13 ก.ย. 2023 เวลา 23:00 • การตลาด

Brand Loyalty เครื่องมือที่แข็งแกร่งที่สุดของแบรนด์ Apple

Brand Loyalty หรือ ความภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ หมายถึง พฤติกรรมของลูกค้าที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์นั้นซ้ำ ๆ
โดยไม่ค่อยที่จะสนใจปัจจัยอื่น ๆ เช่น ราคา คุณภาพ หรือแม้แต่บริการของคู่แข่ง
ความภักดีต่อแบรนด์เกิดจากปัจจัยหลายประการ เช่น คุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ประสบการณ์การใช้งาน ความพึงพอใจ และกลายมาเป็นความเชื่อมั่นในแบรนด์
แต่ในบทความนี้เราจะมาบอกเล่าในกรณีของแบรนด์ Apple กัน
จากการเปิดตัว iPhone 15 ที่ผ่านมา ซึ่งการเปิดตัวครั้งนี้เป็นครั้งที่ได้รับความคาดหวังจากทั้งนักลงทุนและผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก
เพราะเป็นครั้งที่ทุกคนต่างเฝ้ารอ เพื่อหวังที่จะเห็นการอัปเกรดใหม่ๆ จากที่ใน iPhone 14 ที่แทบไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปจาก iPhone 13 เลย
และก็อย่างที่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ iPhone 15 ในการเปิดตัว ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ ในส่วนของ iPhone 15 รุ่นปกติก็แทบไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปจาก iPhone รุ่นก่อนเลย
iPhone 15 และ iPhone 15 Plus นั้นมีการอัปเกรดเป็นชิป A16 Bionic เป็นชิปเดียวกับที่ใช้ใน iPhone 14 Pro แต่ยังไม่รองรับฟีเชอร์ Always on Display ที่มีในเฉพาะรุ่น Pro ขึ้นไปเท่านั้น
ซึ่งหากต้องการการเปลี่ยนแปลงหน่อย คงค้องไปดูในส่วนของ iPhone 15 Pro และ iPhone 15 Pro Max ที่มีการอัปเกรดเป็นชิป A17 Bionic ขนาด 3nm ที่ Apple ได้เคลมว่า แรงขึ้น 10% ในด้าน CPU และ 20% ในด้าน GPU
และมีขอบเครื่องที่บางลง เปลี่ยนวัสดุเป็น Titanium ผสมโลหะที่มักใช้ในอุตสาหกรรมอวกาศ มีการอัปเกรดเซนเซอร์ของกล้องให้ดีกว่าเดิม และปุ่มเปิด-ปิดเสียง ที่ใช้เทคโนโลยีเหมือนกับใน Apple Watch Ultra
และกล้อง Telephoto ที่สามารถซูมได้เพิ่มขึ้น 5x ในส่วนของ iPhone 15 Pro Max และสามารถซูมได้เพิ่มขึ้น 3x ในส่วนของ iPhone 15 Pro
แต่อย่างที่รู้กันว่าการอัปเกรดที่เหมือนกับการกักนี้ Apple นั้นได้ทำอะไรแบบนี้มานานแล้ว
อย่างเรื่องการเปลี่ยนมาใช้พอร์ตชาร์จ USB-C ที่หลายๆคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่เปลี่ยนมันสักที ถ้า Apple ไม่ได้โดน EU กดดันเรื่องนี้พวกเขาจะเปลี่ยนมาใช้ พอร์ตชาร์จ USB-C มั้ย
ซึ่งไม่ใช่ว่า Apple ไม่รู้ว่าพวกเขาควรที่จะมีการอัปเกรดใหม่ๆ ตลอด
แต่มันก็คือกลยุทธ์การตลาดของพวกเขาเอง เพราะหากเราสังเกตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ iPhone จะไม่ได้มีการอัปเกรดครั้งใหญ่บ่อยนัก แต่ Apple ก็ยังคงขาย iPhone ได้อย่างมากมายมหาศาลอยู่ดี
จุดแข็งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลย นั่นก็คือ "Brand Loyalty หรือ ความภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์" ที่เรียกได้ว่าหากเราจะหาแบรนด์อะไรที่จะมาสู้เรื่องนี้กับ Apple แล้ว คงจะหาได้ยากเลยทีเดียว
ความแข็งแกร่งนี้ Apple ได้มันมาได้ยังไงคงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ในปี 1984 ที่ Apple ได้เปิดตัว Macintosh ที่เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกที่ใช้กราฟิกแบบจุดหรือกราฟิกแบบแรสเตอร์ (Raster graphics) เป็นกราฟิกที่เกิดจากการเรียงตัวของจุดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า พิกเซล (Pixel) จนกลายเป็นภาพ
ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานหรือโต้ตอบกับคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น โดยใช้เมาส์แทนคีย์บอร์ด
Macintosh ยังเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการจากทั่วโลกได้อีกด้วย
หรือจะเป็นในปี 2001 ที่ได้เปิดตัว iPod เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลเครื่องแรกของ Apple ที่ได้ออกมาท้าชนกับเจ้าตลาดอย่าง Sony Walkman ของ Sony และได้ชนะไปอย่างสวยงามในตลาดสหรัฐฯ
และในปี 2007 ซึ่งหลายๆคนยกให้เป็น "ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่" ของ Apple
ด้วยการเปิดตัว iPhone ที่เป็น "สมาร์ทโฟนเครื่องแรก" ที่มีหน้าจอสัมผัสแบบเต็มจอและอินเทอร์เฟซผู้ใช้แบบสัมผัส รวมถึงการออกแบบที่ดูมีสไตล์และทันสมัย
นวัตกรรมนี้ได้ปฏิวัติอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้ iPhone แตกต่างจากคู่แข่งและกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ซึ่งไม่เพียงแต่ iPhone เท่านั้น แต่ Apple ได้สร้างเหตุการณ์แบบนี้อีกหลายต่อหลายครั้ง อย่าง iPad ในปี 2010 ที่หลายๆคนก็ยกให้มันเป็นแท็บเล็ตเครื่องแรกที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์
หรือ Apple Watch เปิดตัวในปี 2015 ที่ถึงแม้จะไม่ใช่นาฬิกาอัจฉริยะเครื่องแรกที่มีหน้าจอสัมผัสในตลาดก็ตาม แต่มันก็เสริมความแข็งแกร่งให้ Apple ได้ไม่น้อย
หลายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างภาพลักษณ์ "ความเป็นผู้นำนวัตกรรม" ที่เด่นชัดให้แก่ Apple ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ซึ่งก็ไม่ใช่แต่ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำนวัตกรรมของ Apple เท่านั้นที่ส่งเสริม Brand Loyalty กลยุทธ์อีกหลายอย่างก็ทำให้ Brand Loyalty ของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้นด้วยเช่นกัน
ไม่ว่าจะเป็นการ "ตั้งราคาที่สูง" โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนมักคิดว่าสินค้าที่ราคาแพงกว่ามักจะมีคุณภาพดีกว่า สินค้าที่มีราคาแพงมักทำจากวัสดุที่มีคุณภาพดีกว่า ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า
และผ่านการทดสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดกว่า สิ่งนี้ทำให้ผู้คนเชื่อว่าสินค้าราคาแพงจะใช้งานได้นานกว่า ทนทานกว่า และทำงานได้ดีกว่าสินค้าราคาถูก
ไม่เพียงแต่ในเรื่องคุณภาพเท่านั้น แต่การตั้งราคาที่สูงนั้นเป็นการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่แม้ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็สามารถเป็นสินค้า Luxurious ได้เหมือนกัน
ความ Luxurious ของผลิตภัณฑ์จาก Apple ที่เกิดขึ้นนี้มันยังถูกใช้เป็น "วัตถุนิยม" เพื่อให้ใครหลายคนได้รับการยอบรับจากสังคม
ด้วยราคาที่สูงของมันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้ง แค่คุณใส่เสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้าแตะ แต่คุณถือ iPhone รุ่นล่าสุด คุณก็ดูเป็น "ผู้มีอันจะกิน" แล้ว
2
สิ่งที่ส่งเสริม Brand Loyalty ของ Apple ยังรวมถึงการที่ผลิตภัณฑ์ของ Apple สามารถที่จะเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์อื่นๆของ Apple และใช้งานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
หากสังเกตคนรอบตัวที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Apple หากเขามี iPhone และ iPad ถ้าเขาคนนั้นจะซื้อโน๊ตบุ๊ค Macbook ก็คงอยู่ในตัวเลือกของเขาแน่นอน
เหตุผลทั้งหลายเหล่านี้ทั้งตำแหน่งผู้นำนวัตกรรม กลยุทธ์ทางการตลาด การใช้ประโยชน์จากการอยากได้รับการยอมรับ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของระบบ
ได้สร้างความภักดีที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ได้อย่างแข็งแกร่งและยอดเยี่ยม
จึงไม่น่าแปลกใจเลย หากเราจะเห็นว่าแม้ Apple จะชอบกักสเปกผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่ก็ยังมีคนที่ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์นั่นมาครอบครอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา