Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่าน เขียน เรียน รู้
•
ติดตาม
24 ต.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ
คุณควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อใด
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (colorectal cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดอันดับสามและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งอันดับสองของโลก อย่างไรก็ตามมะเร็งชนิดนี้สามารถป้องกันหรือตรวจพบได้ในระยะแรกโดยการตรวจคัดกรองเป็นประจำ ซึ่งแพทย์จะจะมองหาติ่งเนื้อ (การเจริญเติบโตที่ผิดปกติ) หรือมะเร็งในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งคือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบลำไส้ใหญ่และทวารหนักทั้งหมด และเอาติ่งเนื้อหรือมะเร็งออกได้ ส่วนการตรวจแบบอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือก ได้แก่ ตรวจเลือดในอุจจาระ หรือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ (CT colonoscopy) เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว คุณควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อใด
คำตอบของคำถามนี้ขึ้นอยู่กับอายุและปัจจัยเสี่ยงของคุณเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ตามแนวทางเวชปฏิบัติล่าสุด มีคำแนะนำที่แตกต่างกันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง (average risk) และผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (increased risk or high risk)
***สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง***
ผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง คือ คนที่ไม่มีประวัติส่วนตัวหรือประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหรือติ่งเนื้อ (polyps) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (inflammatory bowel disease) หรือกลุ่มอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักทางพันธุกรรม และไม่มีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยง เช่น โรคอ้วน สูบบุหรี่ การขาดการออกกำลังกาย หรือการดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง แนะนำให้เริ่มรับการตรวจคัดกรองเป็นประจำเมื่ออายุ 45 ปีด้วยการทดสอบอุจจาระหรือการตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยการส่องกล้อง ACS แนะนำให้ผู้ที่มีสุขภาพดีและคาดว่าจะมีอายุขัยต่อไปมากกว่า 10 ปี ยังคงได้รับการตรวจคัดกรองเป็นประจำจนกว่าจะอายุ 75 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุระหว่าง 76 ถึง 85 ปี การตัดสินใจรับการตรวจคัดกรองควรขึ้นอยู่กับความคิดเห็นส่วนตัว สุขภาพ และประวัติการตรวจคัดกรองก่อนหน้านี้
การทดสอบอุจจาระซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาเลือดในอุจจาระให้ทำปีละครั้ง หรืออาจเลือกการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ซึ่งทำทุก 10 ปีสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลาง
***ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง***
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ คนที่มีประวัติส่วนตัวหรือครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหรือติ่งเนื้อ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือกลุ่มอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักทางพันธุกรรม พวกเขายังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของพวกเขา เช่น โรคอ้วน สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย หรือการดื่มแอลกอฮอล์
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้คุยกับแพทย์เกี่ยวกับเวลาเริ่มต้นรับการตรวจคัดกรอง การทดสอบที่ใช้ และความถี่ในการรับการตรวจคัดกรอง ต่อไปนี้คือตัวอย่างคำแนะนำในการตรวจคัดกรองสำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือความเสี่ยงสูง:
* บุคคลที่มีญาติสายตรง (บิดา มารดา พี่น้อง หรือบุตร) เคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหรือติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยง (ติ่งเนื้อชนิดหนึ่งที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้) ก่อนอายุ 60 ปี หรือมีญาติสายตรงสองคนขึ้นไปที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักหรือติ่งเนื้อที่มีความเสี่ยงในทุกช่วงอายุ ควรเริ่มรับการตรวจคัดกรองเมื่ออายุ 40 ปี หรือ คิดจากอายุของบุคคลสายตรงที่ตรวจพบมะเร็งครั้งแรกลบด้วย 10 โดยให้เลือกอายุที่น้อยที่สุดในการเริ่มคัดกรอง และควรได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุก ๆ 5 ปี
* บุคคลที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ควรเริ่มรับการตรวจคัดกรองหลังจากเป็นโรคมาแล้ว 8 ปี และควรได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุกๆ 1-2 ปี
* บุคคลที่มีกลุ่มอาการมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักทางพันธุกรรม (เช่น Lynch syndrome หรือ familial adenomatous polyposis) ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการตรวจคัดกรองเฉพาะตามเงื่อนไขทางพันธุกรรม โดยอาจต้องเริ่มรับการตรวจคัดกรองในช่วงวัยรุ่นหรืออายุ 20 ปี และได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่บ่อยขึ้น
จากคำแนะนำข้างต้น แม้ว่าเราจะสุขภาพดีเพียงใดหรือความเสี่ยงน้อยเพียงใด เมื่อเราอายุมากขึ้นจนถึงจุด ๆ หนึ่ง (อายุประมาณ 45 ปี) เราจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสูงขึ้น ดังนั้นแล้ว การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดการแบบทดสอบอุจจาระหรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมในการตรวจคัดกรอง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือเข้าพบแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์อายุรกรรมแผนกทางเดินอาหาร หรือศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักครับ
อ้างอิง
https://www.uspreventiveservicestaskforce.org/uspstf/recommendation/colorectal-cancer-screening
https://acsjournals.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.3322/caac.21457#caac21457-tbl-0001
ความรู้
ไลฟ์สไตล์
สุขภาพ
บันทึก
3
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
รู้ทันหมอ
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย