8 ธ.ค. 2023 เวลา 08:25 • หนังสือ

20 ปี สึนามึ ตอน 1

. วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ผ่านมาแล้ว 19 ปี และ ในปีหน้า หรือปี พ.ศ. 2567 ก็จะครบ 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษของการเกิดสึนามิในประเทศไทย
. แม้ว่าเวลาจะผ่านมา 19 ปีแล้ว แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงจะยังจำเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม 2547 กันได้ สึนามิที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นถือได้ว่าภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย สร้างความเสียหายและความสูญเสียเป็นอย่างมาก
๑. จากหนังสือ บันทึกเหตุการณ์สาธารณภัยรุนแรงในประเทศไทย พ.ศ.2485-2564 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้บันทึกสรุปเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ดังนี้
“วันที่ 26 ธันวาคม 2547 ประเทศไทยต้องพบความสูญเสียรุนแรงจากคลื่นยักษ์หายนะที่เรียกว่า ‘สึนามิ’ โดยเริ่มต้นเมื่อเวลา 07.58 น. (ตามเวลาประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขนาด 9.0 ระดับความลึกจากพื้นท้องทะเล 28.6 กิโลเมตร ศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่ละติจูด 3.4 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.7 องศาตะวันออก ห่างจากจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 580 กิโลเมตร
ขนาดความรุนแรงก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า “สึนามิ” (TSUNAMI) ส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย อาทิ หาดป่าตอง หาดกมลา หาดกะรน รวมถึงหาดในยาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติภูเก็ต รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย อย่างรุนแรง
จากเหตุการณ์สึนามิถล่มไทย 6 จังหวัดภาตใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และจังหวัดสตูล ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,400 คน บาดเจ็บมากกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมากกว่า 2,000 คน บ้านเรือนประชาชน รีสอร์ต และโรงแรม ตลอดจนระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ไฟฟ้า ประปาโทรศัพท์ ถนน รวมมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท”
๒. คำว่า “สึนามิ” นั้น เป็นคำในภาษาญีปุ่น ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า harbor wave หรือคลื่นที่เข้าสู่อ่าว ฝั่ง หรือ ท่าเรือ โดยคำว่า Tsu หมายถึง harbor แปลว่า อ่าว หรือ ท่าเรือ ส่วนคำว่า Nami หมายถึง คลื่น
คลื่นสึนามิ เกิดขึ้นจากการกระทบกระเทือนที่ทำให้น้ำปริมาณมากเกิดการเคลื่อนตัว เช่น แผ่นดินไหวในทะเล แผ่นดินถล่มในทะเล ภูเขาไฟระเบิดใต้มหาสมุทร อุกกาบาตพุ่งชน รวมทั้งการทดลองนิวเคลียร์ใต้ทะเล
เมื่อแผ่นดินใต้ทะเลเกิดการเปลี่ยนรูปร่างอย่างกะทันหัน จะทำให้น้ำทะเลเกิดเคลื่อนตัวเพื่อปรับระดับ ให้เข้าสู่จุดสมดุลและจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ การเปลี่ยนรูปร่างของพื้นทะเลมักเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวเนื่องจากการขยับตัวของเปลือกโลก ซึ่งจะเกิดบริเวณที่ขอบของเปลือกโลกหลายแผ่นเชื่อมต่อกัน เรียกว่ารอยเลื่อน (fault) เช่น บริเวณขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากแผ่นดินไหวแล้ว ดินถล่มใต้น้ำที่มักเกิดร่วมกับแผ่นดินไหวสามารถทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน นอกจากการกระทบกระเทือนที่เกิดใต้น้ำแล้ว การที่พื้นดินขนาดใหญ่ถล่มลงทะเล หรือการตกกระทบพื้นน้ำของวัตถุ ก็สามารถทำให้เกิดคลื่นได้
๓. ประเทศไทยเรานั้นพื้นที่ติดทะเล 2 ด้าน คือ ด้านตะวันตกติดทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย และด้านตะวันออกมีอ่าวไทย ติดทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการรับผลกระทบเมื่อเกิดสึนามิในท้องทะเลขึ้นจะอยู่ทางภาคใต้ฝั่งอันดามัน ใน 6 จังหวัด 27 อำเภอ 108 ตำบล พื้นที่เสี่ยง/จุดเสี่ยง 478 แห่ง ได้แก่
จังหวัดระนอง 3 อำเภอ (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ สุขสำราญ) 10 ตำบล พื้นที่เสี่ยง/จุดเสี่ยง 43 แห่ง
จังหวัดพังงา 7 อำเภอ (อำเภอเมืองพังงา เกาะยาว คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ทับปุด ท้ายเหมือง) 23 ตำบล พื้นที่เสี่ยง/จุดเสี่ยง 104 แห่ง
จังหวัดภูเก็ต 3 อำเภอ (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ ถลาง) 13 ตำบล พื้นที่เสี่ยง/จุดเสี่ยง 69 แห่ง
จังหวัดกระบี่ 5 อำเภอ (อำเภอเมืองกระบี่ เกาะลันตา คลองท่อม เหนือคลอง อ่าวลึก) 24 ตำบล พื้นที่เสี่ยง/จุดเสี่ยง 80 แห่ง
จังหวัดตรัง 5 อำเภอ (อำเภอกันตัง ปะเหลียน สิเกา ย่านตาขาว หาดสำราญ) 21 ตำบล พื้นที่เสี่ยง/จุดเสี่ยง 102 แห่ง
จังหวัดสตูล 4 อำเภอ (อำเภอเมืองสตูล ละงู ทุ่งหว้า ท่าแพ) 17 ตำบล พื้นที่เสี่ยง/จุดเสี่ยง 80 แห่ง
แนวหมู่เกาะนิโคบาร์ ในทะเลอันดามัน
๔. แหล่งกำเนิดคลื่นสึนามิทางฝั่งอันดามันที่เป็นจุดเฝ้าระวังติดตาม คือ บริเวณเหนือเกาะสุมาตรา ที่เป็นต้นเหตุการเกิดสึนามิในปี 2547 และบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ในทะเลอันดามัน
สำหรับพื้นที่ติดทะเลด้านตะวันออก หรือด้านอ่าวไทยนั้น หลายคนมีความกังวลว่าเมื่อเกิดสึนามิในมหาสมุทรแปซิฟิค เช่น แถบประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ตองก้า ฯลฯ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้านนี้ แต่ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของทะเลด้านอ่าวไทยนั้น
1
ประการแรกคือ อ่าวไทยเป็นไหล่ทวีปที่เป็นเขตน้ำตื้น ส่วนลึกที่สุดเพียง ๘๕ เมตร ซึ่งไม่เอื้อต่อการเคลื่อนที่ของคลื่นสึนามิที่จะเข้าถึงฝั่ง ประการที่สองฝั่งอ่าวไทยมีหมู่เกาะฟิลิปปินส์ หมู่เกาะอินโดนีเซีย รวมทั้งส่วนด้ามขวานของคาบสมุทรอินโดจีนเป็นแนวกันคลื่นสึนามิ ดังนั้น โอกาสจะเกิดสึนามิแล้วส่งผลกระทบมาถึงพื้นที่ทางด้านอ่าวไทยจึงมีน้อยมาก
อ่านต่อในตอนที่ 2
โดย นาย Bt
๘ ธันวาคม ๒๕๖๖
ติดตามอ่านเรื่องต่างๆ และ ร่วมกด follow ได้ที่
# สองข้างทาง https://www.blockdit.com/bntham
#รอยเท้าที่ก้าวผ่าน https://www.blockdit.com/bntham2
และติดตามซีรีย์ disaster ได้ที่ https://www.blockdit.com/series/65262b5af363005c5fce7edd และ
ซีรีย์ @อำเภอ ได้ที่ https://www.blockdit.com/series/652aa201a7b7eabb6b5e1144

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา