29 ก.ย. 2023 เวลา 13:21 • การเกษตร
โรงเรียนบ้านกลางนาโน

สกลนคร “เพาะเห็ดพารวย” เตรียมยกระดับระบบผลิตเกื้อกูลคนจน

วันที่ 29 ก.ย. 2566 นักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พร้อมด้วย สนง.เกษตรอำเภออากาศอำนวย ลงชุมชนเพื่อหารือความร่วมมือการผลิตเห็ดเกื้อกูลคนจน กับวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดบ้านกลาง ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ด้วยแนวคิด “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ”
5
จากรูปธรรมความสำเร็จ “โมเดลแก้จนเพาะเห็ด” ด้วยระบบผลิตเกษตรมูลค่าสูงฯ ในปี 2565 มีกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ปัญหา (Pain point) ของระบบการผลิตเห็ด เพื่อสร้างแนวทางการบริหารห่วงโซ่อุปทานเห็ด ตามแนวคิด Pro-poor Value Chain กล่าวคือ “นำคนจนเข้าสู่ระบบการผลิตเห็ด” สามารถสร้างอาชีพทางเลือกให้คนจนเป้าหมาย 100 คน เป็นผู้ผลิตก้อนเห็ดและเปิดดอกจำหน่าย มีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 500 บาทต่อเดือน
อ.สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า ในปี 2566 ได้ทุนวิจัยต่อเนื่อง จึงขยายพื้นที่ และกลุ่มคนจนเป้าหมายเพิ่มขึ้นจำนวน 350 ครัวเรือน จากการศึกษาห่วงโซ่อุปทานเห็ดและปฏิบัติการที่ผ่านมา พบว่า วิสาหกิจชุมชน (พี่เลี้ยง) ต้องมีระบบผลิตที่เข้มแข็ง จึงจะสามารถรับแรงงานคนจนเข้าเป็นผู้ผลิต ตามแนวคิด Pro-poor Value Chain ได้ พร้อมทั้งมีข้อตกลงในการผลิตก้อนเห็ดให้เครือข่ายเข้าถึงได้ในราคาต้นทุน
ด้าน นายประพงค์ ผายทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดบ้านกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มจำนวน 23 คน มีกำลังผลิตเฉลี่ย 100,000 ก้อนต่อปี คิดเป็นมูลค่าการผลิตมีรายได้เฉลี่ย 1,000,000 บาทต่อปี อยากขยายการผลิตเพิ่ม และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย จากประสบการณ์เพาะเห็ดที่ผ่านมาแนวทางขยายการผลิต จะต้องมีพี่เลี้ยงดูแลที่สำคัญระบบการผลิตและการบริหารเงินกลุ่ม เป็นโอกาสสำหรับชุมชนมากจะมีช่องทางหารายได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพาทีมนักวิจัยเดินดูระบบการผลิตเห็ดในวิสาหกิจชุมชนฯ
ส่วน สนง.เกษตรอำเภออากาศอำนวย ให้ข้อมูลว่า กลุ่มคนจนมีข้อจำกัดหลายอย่าง ที่สำคัญคือการขาดแคลนเงินหมุนเวียนประจำวัน จำเป็นต้องทำอาชีพที่สร้างรายได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาให้ชุมชนเป็นผู้ประกอบการแล้วนำคนเข้าสู่ระบบผลิต เป็นแนวทางหนึ่งที่ในการส่งเสริมอาชีพเพื่อแก้ปัญหาความยากจน สำหรับคนที่จะเป็นผู้ประกอบการในแต่ละชุมชนน่าจะมีเช่น กลุ่มบทบาทสตรี คณะกรรมการหมู่บ้าน กลุ่มอาชีพที่สนใจ โดยทาง สนง.เกษตรอำเภอฯ ยินดีที่จะขับเคลื่อนการแก้จนร่วมกับงานวิจัยในครั้งนี้
แนวคิด “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” คือการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตให้เกื้อกูลคนจน จะนำคนจนเข้าเป็น “ผู้เปิดดอกเห็ดจำหน่าย” เป็นหลัก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต อาศัยความร่วมมือวิสาหกิจชุมชนฯ เป็น “ผู้ผลิตก้อน” ส่งให้ในราคาต้นทุน จำนวนชุมชนละ 10,000 ก้อน มีเป้าหมาย 6 ชุมชน คาดว่าจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนได้ 200,000 บาทต่อรอบผลิต (4 เดือน)
พร้อมทั้งมีแนวทางในการยกระดับระบบผลิตเห็ดอื่น ๆ ให้เข้มแข็งมากขึ้น ได้แก่ การผลิตหัวเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอายุมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป เพื่อรองรับเมื่อตลาดเห็ดในชุมชนเต็ม นี่คือภาพชุมชนเห็ดเศรษฐกิจของการวิจัยครั้งนี้ อ.สายฝน กล่าวสรุปและเน้นย้ำเป้าหมายการวิจัยเพื่อเป็นโมเดลการแก้ไขปัญหาความยากจน
ภาพบรรยากาศ
โฆษณา