1 ต.ค. 2023 เวลา 06:38 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Blue Again (2022) - เฉดสีที่หม่นหมอง และการเป็นที่ยอมรับในสังคม

ทุกเฉดของความสัมพันธ์ ชัดขึ้น...ว่าจางลง
กำกับและเขียนบทโดย คุณ ฐาปณี หลูสุวรรณ
สวัสดีครับ! ล่าสุดได้รับชมภาพยนตร์ไทยเรื่อง Blue Again บน Netflix
หลังจากดูจบ รู้สึกว่า "ไม่ผิดหวัง" บอกได้เลยว่า "เป็นหนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุดในปี 2022" ที่มีคุณภาพเยี่ยมไม่แพ้ภาพยนตร์ต่างประเทศ
ตัวหนังได้เข้าฉายใน Busan International Film Festival และได้เข้าชิงรางวัลสาขา New Currents (ผู้กำกับหน้าใหม่) ประจำเทศกาล
ชมมาขนาดนี้ ขอเข้ารีวิวเลยละกัน !
[ เรื่องย่อ ]
"เอ" (บี ตะวัน จริยาพรรุ่ง) เด็กสาวลูกครึ่งจากสกลนคร เดินทางเข้ามาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยด้านมัณฑนศิลป์ เธอรู้สึกแปลกแยกจากเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนด้วยนิสัยที่แปลกแยกจากคนอื่น
[ ความรู้สึกหลังชม ]
- อันดับแรก ขอเกริ่นถึงแนวทางภาพยนตร์สไตล์ "Slice of Life"
การเล่าเรื่องสไตล์ Slice of Life คือ "การตัดเสี้ยวชีวิต" ของบุคคลมาเล่าเรื่อง โดยที่ส่วนใหญ่ ก็มักจะเป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษหวือหวา ทว่าหนังเลือกที่จะนำสิ่งนี้มาเล่า เพื่อสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตอันเป็นส่วนหนึ่งที่ทุกคนเคยพบเจอ
ดังนั้นถ้าพูดถึง Blue Again หนังเรื่องนี้ตัดเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของ "เอ" ช่วงขณะเป็นนักศึกษามัณฑนศิลป์มาเล่าสไตล์ Slice of Life
มันไม่มีอะไรหวือหวาแฟนตาซี อย่างไรก็ตาม หนังมีกลวิธีการเล่าและประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งยังใส่ความ Comming-of-Age (การก้าวพ้นวัย) เข้ามาได้อย่างงดงาม
- จุดถัดมา "ความเฉียบคมของบทภาพยนตร์"
Blue Again เป็นตัวอย่างของงานที่เฉียบคม รู้สึกชอบวิธีการเล่าเรื่องที่สลับช่วงเวลาไปมาระหว่างปีต่าง ๆ กับปีสุดท้าย (ปี 4) ผู้ชมอาจสับสนบ้างในช่วงแรกของเรื่อง แต่พอดูไปเรื่อย ๆ จะเริ่มจับช่วงต่าง ๆ ของเรื่องได้
ขณะที่เรื่องบทและการขับเคลื่อนอารมณ์ หนังทำได้ยอดเยี่ยม ความสัมพันธ์ถูกเล่าออกมาด้วยความประณีต เรื่องราวมีคุณภาพสวยงามไม่แพ้หนังดี ๆ จากต่างประเทศ
- ตัวเรื่องถูกผูกมัดอยู่กับคำว่า "Blue" (สีคราม) ในแง่สัญลักษณ์ที่เป็นสิ่งสำคัญของเรื่อง งานภาพ โทนสี บรรยากาศที่ปรากฏในภาพยนตร์ จนกระทั่งการสื่อนัยยะ "ความหม่นมอง" จากอารมณ์ของเฉดสีคราม
- ใจความหนังพูดถึง "ความอึดอัดและความเหงา" ของคนในแต่ละเจเนอเรชั่น (โฟกัสหลักอยู่ที่ Gen Z) ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน
เช่น ความอึดอัดจากการดำรงอัตลักษณ์และไม่โอนอ่อนต่อคนกลุ่มใหญ่ การเสียตัวตนเพื่ออยู่ร่วมในสังคม ภาวะกดดันในสังคมทำให้เกิดการแข่งขันกันจนนำมาซึ่งการสูญสลายของมิตรภาพ
ไปจนถึงความอึดอัดดิ้นรนของคนที่สับสนและไม่รู้ที่ทางตัวเอง เมื่อหลายคนไม่ได้มีต้นทุนในการตั้งต้นชีวิต
ทั้งหมดนี้ออกจะเป็นเฉดเทา ๆ ที่ไม่มีถูกไม่มีผิด แต่เป็นส่วนหนึ่งที่บางคนรู้สึกอยู่ตอนนี้ ซึ่งก็น่าคิดเหมือนกันว่าสังคมจะเป็นอย่างไรต่อไป
- ชอบที่หนังยกประเด็นหลายอย่างขึ้นมา เช่น ประเด็นเรื่องลูกครึ่ง ประเด็นเรื่องรับน้องในมหาวิทยาลัย
รวมถึงการกล่าวถึงชุมชนคาทอลิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ณ บ้านท่าแร่ สกลนคร
หลายท่านอาจไม่รู้จักมาก่อน ทำให้ระหว่างดูรู้สึกว่า น่าสนใจกับการได้เห็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตแตกต่างไปจากสังคมเมืองและสังคมพุทธอย่างที่เราเคยเห็นกัน
- บทสรุปสุดท้าย หนีไม่พ้น "การแค่มีใครสักคนเข้าใจและยอมรับเราอย่างที่เราเป็น" แค่นี้ก็เติมพลังบวกให้เราในทุกวันแล้ว และยังทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า ท่ามกลางความหม่นหมองในสังคม
- โทนสีและแสงในเรื่องเหงาหม่น จนบางอารมณ์ให้ความ Thriller ไปเลย ส่วนที่เตะตา ก็ดนตรีประกอบจาก คุณชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล ที่ใส่ประกอบได้เยี่ยม
- พาร์ทนักแสดง รู้สึกชอบการแคสต์แต่ละตัวที่ดูสมจริงดี อาจจะยังไม่ได้แสดงเป็นธรรมชาติ แต่ค่อนข้างเรียล
สรุป - เป็นหนังไทยนอกกระแสที่น่าประทับใจ แม้ว่าจะยาวถึง 3 ชม. เนือยบ้าง และโปรดักชันไม่ได้ยิ่งใหญ่ แต่รู้สึกว่าไม่น่าเบื่อ
ที่สำคัญ ได้ข่าวว่า Blue Again เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของผู้กำกับด้วย รู้สึกอยากชื่นชมในฝีมือ ซึ่งเธอทำให้เห็นว่า หนังไทยยังไม่ได้สิ้นหวังเสียทีเดียว
ใครสนใจดูได้บน Netflix!
คุณฐาปณี ผู้กำกับ และบี ตะวัน จริยาพรรุ่ง ผู้รับบท "เอ"
ป.ล. อีกหนึ่งช่องทางการติดต่อทาง Facebook เผื่อสนใจอยากพูดคุยติดต่อ
IG: benjireview

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา