11 ก.ย. 2023 เวลา 10:44 • สุขภาพ

แผนไทยDiary ตอน เบญจกูล

ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่กันอย่างสมดุล
หากมีตัวใดแปรปรวนไปก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
ยาที่มีประสิทธิภาพในการบำรุงธาตุนั้นมีหลายตัวมาก
หนึ่งในนั้นคือ พิกัดยาเบญจกูล
เบญจกูลนี้เป็นพิกัดยาซึ่งก็คือ ยาที่ต่างชนิดกันตั้งแต่ 2 สิ่งขึ้นไป แต่มีน้ำหนักที่เท่ากัน มารวมกัน
โดย เบญจ แปลว่า 5 จึงประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด คือ ดี ช้า สะ เจ ขิง
ดี คือ ดอกดีปลี
ช้า คือ รากช้าพลู
สะ คือ เถาสะค้าน
เจ คือ รากเจตมูลเพลิงแดง
ขิง คือ เหง้าขิง
ตามตำราเภสัชกองประกอบนั้น ยาเบญจกูลมีสรรพคุณ บำรุงธาตุในร่างกาย โดยตัวยาแต่ละตัวจะดูแลในธาตุต่าง ๆ คือ
ดีปลี เป็นตัวยาประจำธาตุดิน
ช้าพลู เป็นตัวยาประจำธาตุน้ำ
สะค้าน เป็นตัวยาประจำธาตุลม
เจตมูลเพลิงแดง เป็นตัวยาประจำธาตุไฟ
เหง้าขิง เป็นตัวยาประจำอากาศธาตุ
มีประวัติว่าพระฤาษี 5 ตน บำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า แต่ละตน ต่างก็ได้บริโภคสมุนไพรต่าง ๆ แล้วสามารถรักษาโรคบางอย่างได้ ดังนี้
1️⃣พระฤาษีปัพพะตัง บริโภค ดอกดีปลี
อาจจะระงับอชิณโรคได้ หรือการแพ้ของแสลงต่าง ๆ นั่นเอง
2️⃣พระฤาษีอุธา บริโภค รากช้าพลู
อาจจะระงับอาการเมื่อยขบ จากการนั่งบำเพ็ญเป็นเวสนาน หรือการใช้งานกล้ามเนื้อเกินกำลังได้
3️⃣พระฤาษีบุพเทวา บริโภค เถาสะค้าน
อาจจะระงับเสมหะและวาโยได้ ซึ่งก็คืออาการที่เกิดจากธาตุลมและน้ำในร่างกายที่แปรปรวนไปนั่นเอง
4️⃣พระฤาษีบุพพรต บริโภค รากเจตมูลเพลิงแดง
อาจจะระงับโรคอันบังเกิดแต่ดีได้ โดยความหมายของคำว่าดีทางการแพทย์แผนไทย จะสื่อถึงธาตุไฟ ที่อาจมีปัญหาทำให้ความร้อนในร่างกายมากหรือน้อยลงได้ โดยตัวเจตมูลเพลิงแดงมีฤทธิ์ที่ร้อนจึงแก้ปัญหานี้ได้
5️⃣พระฤาษีมหิทธิธรรม บริโภค เหง้าขิง
อาจจะระงับตรีโทษได้ ซึ่งก็คือ ปิตตะ วาตะ เสมหะ ธาตุไฟ ลม น้ำ นั่นเอง
6️⃣พระฤาษีมุรทาธร รวมสมุนไพร 5 ชนิด เป็นพิกัดเบญจกูล
เมื่อรวมกันแล้วอาจจะระงับ ทวัตติงสาการ คืออาการทั้งหลายที่เกิดจากธาตุดิน 20 ประการ คืออาการที่เกิดจากอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย และธาตุน้ำ 12 ประการ คือ อาการที่เกิดจากของเหลวต่าง ๆ ในร่างกายนั่นเอง
📍อ้างอิงจากคัมภีร์สรรพคุณยา
คัมภีร์แพทย์แผนไทยที่ว่าด้วยเรื่องของสรรพคุณยาสมุนไพรต่าง ๆ
สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ทาง
Facebook, TikTok และ Youtube ได้เลยนะครับ☺️

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา