14 ต.ค. 2023 เวลา 16:33 • การศึกษา
ดงสาร

โส่เหล่โมเดลแก้จนสกลนคร "อากาศอำนวยโมเดล"

บพท. จัดเวทีโสเหล่กลยุทธ์แก้จน นำโดย ดร.แมน ปุโรทกานนท์ หัวหน้านักวิจัยทีมกลาง และคณะ พร้อมด้วย นักวิจัยโครงการพัฒนาระบบห่วงโซ่การผลิตเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยมี ผศ.ดร.ก้องภพ  ชาอามาตย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ให้การต้อนรับ ลงพื้นที่พบกับคนจนเป้าหมาย กลุ่มอาชีพเพาะเห็ดและกลุ่มอาชีพทำนาปรัง เพื่อหาแนวทางการหนุนเสริมการพัฒนาโมเดลแก้จนอำเภออากาศอำนวย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566
6
อ.สายฝน ปุนหาวงค์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โมเดลแก้จนเกษตรมูลค่าสูง ดำเนินการวิจัยต่อเนื่องจากปี 2565 ซึ่งเป็นโครงการย่อย ภายใต้โครงการ "การวิจัยและนวัตกรรมยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร" ได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เป้าหมายการพัฒนาโมเดลแก้จน (Operating Model : OM) ระดับพื้นที่ที่เหมาะสมกับศักยภาพของคนจน และสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้คนจน เข้าสู่ห่วงโซ่การผลิต (Pro-poor Value Chain) กลุ่มอาชีพเพาะเห็ดและกลุ่มอาชีพทำนาปรัง มีคนจนได้รับการช่วยเหลือ และยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยองค์ความรู้ การวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จำนวน 350 ครัวเรือน และเพื่อสร้างรูปธรรมความสำเร็จอำเภอแก้จน
การโสเหล่ นำโดยนักวิจัยทีมกลาง บพท. เป็นผู้ดำเนินการพูดคุยแลกเปลี่ยน รับฟังอุปสรรคในการพัฒนาอาชีพ และข้อเสนอแนวทางการพัฒนา จากคนจนทั้งสองกลุ่มอาชีพ หลังจากนั้นแต่ละกลุ่มจะประเมินการพัฒนาอาชีพของกลุ่ม ใช้เครื่องมือพัฒนาการของต้นไม้เปรียบเทียบ มี 4 ขั้น ได้แก่ ต้นกล้า เติบโต โตเต็มที่ และดอกผล พร้อมทั้งประเมินความเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมทั้งลงศึกษาสำรวจพื้นที่ปฏิบัติการ
แม่ประภา ตัวแทนกลุ่มอาชีพเพาะเห็ด
การเพาะเห็ดเป็นอาชีพที่ทำให้มีรายได้ทุกวัน ได้วันละ 5-10 โล ขายในชุมชนส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน และมีแม่ค้าซื้อไปทำอาหารขายอีกที ได้จัดทำบริหารบัญชีกลุ่มตามที่นักวิจัยแนะนำ มีเงินทุนเหลือในการผลิตครั้งต่อไปประมาณ 15,000 บาท ซึ่งวางแผนจะเริ่มอัดก้อนรอบใหม่ กับวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดไร้สาร บ้านเสาวัด ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ มีชาวบ้านสนใจอยากเข้าร่วมการเพาะเห็ด และในอนาคตอยากขยายเป็นผู้อัดก้อนเอง
แม่ประภา ตัวแทนกลุ่มอาชีพเพาะเห็ด
พ่อนุกูล ตัวแทนกลุ่มทำนาปรัง
ตอนแรกชาวบ้านอยากทำนาปรังเพื่อขายเป็นข้าวเม่า ได้ไปสอบถามกลุ่มแปรรูป มีคำแนะนำให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่หอมนุ่มกว่านี้ถึงจะแปรรูปเป็นข้าวเม่าได้ กลับมาวิเคราะห์ร่วมกับทีมนักวิจัย จึงตกลงทดลองปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวนาปรังให้หอมนุ่ม และทำเป็นกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว จัดหารวบรวมพันธุ์ท้องถิ่น เพื่อหมุนเวียนให้เกษตรกรทำนาปรังในพื้นที่ทุ่งพันขัน 4,000 ไร่
พ่อนุกูล ตัวแทนกลุ่มทำนาปรัง
ด้าน ดร.แมน ปุโรทกานนท์ หัวหน้านักวิจัยทีมกลาง บพท. กล่าวว่า ทั้งสองกลุ่มอาชีพ ควรจะได้รับการเปิดเผยผลงานวิชาการในวงกว้าง การทำเรื่องแก้จนไม่ใช่การมาทำแค่โครงการให้มีรายได้อย่างเดียว สิ่งที่กำลังทำของกลุ่มเห็ดแรงบันดาลใจอยากช่วยให้ชุมชนมีรายได้ อัตลักษณ์ชุมชนดงสารมีเสน่ห์และโรแมนติก
ดร.แมน ปุโรทกานนท์
ต่อมา ผศ.ดร.ก้องภพ  ชาอามาตย์ รองอธิการบดีฯ ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ขอบคุณกลุ่มเป้าหมาย ชาวบ้าน และทีมนักวิจัยทุกท่าน ที่ร่วมกันวิเคราะห์โจทย์ ออกแบบการพัฒนาแก้ไขปัญหาความยากจนตรงกับความต้องการชุมชน นอกจากมหาวิทยาลัยฯ มีชุดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะ นำมาเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพในครั้งนี้ ทั้งสองอาชีพตรงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัยฯ จะบูรณาการทำงานร่วมกันต่อไป
ผศ.ดร.ก้องภพ ชาอามาตย์
ภายหลัง อ.สายฝน ปุนหาวงค์ เปิดเผยว่า กลุ่มเป้าหมายทั้งสองได้ประเมินการพัฒนาอาชีพอยู่ในระดับ "เติบโต" และมีความพร้อมจดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนอยู่ในระดับ "มาก" แนวทางการขับเคลื่อนโมเดลแก้จนต่อไป อาชีพเพาะเห็ดมีกลยุทธ์พัฒนาด้วยแนวคิด “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” และอาชีพทำนาปรังมีกลยุทธ์พัฒนาด้วยแนวคิด “คลังเมล็ดพันธุ์ข้าว” เตรียมเข้าสู่การจัดเวที Forum ร่วมกับภาคีเพื่อหาแนวทางการยกระดับสู่อำเภอแก้จน “อากาศอำนวยโมเดล” อย่างเป็นรูปธรรม
ภาพบรรยากาศ
โฆษณา