4 ต.ค. 2023 เวลา 23:00 • การตลาด

บริษัททั่วโลกกำลัง "เพิ่มงบการตลาด" บนแอปมือถือ แม้พวกเขาเผชิญกับวิกฤตการเงิน

แม้ว่าปัจจุบันทั่วโลกกำลังเกิดวิกฤติทางการเงิน อย่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อ
แต่อีกด้านหนึ่งบริษัทต่างๆ ทั่วโลกต่างก็พากันเพิ่มงบประมาณทางการตลาด บนแอปในอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างโทรศัพท์มือถือ
สิ่งนี้อาจดูขัดกับความจริง เพราะเมื่อพวกเขาเผชิญกับวิกฤติทางการเงิน การลดงบประมาณในส่วนต่างๆ เพื่อประครองบริษัทคือสิ่งที่เรามักคิดว่าพวกเขาจะกระทำ
แต่ทำไมกัน ทำไมบริษัทต่างๆทั่วโลกถึงกำลังเพิ่มงบประมาณทางการตลาด บนแอปโทรศัพท์มือถืออย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้จะมาบอกเล่าให้ได้รู้กัน
ปัจจุบันด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯที่อยู่ที่ประมาณ 5.25-5.50% อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ขัดขวางการทำการตลาดในแง่ต้นทุน นักการตลาดทั่วโลกพวกเขาจึงได้มีการหันมาใช้ การตลาดหรือโซลูชั่นที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
พูดง่ายๆ คือ พวกเขาหันมาใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการตลาดกันมากขึ้น และส่วนหนึ่งได้รับแรงส่งจากเทคโนโลยี Machine Learning (ML)
โดยข้อมูลที่จะนำมาบอกเล่าในครั้งนี้เป็นข้อมูลจากงานวิจัยที่ Moloco กับ Ipsos ซึ่งทั้งสองเป็นบริษัทวิจัยอิสระและให้คำปรึกษาธุรกิจชั้นนำ ร่วมมือกับผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่รับหน้าที่ดูแลระบบเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือของบริษัทจำนวน 1,675 คน ใน 9 ประเทศ
ได้แก่ ฝรั่งเศษ(207) เยอรมนี(190) อินโดนีเซีย(154) ญี่ปุ่น(100) สิงคโปร์(184) เวีนดนาม(169) เกาหลีใต้(146) สหราชอาณาจักร(225) และสหรัฐฯ(300)
ตามรายงานระบุว่า บริษัทที่สำรวจส่วนใหญ่กว่า 64.7% พวกเขามีการเพิ่มงบประมาณการตลาดบนแอปมือถือในปี 2023 โดยคิดเฉลี่ยจากผู้ร่วมวิจัยทั้งหมดเพิ่มงบประมาณขึ้นประมาณ 25.7% เมื่อเทียบรายปี
ซึ่งการเพิ่มขึ้นนี้ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม อย่างเช่น การเงิน ไอที ท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และอื่นๆ
  • การเพิ่มงบการตลาดบนมือถือของบริษัทที่สำรวจแบ่งตามประเทศ
รูปภาพของ Moloco
  • การเพิ่มงบการตลาดบนมือถือของบริษัทที่สำรวจแบ่งตามอุตสาหกรรม
รูปภาพของ Moloco
จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่า บริษัทส่วนใหญ่ที่ร่วมมือในงานวิจัยและตอบแบบสอบถามมีการเพิ่มงบการตลาดบนมือถือ
ตัวอย่างเช่น บริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมวิจัยกว่าครึ่งหนึ่ง บอกว่าพวกเขามีการเพิ่มงบการตลาดบนมือถือ และบริษัทอินโดนีเซียที่กว่า 81.8% ของบริษัทที่ร่วมวิจัยบอกว่าพวกเขามีการเพิ่มงบการตลาดบนมือถือ
หากแบ่งตามอุตสาหกรรม บริษัทอีคอมเมิร์ซที่ร่วมวิจัยกว่า 74.4% บอกว่าพวกเขามีการเพิ่มงบการตลาดบนมือถือ และบริษัทให้ความบันเทิงที่ร่วมวิจัยกว่า 50% บอกว่าพวกเขามีการเพิ่มงบการตลาดบนมือถือ
นอกจากเทคโนโลยี Machine Learning (ML) ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือ พวกเขามองว่า การตลาดเชิงประสิทธิภาพหรือการใช้ข้อมูลมาการวิเคราะห์ นั้นให้ผลที่ดีในระยะสั้นกว่า การตลาดแบบแบรนด์(Brand Marketing) ที่่มุ่งเน้นการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคในระยะยาว
  • แบบสอบถามสาเหตุที่บริษัทที่ร่วมวิจัยมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาด
รูปภาพของ Moloco
  • 60.0% พวกเขาคาดว่าการตลาดเชิงประสิทธิภาพจะผลักดันการเติบโตของรายได้มากกว่าการตลาดของแบรนด์
  • 44.0% พวกเขาคาดว่าการตลาดเชิงประสิทธิภาพจะผลักดันให้เกิดผลกำไรมากกว่าการตลาดของแบรนด์
  • 26.0% การตลาดของแบรนด์ไม่มีประสิทธิภาพในช่วงที่เศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบัน
  • 24.0% การตลาดที่มุ่งเน้นลูกค้าสัมพันธ์ไม่มีประสิทธิภาพ
  • 24.0% พวกเขาไม่พอใจกับผลลัพธ์ของแคมเปญการตลาดแบรนด์ในปีที่แล้ว
แล้วทำไมพวกเขาถึงใช้การตลาดเชิงประสิทธิภาพ บนแอปในอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างโทรศัพท์มือถือกัน
อย่างที่รู้กันดีว่าโทรศัพท์มือถือนั้นเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของร่างกายคนเราในปัจจุบันไปแล้ว
พวกเราใช้งานโทรศัพท์มือถือร่วมกับทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะการสื่อสาร การเงิน การเรียนรู้ ธุรกิจ การตลาด และอีกมากมายที่ทำผ่านโทรศัพท์มือถือ
โทรศัพท์มือถือจึงกลายเป็นเครื่องมือชั้นดี ที่ใช้สำหรับเก็บข้อมูลผู้บริโภคและทำการตลาดนั่นเอง
โดยงานวิจัยก็ได้มีการสอบถามเรื่องนี้กับบริษัทที่ร่วมวิจัย
  • แบบสอบถามสาเหตุที่บริษัทที่ร่วมวิจัยเลือกการตลาดบนแอปมือถือ
รูปภาพของ Moloco
  • 40.9% พวกเขาสามารถรับผู้ใช้ใหม่ได้จำนวนมากขึ้น
  • 24.2% พวกเขาสามารถรับผู้ใช้ใหม่ที่คุณภาพสูงได้มากขึ้น
  • 12.0% ROAS (Return on Ad Spend) หรืออัตราส่วนผลตอบแทนจากการลงทุนทางการตลาดดีขึ้น
  • 7.9% พวกเขาสามารถวัดประสิทธิภาพได้แม่นยำยิ่งขึ้น
  • 5.2% พวกเขาสามารถรักษาฐานผู้ใช้ได้เพิ่มขึ้น
  • 5.1% พวกเขาสามารถขยายการเข้าถึงผู้ใช้ไปยังช่องทางต่างๆได้หลากหลายขึ้น
  • 2.5% มีตัวเลือกการกำหนดเป้าหมายที่หลากหลาย
จากแบบสอบถามนี้แสดงให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่พวกเขาเลือกการตลาดบนแอปมือถือ เพราะมันทำให้พวกเขาได้ผู้ใช้หรือผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆเป็นจำนวนมากขึ้น
ในงานวิจัยยังได้สอบถามความพึงพอใจของหัวข้อนี้ โดยแบ่งตามประเทศและอุตสาหกรรมอีกด้วย
  • แบบสอบถามความพึงพอใจการตลาดบนแอปมือถือของบริษัทที่ร่วมวิจัย
รูปภาพของ Moloco
รูปภาพของ Moloco
งานวิจัยนี้ยังพูดถึงเกี่ยวกับเทคโนโลยี Machine Learning (ML)
Machine Learning (ML) คือ การเรียนรู้ของเครื่อง เป็นสาขาหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใช้ข้อมูลเพื่อสอนคอมพิวเตอร์ให้ทำงานอย่างชาญฉลาด โดยไม่ต้องถูกโปรแกรมอย่างชัดแจ้ง
Machine Learning (ML) ทำงานโดยให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้จากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ คอมพิวเตอร์จะวิเคราะห์ข้อมูลและหารูปแบบที่ซ่อนอยู่ ซึ่งสามารถใช้ในการทำนายหรือตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูลใหม่ได้
อธิบายง่ายๆ ก็คือ ใส่ข้อมูลลงไปแล้วให้มันไปศึกษาเองนั่นแหละ
ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้สอบถามบริษัทที่ร่วมวิจัย ว่าหากเลือกใช้การตลาดบนแอปมือถือ พวกเขาให้ความสำคัญกับอะไร
รูปภาพของ Moloco
Machine Learning (ML) และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นสิ่งที่บริษัทที่ร่วมวิจัยกว่า 37% ให้ความสำคัญมากที่สุดกว่าปัจจัยอื่นๆ
รองลงมาเป็นความสามารถในการเข้าถึงผู้ใช้หรือผู้บริโภคในวงกว้างทั่วโลก 23.1%, ความสามารถในการเข้าถึงผู้ใช้หรือผู้บริโภคคุณภาพสูง 18.1%, ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพ 8.5% และอื่นๆอีก 13.4%
และก็ได้สอบถามถึงการให้ความสำคัญ โดยแบ่งตามประเทศและอุตสาหกรรม
  • การให้ความสำคัญโดยแบ่งตามประเทศ
รูปภาพของ Moloco
  • การให้ความสำคัญโดยแบ่งตามอุตสาหกรรม
รูปภาพของ Moloco
ข้อมูลงานวิจัยได้ลงลึกไปในเชิงเทคนิคมากขึ้น โดยได้สอบถามบริษัทที่ร่วมวิจัย ว่าบริษัทต่างๆให้ความสำคัญกับตัวชี้วัด (KPI) ใดบ้าง เมื่อพวกเขาเลือกใช้การตลาดบนแอปมือถือ
รูปภาพของ Moloco
KPI ตัวเลือกแรกๆที่บริษัทต่างๆ ใช้สำหรับการตลาดด้านประสิทธิภาพแอปบนมือถือ
  • 35.6% ARPU (รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้)
  • 23.3% CAC (ต้นทุนการจัดหาลูกค้า)
  • 13.7% CPA (ต้นทุนต่อการดำเนินการ)
  • 10.9% CPC (ต้นทุนต่อการคลิก)
  • 4.9% CPI (ต้นทุนต่อการติดตั้งแอปหนึ่งครั้งบนอุปกรณ์ของผู้ใช้)
  • 4.1% CVR (เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าชมแอปพลิเคชันที่ดำเนินการตามเป้าหมายที่ต้องการ)
  • 7.6% อื่นๆ (CPM, ROAS, LTV)
  • การให้ความสำคัญตัวชี้วัด (KPI) โดยแบ่งตามประเทศ
รูปภาพของ Moloco
  • การให้ความสำคัญตัวชี้วัด (KPI) โดยแบ่งตามอุตสาหกรรม
รูปภาพของ Moloco
ซึ่งอุตสาหกรรมเกมและอีคอมเมิร์ซ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการตรวจสอบ KPI เพื่อวัดผลการตลาดบนแอปมือถือบ่อยครั้งที่สุด
รูปภาพของ Moloco
และบริษัทในเยอรมนีและสหรัฐฯ เป็นบริษัทที่มีการตรวจสอบ KPI เพื่อวัดผลบ่อยครั้งที่สุด
รูปภาพของ Moloco
โดยสรุปแล้ว จากงานวิจัยที่จัดทำโดย Moloco และ Ipsos ที่ร่วมมือกับผู้จัดการฝ่ายการตลาดใน 9 ประเทศ กว่า 1,675 คน
พบว่ากว่า 64.7% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัยมีการเพิ่มงบประมาณการตลาดบนแอปมือถือ โดยมีอินเดียและสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซและไอที ที่มีการเพิ่มงบประมาณมากที่สุด
และ 60.0% ในพวกเขาคาดว่าการตลาดเชิงประสิทธิภาพ จะผลักดันการเติบโตของรายได้มากกว่าการตลาดของแบรนด์
การตลาดบนแอปมือถือเป็นช่องทางที่พวกเขาเลือก โดยกว่า 40.9% ในพวกเขาให้เหตุผลว่าสามารถรับผู้ใช้ใหม่หรือผู้บริโภคได้จำนวนมากขึ้น
และพวกเขามองว่า Machine Learning (ML) และ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยพวกเขาในด้านนี้
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกมและอีคอมเมิร์ซ ที่ให้ความสำคัญ ML และ AI มากที่สุด
ในด้านผลลัพธ์ของการตลาดตัวชี้วัดที่ผู้ร่วมวิจัยให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ARPU (รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้) รองลงเป็น 23.3% CAC (ต้นทุนการจัดหาลูกค้า)
อย่างไรก็ดี หากอ้างอิงจากข้อมูลงานวิจัยแล้วประเทศอินเดียดูจะเป็นประเทศที่มีแนวโน้มที่ดีในการทำการตลาดบนแอปมือถือมากที่สุด อาจเนื่องด้วยการเติบโตของประชากรและรายได้ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
และอุตสาหกรรมเกมและอีคอมเมิร์ซ ดูจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันในการทำการตลาดบนแอปมือถือที่รุนแรงที่สุด
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วน ในช่วงเวลาหนึ่งของงานวิจัยมานำเสนอเท่านั้น เพื่อนๆหรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตัวเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา