22 ก.ย. 2023 เวลา 22:11 • สิ่งแวดล้อม
สกลนคร

เห็ด คือ “ซอฟต์พาวเวอร์” การดำรงชีพ

คุณชอบนำ “เห็ด” มาประกอบอาหารใช่ไหม ผมรู้สึกว่าอาหารเมนู ต้ม ผัด แกง ทอด แม่ครัว-พ่อครัว จะนำเห็ดมาเป็นวัตถุดิบเตรียมอาหารด้วย อาจเป็นเพราะราคาถูกและหาได้ตามป่าชุมชน พร้อมทั้งมีสรรพคุณทางอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีโปรตีนสูง มีสารกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และมีสารช่วยชะลอวัย เป็นสิ่งที่มีชีวิตอยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน
2
สมาคมวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย (สวทช-2564) ได้รวบรวมข้อมูลการผลิตเห็ดในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 120,000 - 150,000 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 9,000 ล้านบาท ด้านการบริโภคเห็ดปริมาณมากในประเทศไทย ได้แก่ เห็ดฟาง ร้อยละ 55 เห็ดสกุลนางรม ร้อยละ 20 เห็ดหูหนู ร้อยละ 12 เห็ดเข็มทอง เห็ดลม เห็ดแครง ร้อยละ 10 และเห็ดหอม ร้อยละ 3 (ไม่รวมเห็ดที่หาได้จากธรรมชาติ)
ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยง “เห็ดเศรษฐกิจ” มากถึง 13 ชนิด กลุ่มเพาะในถุงพลาสติกที่มีการผลิตปริมาณมากในประเทศไทย ได้แก่ เห็ดนางฟ้าภูฐาน เห็ดขอนขาว และเห็ดหูหนูดำ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีหลายคน เริ่มสนใจ “การเพาะเห็ด” เป็นทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพ แต่ยังมีอีกหลายคนต้องพึ่งพิงธรรมชาติเก็บเห็ดมาเพื่อยังชีพและขายสร้างรายได้ตามฤดูกาล
พื้นที่สกลนครบ้านผม มีระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์ฤดูเห็ดเกิดดอก จะพบเห็นผู้คนเก็บเห็ดตามธรรมชาติ ตามป่าโคก ป่าภูพาน ป่าชุมชน ป่าปุ่งป่าทาม บางคนนำมาเก็บถนอมไว้กินตลอดปี บางคนนำไปขาย สำหรับผมชอบกินเห็ดละโงก เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง
1
“เห็ด” เชื่อมโยงพลังหลายอย่าง (soft power) มีคุณค่าและมูลค่า ส่งผลให้เกิด “ทางเลือก - ทางรอด” ในการดำรงชีพของใครหลายคน อีกทั้งชาวบ้านมีองค์ความรู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการสังเกตุเห็ดที่กินได้ รวมถึงความเชี่ยวชาญคาดการณ์อุณหภูมิและอากาศที่เหมาะสมสำหรับเห็ดป่าเกิดดอก เมื่อเห็ดเกิดเป็นเครื่องบงชี้ว่าทรัพยากรป่ายังสมบูรณ์
2
อยากให้มีการส่งเสริมอาชีพเพาะเห็ดในระดับชุมชนหรือครัวเรือนที่สนใจ เสนอให้ยกระดับและพัฒนาสู่เห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ พร้อมทั้งรับผิดชอบการอนุรักษ์พื้นที่ป่าเป็นหน้าที่ต้องช่วยกัน เพื่อการดำรงชีพที่ดีขึ้นของทุกคน
โฆษณา