6 ต.ค. 2023 เวลา 16:01 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ “กินดี อยู่นาน คือของขวัญชีวิต”

เล่มที่ 28
“การเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ตามใจปาก อาจทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้รับความสุขเต็มที่ในตอนนี้ แต่พอมีอายุมากขึ้นเราจะได้รู้ว่าความสุขจากการเลือกกินในอดีตได้ส่งผลต่อสุขภาพของเราแล้ว”
นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์)
“คนที่มีสมาธิ มีจิตใจตั้งมั่น ใจแข็งพอที่จะไม่ตามใจปากในวันนี้ สุดท้ายแล้วมักจะเป็นผู้ที่ผ่านบททดสอบในวันข้างหน้า ครั้นพอแก่ตัวลง คนกลุ่มนี้จึงมักได้รับสิทธิให้อยู่ต่อแบบไม่ต้องนั่งรถเข็น ไม่ต้องนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียง โดยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้”
- นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์
คำนำสำนักพิมพ์เล่มนี้เขียนสรุปไว้ได้ดี ว่า “จากสถิติพบว่าคนไทยเราเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการบริโภคอาหารมากเกินไป มากกว่าจากความหิวโหยเพราะไม่มีกิน”… ”นั่นก็คือการป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดตีบ โรคมะเร็ง”
สอดคล้องกับคำนำของผู้เขียนที่บอกว่า “คนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases ; NCDs) สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรคอ้วนที่คนไทยก้าวกระโดดขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคอาเซียน…การที่คนเราจะมีสุขภาพที่ดีนั้นเราต้องมองกันในระยะยาว ไม่อยากให้ใครชะล่าใจว่าตัวเองยังอายุน้อยอยู่ยังกินอาหารไม่ดีได้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้นแล้ว เราอยากจะเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อที่จะไม่ให้ป่วย ก็คงไม่ทันเสียแล้ว”
ผู้เขียนบอกว่า “อาหารที่มีไขมันอันตรายเป็นฆาตกรเงียบ” และแนะนำให้ใส่ใจการกินอาหารมากขึ้น การกินยาลดคอเลสเตอรอล เป็นการรักษาที่ปลายเหตุและมีด้านมืดที่หลายคนไม่ค่อยรู้ เช่น การกินยาเป็นระยะเวลานาน ยาจะลดทั้งไขมันไม่ดีและไขมันดีในหลอดเลือดของเรา
ทำลายผนังเซลล์ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดแขนขาอย่างไร้สาเหตุ ตับอักเสบ ทำลายฮอร์โมนเพศ เซ็กซ์เสื่อม ซึมเศร้า พุงโต
อ่านเล่มนี้แล้วได้ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับหลักโภชนาการ ประวัติศาสตร์ เช่น ได้รู้ที่มาของกรุ๊ปเลือดว่า “ยุคที่มนุษย์เริ่มแสวงหาพืชพรรณมารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ยุคนี้จึงเริ่มมีเลือดกรุ๊ปเอ (Group A : The Cultivator) เกิดมากขึ้น คนเลือดกรุ๊ปเอจึงต้องเน้นการกินพืชผักผลไม้ให้มาก
เมื่อเข้าสู่ยุคที่เกิดสงคราม มนุษย์ต้องย้ายถิ่นฐานอยู่เสมอ เพื่อให้มีชีวิตรอดจึงต้องกินทั้งพืชและสัตว์ ยุคนี้มีคนกรุ๊ปเลือดบี (Group B : The Nomad) เกิดขึ้น คนเลือดกรุ๊ปบีจึงกินได้ทั้งพืชและสัตว์”
ได้รู้ว่า “HDL (High Density Lipoprotein) และ LDL (Low Density Lipoprotein) เป็นตัวนำพาที่ทำหน้าที่เหมือนรถบรรทุกเพื่อขนส่งคอเลสเตอรอลหรือไขมันไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เพราะคอเลสเตอรอลและไขมันเป็นโมเลกุลที่ไม่มีขั้ว จึงไม่สามารถละลายในน้ำเลือดและไปไหนมาไหนได้เอง”
และได้รู้ว่า “ถ้าต้องการลดคอเลสตอรอล และเพิ่มไขมันดีในร่างกายจะต้องออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ“ (การออกกำลังกายติดต่อกันเป็นเวลานานระดับหนึ่งโดยไม่หยุด เช่น ครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย จนทำให้เกิดการสูบฉีดเลือด หัวใจเต้นถี่)
คุณหมอบอกว่า ”HDL เป็นไขมันดีจะขนส่งไขมันในเลือดทั่วร่างกายไปทำลายที่ตับ ซึ่งระดับ HDL ในผู้ชายควรมากกว่า 60 หากน้อยกว่า 40 ถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยง
ผู้หญิงควรมากกว่า 60 หากน้อยกว่า 50 ถือว่าอยู่ในภาวะเสี่ยง“
คุณหมอยังบอกวิธีเพิ่ม HDL ไว้ดังนี้
1.ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio Exercise) อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน หรือเดินวันละ 10,000 ก้าว
2.ลดน้ำหนัก
3.งดสูบบุหรี่
4.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์และอาหารที่ปรุงด้วยเนยขาว เช่น คุกกี้ ชีส มาการีน
ควรกินอาหารเพิ่ม HDL เช่น น้ำมันมะกอก, พิสตาซิโอ, อัลมอนด์, แมคคาเดเมีย, ปลาแซลมอน, แอปเปิล, อะโวคาโด, ถั่ว
ส่วนไขมันไม่ดี หรือ LDL “เป็นไขมันที่ติดกับหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หากสะสมที่สมองอาจทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต” คุณหมอบอกว่า “มีพฤติกรรมอยู่ 2 อย่างที่ทำให้ไขมันไม่ดีพุ่งคือ กินไม่ถูก กับ ไม่ออกกำลังกาย”
“อาหารที่มีไขมันเลว เช่น ชาเย็น, กาแฟเย็น, เนยเทียม, ชีส, เค้ก, พิซซ่า, ไอศครีม, คุกกี้, นมเปรี้ยว, แฮม, เบคอน, กุนเชียง, แคปหมู, หมูสับ, หมูติดมัน, ไก่ทอด, หนังไก่ทอด, น้ำมันปาล์ม, ครีมเทียม, โดนัท, พาย, เฟรนช์ฟรายส์” โอ้โห ของอร่อยทั้งนั้นเลย แค่เห็นชื่อก็อยากกินแล้ว
อย่างไรก็ตาม คุณหมอก็บอกว่า “หากงดไขมันเลวไปโดยสิ้นเชิงสุขภาพก็ทรุดโทรมได้เช่นกัน” ฉะนั้น ผมว่าอาทิตย์ละครั้ง หรือเดือนละครั้งกินแบบตามใจบ้างก็คงไม่เป็นไรเนอะ
จากที่ผมอ่านข้อมูลของแพทย์หลายคน ผมว่าเวลาตรวจเลือดเพื่อเช็คค่าคอเลสเตอรอลและ LDL เราก็ควรตรวจเช็คค่าไตรกลีเซอร์ไรด์และ HDL ด้วยนะครับ เพราะหากค่าสองอย่างนี้ดี และเอาค่าไตรกลีเซอร์ไรด์หาร HDL แล้วได้ไม่เกิน 2 ต่อให้ คอเลสตอรอลและ LDL สูงก็ยังไม่น่าเป็นห่วงครับ
นอกจากนี้ยังได้ความรู้ใหม่ที่สำคัญว่า “อนุมูลอิสระสามารถเกิดขึ้นได้จากทุกสภาวะที่ร่างกายของเราที่ไม่ชอบ เช่น นอนดึก นอนไม่พอ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สูดดมฝุ่นละออง PM2.5 มีความเครียดความกังวลสูง“
“อนุมูลอิสระจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือด อวัยวะต่างๆ ทำให้ร่างกายเราเสื่อมลงโดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่ากำลังเจ็บป่วยด้วยโรคทันที แต่จะส่งผลระยะยาวนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และยังทำให้รอยตีนกามาไว ผมหงอกมากขึ้น อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย”
ซึ่งคุณหมอก็แนะนำให้กินวิตามินทั้งหลายเป็นตัวต้านอนุมูลอิสระ
หนังสือเล่มนี้รูปเล่มสวยงามมาก ภายในเล่มออกแบบมาได้สวยงาม มีภาพสีประกอบตลอดทั้งเล่ม ไม่กล้าใช้ปากกาไฮไลท์ขีดให้เปื้อนเลย มีแผนภาพอาหารให้เห็นเปรียบเทียบกันว่าอาหารใดมีคอเลสเตอรอลอยู่กี่มิลลิกรัม หากกินไปกี่ชิ้นจะเกินคอเลสเตอรอลที่ร่างกายเราต้องการแค่วันละ 200 - 300 มิลลิกรัม ทำให้เรากินอย่างระมัดระวังมากขึ้น เช่น วิปครีม 150 กรัม มีประมาณ 200 มิลลิกรัม ไข่ไก่ 1 ฟอง มีประมาณ 200 มิลลิกรัม
ผมชอบแนวคิดของคุณหมอที่คอยสอดแทรกเข้ามากับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้การอ่านตำราประเภทนี้ไม่น่าเบื่อ อย่างเช่น “จงระวังของมันๆ เพราะอะไรก็ตามที่มันมักจะมีรสชาติอร่อย น่ากิน ชวนให้ลิ้มลอง แต่ก็เพิ่มไขมันไม่ดีให้เราอย่างมหาศาล”
การอ้างอิงเชิงอรรถภาษาอังกฤษที่มีเยอะมากก็บ่งบอกได้ว่าคุณหมออ่านหนังสือมามากขนาดไหน สไตล์การเขียนก็ไม่ได้ดูวิชาการจนน่าเบื่อ เล่าเรื่องได้น่าอ่านและทำให้คนอ่านเข้าใจง่าย เหมาะะกับการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงได้อย่างดี ความรู้ของคุณหมอที่ถ่ายทอดให้เราอ่านนั้นมีประโยชน์สุดๆ คุ้มค่ากับราคาหนังสือ ไม่แพงเลยกับการได้ความรู้เพื่อให้ชีวิตเรายืนยาวขึ้น
สรุปให้ 5 ดาว ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ผู้เขียน : นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์)
สำนักพิมพ์ : ฟรีมายด์
หมวด : สุขภาพ
จำนวนหน้า : 256 หน้า ปกอ่อน
ขนาดรูปเล่ม : 143 x 210 x 12 มม.
น้ำหนัก : 290 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : สี่สีในเล่ม
ชนิดกระดาษ : กระดาษถนอมสายตา
พิมพ์ครั้งที่ 3 : 2565
ISBN : 9786164030794
หนังสือราคา 295 บาท มี 256 หน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา