22 ก.ย. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

EP.13: สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุน โดย บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) – กันยายน 2566

Monthly Investment Insights for AIA Unit Linked by AIAIMT – September 2023
สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุน สำหรับ AIA Unit Linked โดย บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) – กันยายน 2566
📌 ภาพรวมตลาดในเดือนที่ผ่านมา – ปัญหาอสังหาจีนส่อแววกระทบเศรษฐกิจโลก ขณะเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
- ภาวะตลาดโดยรวมในเดือนสิงหาคม ถูกกดดันจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน หลังจากช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลจีนใช้นโยบายที่รัดกุมเพื่อควบคุมหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบขยายวงกว้างไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของจีน และอาจรวมไปถึงเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปได้
- แม้ในช่วงต้นเดือนกันยายน ทางการจีนเริ่มมีมาตรการช่วยเหลือด้วยการยกเลิกนโยบายควบคุมบางส่วนออกไป ประกอบกับทางธนาคารกลางจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังประเมินว่ายังไม่เพียงพอที่จะทำให้ภาคอสังหาฯ และเศรษฐกิจโดยรวมของจีนกลับมาฟื้นตัวได้
- ด้านเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนของภาคเอกชนเป็นหลัก ส่วนภาคการส่งออกยังคงหดตัวลงตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การจัดตั้งรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จ และการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ คาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า
- ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนสิงหาคม ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (+0.55% MoM, +0.88% YoY) ตามราคาน้ำมัน, พืชผัก, ผลไม้ที่ปรับตัวขึ้นตามอุปทานที่ปรับลดลงจากผลกระทบของ El Nino
แม้ตัวเลขเงินเฟ้อยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ ธปท. มองว่ายังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะปรับสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า ตามการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จึงยังมีโอกาสที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในเดือนกันยายน เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่สมดุลกับการเติบโตและความเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะยาว
📌 ตลาดตราสารหนี้ :
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับเพิ่มขึ้นแรงในช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนสิงหาคม ตามการเคลื่อนไหวของตลาดตราสารหนี้โลก ประกอบกับความกังวลต่ออุปทานของพันธบัตรรัฐบาลที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต
ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พร้อมขับเคลื่อนนโยบายอัดฉีดเศรษฐกิจซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0.16% ปิดที่ระดับ 2.77% ในส่วนของหุ้นกู้ภาคเอกชน ส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (credit spread) อายุ 5 ปี อันดับความน่าเชื่อถือ A ปรับลดลงเล็กน้อย 0.01% ปิดที่ 1.24%
- อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 0.15% ปิดที่ระดับ 4.11% แม้การจ้างงานและเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงมาบ้างแล้ว แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดีในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยืนยันที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไป จนกว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมายได้สำเร็จ โดยปัจจุบันตลาดมองว่า Fed มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนพฤศจิกายน ไปอยู่ที่ระดับ 5.50%-5.75% ก่อนจะปรับลดลงในช่วงกลางปี 2024
📌 ตลาดตราสารทุน :
- SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม ปิดที่ระดับ 1,566 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.6% (หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า) ตอบรับข่าวดีหลังจากที่ประชุมรัฐสภามีมติเลือกนาย เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมเร่งจัดตั้งคณะรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงคาดหวังว่าการเบิกจ่ายงบประมาณฯ ปี 2567 จะทันกำหนดในเดือนตุลาคมนี้ และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่
อาทิ เงินดิจิทัล 10,000 บาท; การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ; การส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านมาตรการยกเว้นวีซ่า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้มีแรงซื้อคืนของนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม
📌 มุมมองการลงทุน
มุมมองการลงทุนตราสารหนี้ :
AIA Investments แนะนำให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้มากกว่าตัวชี้วัด โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบกับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีโอกาสปรับตัวลดลงในช่วงท้ายปี
แม้ในระยะสั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอาจจะมีโอกาสปรับขึ้นต่อได้บ้าง จากอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลที่อาจเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการใช้จ่ายของภาครัฐฯ แต่อัตราผลตอบแทนที่อยู่ระดับสูง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ใกล้ระดับสูงสุดแล้ว ทำให้เป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อตราสารหนี้เพื่อการลงทุนระยะยาว
มุมมองการลงทุนตราสารทุน :
- มุมมองการลงทุนหุ้นในตลาดต่างประเทศ : ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงในเดือนสิงหาคม นำโดยตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง (CSI300 -6.2%, HSKI -8.5%) ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติภาคอสังหาฯ และเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวล่าช้า ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ (DJIA -2.4%, Nasdaq -2.2%) ถูกกดดันจาก Fitch Rating ปรับลด Credit Rating ระยะยาวของสหรัฐฯ และอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารสหรัฐฯ
ทั้งนี้ AIA Investments คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัว สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ยังปรับสูงขึ้น (โดยเฉพาะต้นทุนพนักงาน) ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จึงยังคงแนะนำให้ระมัดระวังการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ
- มุมมองการลงทุนหุ้นในตลาดไทย: ประเมิน SET Index ในเดือนกันยายน น่าจะฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังมีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้กลับมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความชัดเจนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แนวโน้มเศรษฐกิจในจีน และทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก
📌 คำแนะนำการลงทุน
ตราสารทุน : รักษาวินัยการลงทุน สะสมการลงทุนในตราสารทุนเพื่อเป้าหมายการลงทุนระยะยาว โดยทยอยปรับสัดส่วนการลงทุนเข้าสู่เป้าหมายระยะยาว
ตราสารหนี้ : ตลาดยังมีความผันผวนสูง ควรรักษาสภาพคล่องเพื่อหาจังหวะทยอยลงทุนในตราสารทุน ในขณะเดียวกัน ยังควรถือตราสารหนี้เพื่อจำกัดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน
แหล่งข้อมูล: “สรุปภาวะตลาดและมุมมองการลงทุนประจำเดือนกันยายน 2566” โดย AIA Investments และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย) ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566
ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป ผู้ใช้ต้องใช้ความระมัดระวังด้วยวิจารณญาณและรับผิดชอบในความเสี่ยงต่างๆ ด้วยตนเอง
เริ่มวางแผนการเงินระยะยาว กับบริการผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแลการลงทุน AIA InvestPro และ บลจ. เอไอเอ (ประเทศไทย)
ผ่านกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน เอไอเอ ยูนิต ลิงค์ ที่เหมาะกับคุณได้แล้ววันนี้
ติดต่อตัวแทน เอไอเอ หรือดูรายละเอียดได้ที่ : https://www.aia.co.th/th/our-products/save-invest/unit-linked
คำเตือน:
• ผู้ขอเอาประกันภัยควรทำความเข้าใจรายละเอียด เงื่อนไข ความคุ้มครองและข้อยกเว้นก่อนตัดสินใจทำประกันภัย รวมทั้งศึกษาทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
• ข้อกำหนดและเงื่อนไขของความคุ้มครองจะระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้กับผู้ถือกรมธรรม์
• การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา