13 ม.ค. 2024 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

VISA บริษัทที่สามารถ "ซื้อหุ้นคืน" ได้กว่า "ครึ่งหนึ่ง" ตลอดเวลา 13 ปีที่ผ่านมา

การซื้อหุ้นคืน (Stock Buybacks) คือ การที่บริษัทจดทะเบียนนำเงินสดไปซื้อหุ้นของบริษัทตนเองจากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ มาเก็บไว้เอง
โดยทำได้หลายวิธี เช่น ซื้อผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ซื้อโดยตรงจากผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ หรือซื้อผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มกำไรต่อหุ้น (EPS) และมูลค่าหุ้นของบริษัท โดยทำให้จำนวนหุ้นที่ซื้อขายหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลง
ซึ่งครั้งนี้จะมาบอกเล่าถึงบริษัท VISA บริษัทที่มีการซื้อหุ้นคืนโดดเด่นที่สุดอีกหนึ่งบริษัท โดยนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2009 จำนวนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ VISA มีจำนวนอยู่ที่ 4,476 พันล้านหุ้น
เวลาร่วงโรยผ่านไปกระทั่งในไตรมาสที่ 3 ปี 2023 จำนวนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ VISA กลับมีจำนวนเหลือเพียง 2,340 พันล้านหุ้น ลดลงถึง 52% ในช่วงเวลา 13 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2009
สาเหตุอะไรกันที่ทำให้บริษัท VISA ที่จัดอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ถึงสามารถทำการซื้อหุ้นคืนได้มากมายขนาดนี้
นั่นก็เพราะว่า VISA นั้นเงินสดในมืออยู่เยอะนั่นเอง
หากถามว่าทำไม VISA ถึงมีเงินสดในมือเยอะก็คงต้องเริ่มที่โมเดลธุรกิจของพวกเขา โดย VISA เป็นบริษัทที่ดำเนินการในฐานะ "ตัวกลางการชำระเงิน" ทั้งในสหรัฐฯและต่างประเทศ
ด้วยความที่ตลาดเทคโนโลยีการชำระเงินด้วยบัตรของโลกเราส่วนใหญ่นั้นถูกผูกขาด โดยบริษัทเพียงไม่กี่บริษัท ได้แก่ VISA, Mastercard, American Express และ Discover Financial
โดยเมื่อมองย้อนไปที่ปี 2009 VISA มีรายได้ประจำปีอยู่ที่ 7.13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2023 รายได้ประจำปีของ VISA นั้นได้เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 32.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าตัว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ธุรกิจของ VISA จึงถูกมองว่าเป็น "ธุรกิจเสือนอนกิน" และมักได้รับความคาดหวังจากนักลงทุนถึงศักยภาพในการเติบโตของบริษัท
ซึ่ง VISA เองก็แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพวกเขามีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องและมีสถานะที่แข็งแกร่งพอเมื่อบริษัทเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ
และแม้ว่าหลายๆคนอาจมองหุ้นของบริษัทนี้เป็นหุ้นคุณค่า (Value Stock) หรือหุ้นวัฐจักร (Cyclical Stock) เพราะทำธุรกิจการเงินแต่ก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า VISA ก็เป็นบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไปบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี จำเป็นต้องมีลงทุนใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะทำให้บริษัทสามารถแข่งขันได้และทำให้ได้เปรียบคู่แข่งในตลาด
ซึ่งในส่วนนี้หากเราย้อนมาดูที่ผลตอบแทนจากการลงทุน (ROIC) 10 ปี ย้อนหลังของ VISA จะพบว่า
- ROIC ในเดือนกันยายน 2013 อยู่ที่ 16.84%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2014 อยู่ที่ 18.39%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2015 อยู่ที่ 20.70%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2016 อยู่ที่ 13.01%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2017 อยู่ที่ 13.53%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2018 อยู่ที่ 20.29%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2019 อยู่ที่ 22.04%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2020 อยู่ที่ 19.44%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2021 อยู่ที่ 20.33%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2022 อยู่ที่ 27.09%
- ROIC ในเดือนกันยายน 2023 อยู่ที่ 29.17%
จะเห็นได้ว่า VISA มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเติบโตมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีการชะลอตัวในช่วงปี 2016 และ 2017 จากสงครามการค้าของสหรัฐฯและจีน หรือช่วงปี 2020 จากโรคระบาด Covid-19 แต่ VISA ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาแข็งแกร่งพอที่จะกลับมาได้
รายได้และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระแสเงินสดอิสระ (FCF) ของ VISA มีการเติบโตตามไปด้วย
โดยในปี 2009 VISA มีกระแสเงินสดอิสระเพียงแค่ 252 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้นเอง ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่หากมาดูกระแสเงินสดอิสระในปี 2023 จะพบว่า VISA มีกระแสเงินสดอิสระเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยการเติบโตระดับนี้ของ VISA จึงไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะสามารถซื้อหุ้นคืนจากตลาดได้มากมายขนาดนั้น
และถ้าเราหากมอง VISA เป็นหุ้นเติบโต (Growth Stock) การที่หุ้นเติบโตสามารถซื้อหุ้นคืนได้มากขนาดนี้ ก็ถือได้ว่า VISA ทำได้ยอดเยี่ยมมาก
นอกจากนี้ แม้ในปี 2023 VISA จะเผชิญกับวิกฤตทางการเงิน แต่ด้วยความที่พวกเขาเป็นเพียง "ตัวกลางการชำระเงิน" ไม่ใช่ผู้ปล่อยสินเชื่อโดยตรง และด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นนั้นกระทบกับพวกเขา "น้อยกว่า" บริษัทในกลุ่มการเงินอื่นๆด้วยนั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา