15 ต.ค. 2023 เวลา 12:00 • หนังสือ

Stephen King: ราชาผู้พรรณนาฝันร้ายด้วยปลายปากกา

ในโลกของหนังสือและอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์นั้น ถึงแม้ว่าในยุคปัจจุบันจะถูกลดบทบาทไปมากเนื่องจากการเข้ามาของสื่ออิเล็กทรอนิกซ์ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์เดิมต้องย้ายแพลตฟอร์มกันไปอยู่บนโลกออนไลน์กันเสียเยอะ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีใครอยากอ่านหรือครอบครองหนังสือที่เป็นเล่ม นักอ่านเองก็มีมากมายหลายสไตล์ ทั้งแพลตฟอร์มการอ่านที่ต่างกันไปจนถึงรสนิยมในประเภทของเรื่องที่อ่านที่ต่างกันไปแต่ละคน และมีนักเขียนในดวงใจที่ต่างกัน
แต่สำหรับนวนิยายประเภทสยองขวัญแล้ว ในวงการนักอ่านไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อของ “สตีเฟ่น คิง” หรือถ้าเป็นคนนอกวงการนักอ่าน ก็อาจจะรู้จักเขาในฐานะของชายผู้สร้างเพนนี่ไวซ์ ปีศาจตัวตลกในภาพยนตร์เรื่อง IT ซึ่งดัดแปลงมาจากงานเขียนของเขาและเป็นกระแสในช่วงหนึ่ง
ซึ่งในวันนี้ Bnomics จะพาไปสำรวจกันว่ากว่าที่สตีเฟ่น คิงจะมายืนยังจุดสูงสุดของอุตสาหกรรมสยองขวัญในโลกสิ่งพิมพ์นั้น ชายคนนี้ได้ผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง
📌สตีเฟ่น คิง ราชาผู้ไม่ย่อท้อ
สตีเฟ่น คิง เกิดในเมืองพอร์ตแลนด์เมื่อปี 1947 ในครอบครัวที่สถานการณ์ชีวิตคู่ค่อนข้างห่างเหิน โดยพ่อแม่ของเขาได้ตัดสินใจที่จะแยกกันอยู่ตั้งแต่คิงยังเป็นเด็กทารก โดยเขาได้อาศัยอยู่กับแม่ในรัฐอินเดียน่า และคอนเนคติคัท ก่อนที่ย้ายมาอาศัยยังรัฐเมนตามแม่ที่ต้องย้ายกลับมาดูแลตากับยายที่ชราวัย
คิงเข้าเรียนที่รัฐเมนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งในระหว่างที่อยู่มหาวิทยาลัยเขาก็ประกอบอาชีพเสริมเล็ก ๆ โดยการเขียนบทความลงในนิตยสารของโรงเรียน ตลอดจนเป็นสมาชิกสภานักเรียนผู้มีส่วนร่วมในการประท้วงรณรงค์ให้อเมริกาถอนตัวออกจากสงครามเวียดนามด้วย
คิงเริ่มทำงานเขียนมาตั้งแต่เด็ก โดยเขาได้เขียนนิยายและส่งไปขอรับการพิจารณาจากสำนักพิมพ์แต่ก็โดนปัดตกไป ทำให้เขารู้สึกผิดหวังมาก แต่แล้วในที่สุดเขาก็ทำเงินจากงานเขียนขนาดสั้นของเขาได้ในเรื่อง Glass floor โดยทำเงินได้ 35 เหรียญฯ เท่านั้น
เมื่อคิงจบการศึกษา เขาก็ได้ทำการสอบจนได้ในประกอบวิชาชีพครูมา และนับว่าเป็นโชคดีที่เขาไม่ได้ถูกส่งไปรบในสงครามเวียดนามเนื่องจากปัญหาสุขภาพหลายประการ
วันและเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ในระหว่างที่คิงพยายามหาโรงเรียนเพื่อสมัครเป็นครู จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่เขาต้องลำบากเพราะไม่มีเงินใช้ เขาจึงหยุดเขียนหนังสือไปอีกพักใหญ่ ๆ และทำงานพิเศษหลายงานเพื่อหาเงินมาใช้ในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเด็กปั๊มน้ำมัน ภารโรง ไปจนถึงการใช้เวลาว่างเขียนเรื่องสั้นส่งให้นิตยสาร
📌เธอผู้คอยให้กำลังใจ
คิงแต่งงานในปี 1971 หนึ่งปีหลังจากจบการศึกษา ซึ่งในปีเดียวกันนี้เองเขาก็ได้งานเป็นครูสอนหนังสืออย่างเป็นทางการ เมื่อเขามีอาชีพประจำที่มั่นคงแล้ว คิงก็เริ่มกลับมาเขียนหนังสืออีกครั้งหนึ่ง โดยเขาได้เขียนนิยายเกี่ยวกับสาวน้อยพลังจิตนามแครี่ แต่เขาก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันคงไม่ปังหรอก จึงตัดสินใจขยำและโยนทิ้งลงถังขยะ
ภรรยาของคิง “ทาบิธา” ได้เห็นก้อนกระดาษนิยายเรื่องนั้นและคลี่ออกมาอ่าน เธอก็รู้ได้เลยว่าเรื่องนี้ขายได้แน่นอน เธอจึงพยายามเกลี้ยกล่อมคิงให้กลับมาเขียนเรื่องนี้ให้จบ ซึ่งคิงก็ใจอ่อนยอมทำตามภรรยาจนเขียนจบเรื่องในปี 1973 ก่อนที่จะส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณา พร้อมกับทำใจเตรียมไว้เผื่อว่าจะถูกปฏิเสธอีกครั้งหนึ่ง
แต่โชคดีที่คราวนี้ไม่ถูกปฏิเสธ สำนักพิมพ์ซื้องานของเขาก่อนที่ต่อมาจะขายสิทธิ์ตีพิมพ์ต่อให้กับสำนักพิมพ์มีชื่ออย่างนิวอเมริกันไลบรารี่เป็นเงินกว่า 400,000 เหรียญสหรัฐฯ และก็แบ่งรายได้ส่วนหนึ่งให้กับคิงพร้อมกับค่าลิขสิทธิ์ต่อเนื่อง เมื่อคิงได้รับเงินก้อนนั้นก็ดีใจมาก ลาออกจากชีวิตครูเพื่อที่จะมาทำงานเขียนอย่างจริงจัง โดยมีภรรยาเป็นผู้คอยสนับสนุนอย่างใกล้ชิด
📌ราชาแห่งเรื่องสยองขวัญ
หลังจากจุดเริ่มต้นชีวิตนักเขียนที่กำลังรุ่งโรจน์ของเขา คิงก็ได้ผลิตผลงานเขียนอีกมากมายก่ายกอง โดยส่วนมากเป็นงานเขียนประเภทเรื่องเหนือธรรมชาติ หรือเรื่องสยองขวัญ โดยเขาได้ทดลองหลากหลายแนวตั้งแต่แนวผีแวมไพร์ ไปจนถึงแนววิ่งหนีฆาตกร ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่เป็นที่จดจำมากที่สุดทั้งจากคนในวงการนักอ่านและคนนอกวงการก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง IT
IT เป็นเรื่องราวของปีศาจเพนนี่ ไวซ์ ซึ่งมีความสามารถในการเปลี่ยนรูปร่างเป็นสิ่งที่เหยื่อกลัวที่สุดได้ โดยคิงได้แรงบันดาลในการเขียนเรื่องนี้จากคำสัมภาษณ์ของเขาที่ถูกถามว่าทำไมเขาถึงเขียนเรื่องสยองขวัญตั้งแต่เด็ก ซึ่งเขานั้นตอบไม่ได้ เขาจึงเขียนเพนนี่ไวซ์ซึ่งเป็นตัวแทนของความกลัวทุกสิ่งอย่างเท่าที่เด็กจะกลัวได้ออกมา
ซึ่งเรื่องราวของเพนนี่ไวซ์ก็ได้รับความนิยมมากจนถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ถึงสองภาคด้วยกัน โดยภาคแรกนั้นกวาดรายได้ไปมากกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องเดียวที่ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
1
📌ไม่สยองขวัญก็เขียนได้
นอกเหนือจากผลงานสยองขวัญแล้ว นิยายแนวดราม่าสตีเฟ่น คิงก็เขียนได้เช่นเดียวกัน โดยนิยายดราม่าของสตีเฟ่น คิงที่มีชื่อเสียงนั้นก็คือเรื่องชุด Different Season ซึ่ง 3 ใน 4 เรื่องจากหนังสือชุดนี้ได้รับการนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทั้งสิ้น ได้แก่เรื่อง The body Stand by me, Apt pupil ที่ถูกนำไปสร้างเป็น Stand by me และ Rita Hayworth and Shawshank Redemption ที่ถูกนำไปสร้างเป็น The Shawshank Redemption
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Shawshank Redemption ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำรายได้สูงมากนัก แต่ก็รับการยกย่องให้เป็นหนังดีที่ได้เรตติ้งสูงจากเหล่านักวิจารณ์และยกย่องให้เป็นหนังควรดูให้ได้ในชีวิตเลยทีเดียว
📌รักในสิ่งที่ทำเถิด แล้วจะเกิดความสำเร็จ
สตีเฟ่น คิง นับว่าเป็นอีกหนึ่งบุคลากรคนสำคัญในวงการสิ่งพิมพ์และงานเขียน ซึ่งผลงานของเขาเองนับว่ามีอิทธิพลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมสยองขวัญ จากจุดเริ่มต้นของเด็กชายที่รักในการเขียนยิ่งกว่าอะไร เติบโตขึ้นมาเป็นหนึ่งในนักเขียนผู้มากไปด้วยความสำเร็จ
สตีเฟ่น คิงนับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพยายามไขว่คว้าโอกาส ความขยัน ตลอดจนความรักในสิ่งที่ทำ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสูตรสำเร็จสำคัญที่ทำให้สตีเฟ่น คิงประสบความสำเร็จในวิชาชีพของเขาได้
แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ นักเขียนเราก็ได้แต่พยายามปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคม โดยหวังว่าความรักในสิ่งที่เราทำนี้แหละที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จได้อย่างสตีเฟ่น คิงบ้าง
.
ผู้เขียน : ณัฐรุจา งาตา Content Creator, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา