมานั้น ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะตนเองก็ยึดครองพื้นที่อยู่แล้ว มีอิทธิพลครอบคลุมพอแล้วต้องไปสนใจทำไมจึงปฏิเสธข้อเสนอของทางญี่ปุ่น จักรวรรดิญี่ปุ่น ณ เวลานั้นได้คาดการถึงผลลัพธ์และท่าทีของรัสเซียอยู่แล้ว บวกกับผ่านการเฝ้ามองมานานจนแน่ใจว่า พญาหมีขาวตัวนี้ไม่ระวังตัวและอ่อนแอเต็มที ไม่เหลือแสนยานุภาพอะไรแล้ว
จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ใช้เรื่องการปฏิเสธข้อเสนอของพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 โจมตีพอร์ตอาร์เทอร์ (Port Arthur) อย่างฉับพลัน ในปี ค.ศ.1904 กลายเป็นสงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War) โดยทันที โดยสมรภูมินี้เกิดขึ้นที่จีนกับเกาหลี
โทโง เฮฮาจิโร
ผู้นำกองเรือของญี่ปุ่น คือนักเรียนนายเรือที่เคยได้ไปเรียนนายเรือที่วิทยาลัยราชนาวีกรีนิช ชื่อ โทโง เฮฮาจิโร เขาได้นำกองเรือที่สร้างขึ้นด้วยมือของคนญี่ปุ่น และทันสมัยกว่าของรัสเซียอย่างมาก ทำให้รัสเซียคาดไม่ถึง เพลี่ยงพล้ําอย่างหนัก ทั้งโลกเริ่มเปลี่ยนความคิดที่มีและหันกลับมาจับตามองจักรวรรดิญี่ปุ่นด้วยความไม่ไว้วางใจ
ณ เวลานั้นสถานะของพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟไม่สู้ดีนัก เพราะจะต้องเจอทั้งศึกในและศึกนอก ศึกภายในนั้นคือการที่พระองค์ประกาศสงครามกับประชาชนของตัวเองมานานแล้ว โดยการไม่สนใจราชกิจ ไม่ได้สนใจปัญหาความยากจน ไม่ได้ฟังเสียงปัญหาปากท้องประชาชนของพระองค์ ในราชสำนักก็มีปัญหาเรื่องอิทธิพลของรัสปูติน
เส้นทางการเดินเรือของกองเรือบอลติก เส้นสีแดงจะเป็นเส้นทางที่ผ่านคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ เส้นสีน้ำเงินคือเส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป
ในตอนเริ่มแรกพระเจ้านิโคลัสที่ 2 ตั้งใจจะใช้สงครามเอาชนะญี่ปุ่น ดึงคะแนนนิยมของพระองค์เองให้กลับมา แต่ความพ่ายแพ้ที่พอร์ตอาร์เทอร์ บั่นทอนเสถียรภาพของพระองค์กับราชวงศ์โรมานอฟลงไปอีก ดังนั้นพระองค์ไม่มีทางเลือกอื่นอีกจำต้องใช้กองทัพเรือราชนาวีของพระองค์ จากทะเลบอลติกเดินทางไปที่พอร์ตอาร์เทอร์ ระยะทางเกือบๆ 20,000 กิโลเมตร คือเกือบครึ่งซีกโลก
1
ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามสงครามรัสเซีย–ญี่ปุ่น 2 ปี ทางจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลในพื้นที่คลองสุเอซ ประเทศอิยิป โดยรัฐบาลอังกฤษไม่อนุญาตให้กองทัพเรือราชนาวีของรัสเซียผ่านคลอง ทำให้กองเรือต้องเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปเพิ่มระยะเวลาในการเดินทางขึ้นไปอีก
1
ช่องแคบสึชิมะ แสดงจุดที่เกิดการปะทะ
ที่สุดแล้วกองทัพเรือบอลติกเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุช้ากว่าที่ควรจะเป็น 1 ปีเต็ม ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เหมือนกองทัพเรือบอลติกเดินทางไปเก็บกระดูกของเพื่อนร่วมชาติมากกว่าและอย่างที่ทุกคนคิด จักรวรรดิญี่ปุ่นที่ค่อยอยู่ที่ช่องแคบสึชิมะไม่ได้ต้องเดินทาง ไม่เหนื่อยหรือเพลียอะไร ก็สามารถพิฆาตกองทัพเรือของพญาหมีขาวได้อย่างง่ายดาย
ในปี ค.ศ.1905 รัสเซียยอมแพ้และยินยอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาดำรงตนเป็นกลางที่เมืองพอร์ตสมัทธิ์ เป็นการนั่งโต๊ะเจรจาระหว่างหมีขาวรัสเซีย 1 ในจักรวรรดิที่เคยยิ่งใหญ่กับประเทศที่ไม่เคยอยู่ในสายตาของมหาอำนาจโลกอย่างจักรวรรดิญี่ปุ่น
การเจรจาสนธิสัญญาพอร์ตสมัทธิ์ โต๊ะที่ใช้จัดการเจรจา ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภันฑ์เมจิ-มุระ ในจังหวัดไอชิ
ค.ศ.1905 เป็นปีที่ 38 ในรัชศกเมจิของพระจักรพรรดิมัตสึฮิโตะ ประเทศญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นมาเป็น 1 ในมหาอำนาจของโลก หลังจากนั้นอีก 7 ปี ค.ศ. 1912 พระจักรจักรพรรดิมัตสึฮิโตะสวรรคต ถือเป็นการสิ้นสุดรัชศกเมจิ มกุฎราชกุมารของพระองค์ เถลิงราชบัลลังก์ยามาโตะ พระนามว่าโยชิฮิโตะ ราชศกไทโช เป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นยังคงขยายแสนยานุภาพ
พระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ
ยุคไทโช สู่สงครามโลกครั้งที่ 1
บทบาทของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเข้าร่วมอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรในปี ค.ศ. 1914 มีอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และก็รัสเซีย ในขณะที่มหาอำนาจยุโรปไม่สนใจเอเชียและกำลังติดพันกับสมรภูมิในยุโรป แต่ญี่ปุ่นกลับมองเห็นโอกาสดีจากสงครามในยุโรป ในขณะที่เยอรมันกำลังไปสนใจสงครามยุโรป จักรวรรดิญี่ปุ่นก็ใช้โอกาสเพื่อขยายขอบเขตอิทธิพลของตนในจีนและเอเชียแปซิฟิกอย่างสะดวก
เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบในสงคราม ญี่ปุ่นจึงประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมันเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1914 ญี่ปุ่นได้เป็นพันธมิตรกับสหราชอาณาจักรอังกฤษเข้าโจมตีเมืองชิงเต่าและอาณานิคมเยอรมันในเมืองจีน กองทัพผสมอังกฤษ-ญี่ปุ่นในไม่ช้าก็เข้าไปยึดป้อมปราการชิงเต่าซึ่งเป็นฐานบัญชาการดินแดนอาณานิคมตะวันออกของเยอรมัน (ดินแดนเขตเช่าเยอรมันบริเวณมณฑลซานตง)
อาณานิคมจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
อีกทั้งญี่ปุ่นยังบุกหมู่เกาะต่างๆของเยอรมันที่เป็นดินแดนอาณานิคมเยอรมันในเอเชียอื่นๆ ประกอบด้วย หมู่เกาะมาเรียนา, หมู่เกาะแคโรไลนาและหมู่เกาะมาร์แชลล์ในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิวกินีของเยอรมัน เรียกได้ว่าอาณานิคมของเยอรมันในมหาสมุทรแปซิฟิก โดนจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครองไปหมด
เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 บรรดาชาติมหาอำนาจได้เริ่มประชุมกันเพื่อหาทางออกให้กับโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในการประชุมนั้นได้มีการเชื้อเชิญชาติมหาอำนาจผิวขาว 4 ชาติด้วยกัน ได้แก่ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศษ และอิตาลี มาประชุมร่วมกัน เรียกว่า Council of Four เรียกง่ายๆว่า สภาสี่ โดยมีการพบกันที่แวร์ซาย
ตัวแทนการประชุม จากซ้ายไปขวา: นายกรัฐมนตรี เดวิด ลอยด์ จอร์จ แห่งสหราชอาณาจักร วิตตอริโอ ออร์ลันโดแห่งอิตาลี ฌอร์ฌ เกลอม็องโซแห่งฝรั่งเศส ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา และ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไซอนจิ คิมโมจิ รูปต่อไป
แต่ทั้ง 4 ชาติ ก็ไม่สามารถปฏิเสธแสนยานุภาพของคนตัวเล็ก ผิวเหลือง อย่างจักรวรรดิญี่ปุ่นไปไม่ได้ จึงทำการเชิญญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุมครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คนผิวเหลืองได้รับการยอมรับและสามารถยืนทัดเทียมกับคนผิวขาวได้
จะขอขยายความแสนยานุภาพของจักรวรรดิญี่ปุ่นหน่อยนะครับ ณ ช่วงเวลานั้นจักรวรรดิญี่ปุ่นมีกองทัพเรือใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก จะเป็นรองก็แค่ อังกฤษ กับอเมริกา ถือเป็นผลมาจากการวางรากฐานของรัฐทหารที่เข้มแข็งนับตั้งแต่รัชสมัยเมจิ ปี ค.ศ.1867 จักรวรรดิญี่ปุ่นสามารถต่อยอดการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้ด้วยตัวเอง
บริษัทในกลุ่มไซบัสสึ
ญี่ปุ่นมีอู่ต่อเรือที่ทันสมัยที่สามารถต่อเรือใหญ่ๆ ได้ 4 แห่ง ได้แก่ คุเรจังหวัดฮิโรชิม่า โยโกซูกะที่อ่าวโตเกียวใกล้กับเมืองโอซาก้า อู่ต่อที่มิตซูบิชิและอู่ต่อเรือที่จังหวัดนะงะซะกิ สำหรับบริษัทที่ผลิตเรือรบและเครืองบินรบในยุคต่อมาก็คือ บริษัทในกลุ่มไซบัสสึ ได้แก่ มิตซูบิชิ เฮฟวี่อินดัสตรี่์(Mitsubishi Heavy Industries)และคาวาซากิเฮฟวี่อินดรัสทรีส์ (Kawasaki Heavy Industries)
แม้แสนยานุภาพของจักรวรรดิญี่ปุ่นจะทะยานขึ้นไปเรือยๆ แต่ก็ต้องมาสะดุดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในที่ราบใหญ่คันโตรวมถึงมหานครโตเกียวไปด้วยในปี ค.ศ.1923 เหมือนฝันอันยิ่งใหญ่ของชาวอาทิตย์อุทัยสลายหายไป เพราะความเสียหายนั้นใหญ่หลวงมาก ทุกสิ่งแถบจะต้องสร้างใหม่หมด หลังจากนั้น 3 ปี พระจักรพรรดิโยชิฮิโตะ ราชศกไทโช ได้เสร็จสวรรคต ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคไทโช
ภาพถ่ายแผ่นดินไหวในที่ราบใหญ่คันโต
ภายใต้ความกดดันจากอุปสรรคต่างๆ หล่อหลอมให้สายเลือดของเทพแห่งดวงอาทิตย์(อามาเทราสึ) อดทนและสามัคคีกันก้าวผ่านความลำบากไปให้ได้ ชาวญี่ปุ่นทุกคนเชื่อว่าพวกเขาจะต้องกลับมายิ่งใหญ่ไม่ใช่เท่าเดิมแต่เป็นยิ่งใหญ่กว่าเดิมให้ได้ และไม่สนใจว่าใครหรือดินแดนไหน ดวงอาทิตย์แห่งญี่ปุ่นต้องสาดแสงไปให้ถึงจงได้
ติดตามได้ตอนต่อไป สังหารพญามังกร เด็ดปีกพญาอินทรีย์
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference ญี่ปุ่น ตอนที่ 5 ขยายแสนยานุภาพ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา