25 ต.ค. 2023 เวลา 01:30 • หนังสือ

Thai Disaster Alert

• การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า หรือ Early Warning เป็นขั้นตอนการดำเนินการที่สำคัญในการลดความเสี่ยง (Risk Reduction) และ ผลกระทบจากสาธารณภัยหรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นได้
• แม้ว่าพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำให้มนุษย์เราสามารถคาดการณ์หรือพยากรณ์หรือทราบถึงโอกาสในการเกิดภัยพิบัติได้แม่นยำและล่วงหน้ามากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะภัยธรรมชาติที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพลมฟ้าอากาศ เช่น การเกิดพายุ ฝนตกหนัก อากาศหนาวเย็น ทำให้สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้เป็นระยะสัปดาห์ เป็นวันและเป็นรายชั่วโมง
• แต่ก็ยังมีภัยธรรมชาติอีกหลายภัยที่เรามีโอกาสทราบล่วงหน้าในเวลาไม่นานหรือจะทราบเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว เช่น แผ่นดินไหว หรือสึนามิซึ่งประเทศที่อยู่ใกล้จุดเกิดสึนามิจะมีเวลาในการแจ้งเตือนน้อยกว่าประเทศที่อยู่ห่างไกลออกไป
• การแจ้งเตือนภัยนั้นเป้าหมายสำคัญคือการทำให้ข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนไปถึงผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้มีเวลาในการเตรียมรับมือกับภัยที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเตรียมการอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
สำหรับระดับความรุนแรงของภัยที่แจ้งเตือนนั้น ในบ้านเราตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๗๐ กำหนดแบ่งไว้เป็น ๕ ระดับ และใช้เครื่องหมายสีแทนแต่ละระดับ ดังนี้
• สีแดง (ระดับ ๕) สถานการณ์อยู่ในภาวะอันตรายสูงสุด ให้อยู่หรืออพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามข้อสั่งการของเจ้าหน้าที่ • สีส้ม (ระดับ ๔) สถานการณ์อยู่ในภาวะอันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด
• สีเหลือง (ระดับ ๓) สถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตราย มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์
• สีน้ำเงิน (ระดับ ๒) สถานการณ์อยู่ในภาวะเฝ้าระวัง ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด • สีเขียว (ระดับ ๑) สถานการณ์อยู่ในภาวะปกติ
• เครื่องมือหรือช่องทางในการแจ้งเตือนภัยในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น และจำเป็นที่ต้องใช้ช่องทางต่างๆ ร่วมกันเพื่อให้การกระจายข่าวสารไปถึงกลุ่มคนต่างๆ ให้ทั่วถึงและรวดเร็ว วิธีการที่อาจจะดูธรรมดา ไม่ทันสมัยก็ยังมีความจำเป็นต่อการใช้งานอยู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล
• เครื่องมือหรือช่องทางการแจ้งเตือนภัยที่มีการใช้ในประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน มีทั้ง การใช้หอกระจายเสียงหรือหอกระจายข่าวของหมู่บ้านและชุมชน การแจ้งเตือนผ่านหอเตือนภัยที่รับสัญญานจากส่วนกลางผ่านดาวเทียมที่มีการติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย การแจ้งเตือนผ่านสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ การส่งข้อความ SMS การใช้ช่องทาง Social Media ต่างๆ เช่น Twitter หรือ x Facebook สำหรับการแจ้งเตือนไปยังมือถือผ่านระบบ Cell Broadcast นั้นยังอยู่ในระหว่างการดำเนินการซึ่งในอนาคตคงจะได้มีการใช้ในประเทศเราเช่นกัน
• นอกจากนี้แล้ว ในประเทศต่างๆ ก็จะมีการพัฒนา application เพื่อแจ้งเตือนผ่านมือถือเพื่อใช้งานกันในประเทศตนเอง ของบ้านเราตั้งแต่ต้นปี ๒๕๖๕ ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ.ก็ได้มีการพัฒนาและเปิดใช้แอปพลิเคชั่นเพื่อการแจ้งเตือนสาธารณภัยของเราเอง ชื่อว่า Thai Disaster Alert หรือเรียกย่อๆ ว่า TDA มีให้เลือกใช้ได้ ๒ ภาษาคือ ไทยกับอังกฤษ ทั้งในระบบ IOS และ Android
• ในขณะเดียวกัน ทาง ปภ.และกรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้ร่วมมือกับ Line ประเทศไทย เพิ่มช่องทางการแจ้งเตือนภัยผ่านแอปพลิเคชั่น Line ในบัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติชื่อว่า Line Alert อีกด้วย
ผู้อ่านที่ยังไม่ได้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Thai Disaster Alert ลองพิจารณาดาวน์โหลดติดตั้งลงมือถือ ก็จะช่วยทำให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารการแจ้งเตือนภัยที่สำคัญได้ล่วงหน้า และมีเวลารับเตรียมตัวรับมือหากเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย
เล่าเรื่องโดย นาย Bt
๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๖
ติดตามอ่านเรื่องต่างๆ และ ร่วมกด follow ได้ที่
# สองข้างทาง https://www.blockdit.com/bntham
#รอยเท้าที่ก้าวผ่าน https://www.blockdit.com/bntham2
และติดตามซีรีย์ disaster ได้ที่ https://www.blockdit.com/series/65262b5af363005c5fce7edd

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา