10 ต.ค. 2023 เวลา 14:54 • หนังสือ

USAR

เล่าเรื่อง USAR
ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในตุรกี เมื่อกุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ น้อยคนในบ้านเราที่จะรู้จักคำว่า USAR ตอนบอกว่าจะส่งทีม USAR ไปตุรกี หลายคนยังถามว่า USAR คืออะไร
USAR เป็นคำย่อมาจากคำเต็มว่า Urban Search And Rescue หรือชื่อไทยเรียกว่า ทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมือง หน้าที่หลักคือการเข้าค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในเขตเมืองจากการพังถล่มของอาคารต่างๆ ที่เกิดจากเหตุธรรมชาติ อุบัติภัย หรือเหตุอื่นๆ
2
ภารกิจ USAR นั้นเป็นงานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีหน่วยงาน สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNOCHA (UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs) ที่รับผิดชอบในการประสานงาน ร่วมกับ คณะที่ปรึกษาด้านการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ หรือ INSARAG (International Search and Rescue Advisory Group)
การจัดระบบการดำเนินงานของทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองระหว่างประเทศได้เริ่มมา ๓๐ กว่าปีแล้ว หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอาร์มาเนีย เมื่อปี ๒๕๓๑ และในเม็กซิโก เมื่อปี ๒๕๒๘ สำหรับบ้านเราได้เริ่มต้นจัดตั้งทีม USAR ขึ้นมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗
คนที่จะอยู่ในทีม USAR นั้น จะต้องผ่านการอบรมและฝึกปฏิบัติ ตามมาตรฐานของ INSARAG และในแต่ละปีจะมีการไปเข้าฝึกซ้อมร่วมกับทีมจากประเทศต่างๆ และฝึกซ้อมภายในประเทศของเราเอง ในทีม USAR จะมาจากหลายหน่วยงาน
1
โดยมีบุคลากรของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.เป็นแกนหลัก และมีทีมกู้ภัยทีมหมอ ทีมวิศวกร ทีมผู้เชี่ยวชาญสารเคมีอันตราย ทีมสุนัขกู้ภัยจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมอบรมและฝึกซ้อมร่วมกันมา ขึ้นทะเบียนเป็นทีม USAR ของบ้านเราไว้ เมื่อเวลาจะออกปฏิบัติการก็จะเรียกจากทีมที่จัดไว้เข้ามา ไม่สามารถไปเรียกคนอื่นเข้ามาร่วมทีมได้
หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.8 magnitude ในตุรกีและซีเรีย ในช่วงเช้าของวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ในช่วงสายๆ ของวันนั้นราว ๑๑ นาฬิกา ได้รับโทรศัพท์ประสานมาจากกระทรวงการต่างประเทศว่าทางตุรกีได้ร้องขอการสนับสนุนความช่วยเหลือทีมค้นหาและกู้ภัยมา จึงสอบถามว่า ปภ.มีทีมค้นหาและกู้ภัยหรือ USAR หรือไม่ เป็นทีมขนาดใด และมีความพร้อมจะออกไปปฏิบัติการช่วยเหลือตุรกีได้หรือไม่
โดยส่วนตัวแล้วคิดอยู่ว่าอยากให้ทีม USAR ของบ้านเราได้ออกปฏิบัติงานจริงในต่างประเทศ แต่ก็ต้องสอบถามความพร้อมจากทีมผู้ปฏิบัติงานจริง เมื่อได้รับคำยืนยันความพร้อมจาก ผอ.ส่วนปฏิบัติการพิเศษของกรมซึ่งเป็นหัวหน้าทีม จึงได้ตอบยืนยันกระทรวงการต่างประเทศไปว่าพร้อม โดยทีมที่จะส่งไปเป็นทีมขนาดกลาง (medium size) จำนวน ๔๒ คน แต่การจะได้ออกไปปฏิบัติงานหรือไม่ ต้องรอการพิจารณาของกระทรวงการต่างประเทศ
สำหรับขนาดของทีม USAR ตามมาตรฐาน INSARAG แบ่งเป็น ๓ ระดับคือ ขนาดเล็ก (light team) มี ๑๘ คนจะปฏิบัติงานในเหตุอาคารถล่มเฉพาะบริเวณที่มีผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยหรือถูกซากอาคารทับไม่มากนัก ขนาดกลาง (medium team) มีมากกว่า ๔๐ คน สามารถทำงานในพื้นที่ประสบภัยเพียง ๑ แห่ง ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นาน ๗ วัน และ ขนาดใหญ่ (heavy team) มีทีมมากกว่า ๕๗ คน สามารถทำงานในพื้นที่ปฏิบัติตั้งแต่ ๒ แห่งขึ้นไป ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นาน ๑๐ วัน
ในระหว่างรอการตัดสินใจ ได้ให้หัวหน้าทีม USAR แจ้งทีมงานที่คัดเลือกให้ร่วมทีมไปให้เตรียมความพร้อมส่วนบุคคลและอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ให้พร้อม และให้ทีมต่างประเทศของกรมเกาะติดสถานการณ์ของตุรกีไว้ตลอด ในขณะที่รอการตัดสินใจ ได้รับรายงานว่าทีม USAR ของประเทศในอาเซียนเริ่มเดินทางออกไปหลายประเทศแล้ว คิดอยู่ว่าถ้าทีมไทยเราไม่ได้ไปคงเป็นเรื่องน่าเสียดาย
1
ระหว่างนั้นกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีการเรียกประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง ปภ.ด้วย เวลาผ่านไปจนถึงบ่ายสี่โมงเย็นของวันที่ ๘ จึงได้รับการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า ให้เตรียมออกเดินทางไปปฏิบัติงานได้ทันที โดยกำหนดออกเดินทางในคืนวันที่ ๙ โดยกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตตุรกีได้อำนวยความสะดวกประสานสายการบิน Turkish Airline อนุเคราะห์การเดินทางไปและกลับ
ตลอดค่ำคืนของวันที่ ๘ จนถึงบ่ายๆ ของวันที่ ๙ จึงเป็นช่วงของการเตรียมการในเรื่องต่างๆ อาทิ เช่นหนังสือเดินทางซึ่งบางคนยังไม่มี การตรวจร่างกาย การจัดหาชุดกันหนาวเนื่องจากอุณหภูมิที่ตุรกีในเวลานั้นศูนย์องศา การเตรียมเรื่องอาหารในระหว่างอยู่ปฏิบัติงานที่นั่น จัดหาซิมมือถือเพื่อใช้ในการติดต่อ การทำประกันภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน ขนย้ายเครื่องมืออุปกรณ์มาจากคลังที่ชัยนาท และในระหว่างนั้นทีมงานช่วยกันคิดกำหนดชื่อภารกิจในครั้งนี้ว่า Thailand for Turkiye
พูดถึงชื่อประเทศตุรกี แม้จะเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น Turkiye แล้ว แต่มติ ค.ร.ม.เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๕ กำหนดแนวทางการใช้ภาษาไทยว่าสามารถเลือกใช้ “สาธารณรัฐตุรกี” หรือ “สาธารณรัฐทูร์เคีย” ได้ตามที่เห็นสมควร
ถึงเวลา ๑๖.๐๐ น ของวันที่ ๙ หรือยี่สิบสี่ชั่วโมงนับจากมีคำสั่งปฏิบัติงาน ทีม USAR ทั้ง ๔๒ คน ประกอบด้วย จากกรม ปภ. ๒๐ คน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร ๑๐ คน กระทรวงสาธารณสุข ๓ คน วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ๒ คน บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอน เมนทอล เซอร์วิส จำกัด ๔ คน มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ๓ คน พร้อมสุนัข K-9 สองตัว ชื่อ เซียรา กับ ซาฮารา
ได้มาพร้อมกันที่ ปภ.รับมอบโอวาทและภารกิจ และตรวจความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว จึงเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไปส่งและให้กำลังใจ ก่อนออกเดินทางจากไทยเมื่อเวลา ๒๓.๐๐ น.
การส่งทีม USAR ของเราไปปฏิบัติงานในต่างประเทศในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ได้ออกไปปฏิบัติงานจริง ไม่ใช่การฝึก มีผู้สนใจติดตามข่าวสารจากช่องทางต่างๆ เป็นจำนวนมาก คลิปกล่าวคำขอบคุณสั้นๆ ของกัปตันสายการบิน Turkish Airline ต่อทีม USAR ของเราบนเครื่องบิน เป็นที่ประทับใจและมีผู้เข้าชมในทวิตเตอร์เป็นสถิติของ ปภ. มากกว่า ๖ แสนครั้ง สุนัข K-9 เซียราและซาฮารา ได้เป็นที่กล่าวถึงของใครต่อใครอย่างกว้างขวาง
1
สำหรับภารกิจต่อไปของทีม USAR ของเราคือการเข้ารับการประเมินตามมาตรฐาน INSARAG ตามกำหนดในช่วงปลายปี ๒๕๖๘
1
เล่าเรื่องโดย นาย BT
๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๖

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา