8 ธ.ค. 2023 เวลา 08:34 • หนังสือ

20 ปี สึนามึ ตอน 2

๕. หลังจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบเตรียมรับมือกับภัยพิบัติสึนามิไปหลายอย่าง จากรายงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิใน 6 จังหวัดอันดามันได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย ประกอบด้วย หอเตือนภัย จำนวน 133 หอ สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย (CSC) จำนวน 74 แห่ง หอเตือนภัยขนาดเล็ก จำนวน 22 หอ และ เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม (EVAC) จำนวน 47 เครื่อง และทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ จำนวน 2 เครื่อง
๖. หอเตือนภัย (Warning Tower) จะมีความสูงประมาณ ๒๐ เมตร ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียมโดยตรงจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อแจ้งเตือนแก่ประชาชนในพื้นที่ ในลักษณะเสียงไซเรน และเสียงข้อความประกาศเตือน รัศมีการส่งสัญญาณประมาณ 1.5-2.0 กิโลเมตรจากจุดติดตั้ง โดยในทุกเช้าวันพุธเวลา 8.00 นาฬิกา จะมีการทดสอบความพร้อมใช้ของหอเตือนภัย โดยทางพื้นที่จะรายงานมาให้ทราบทันทีหากไม่ได้รับเสียงสัญญานทดสอบ
หอเตือนภัยสึนามิ
สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย (แม่ข่าย หรือ CSC) เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ที่ที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะรับสัญญาณเตือนผ่านระบบสื่อสารดาวเทียมจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แล้วส่งต่อสัญญาณไปยังอุปกรณ์ที่เป็นลูกข่าย เช่น หอเตือนภัยขนาดเล็ก เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยในท้องที่
หอเตือนภัยขนาดเล็ก (Small Tower) หรือเรียกอีกแบบหนึ่งว่า“หอกระจายข่าว” คืออุปกรณ์กระจายเสียงที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย มีความสูงประมาณ 12-15 เมตร มีชุดลำโพงกระจายเสียงเพื่อส่งสัญญาณเตือนได้รอบทิศทางในรัศมีประมาณ 1.0 – 1.5 กิโลเมตร
เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม (EVAC) เป็นอุปกรณ์เตือนภัยที่มีลักษณะคล้าย กล่องสี่เหลี่ยม ได้ทำการติดตั้งไว้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัด และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยทุกจังหวัด (ยกเว้นจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครนายก สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม) เพื่อให้หน่วยงานที่มีอุปกรณ์ติดตั้ง เมื่อได้รับสัญญาณเตือนแล้วจะช่วยส่งกระจายข้อมูลการแจ้งเตือนภัยไปยังเป้าหมายกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ให้รวดเร็ว ทั่วถึง
๗. สำหรับทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ (tsunami buoy) ของประเทศไทย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้มีการติดตั้งในทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย จำนวน 2 จุด
ทุ่นสึนามิ 23401 ตัวไกล
จุดที่หนึ่ง ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ สถานี 23401 ติดตั้งในน่านน้ำสากลบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ประมาณละติจูด 9 องศาเหนือ ลองติจูด 89 องศาตะวันออกห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร หรือประมาณ 600 ไมล์ทะเล เรียกว่าทุ่นตัวไกล
จุดที่สอง ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ สถานี 23461 ติดตั้งในทะเลอันดามัน บริเวณเขตน่านน้ำเศรษฐกิจของประเทศไทย ประมาณละติจูด 9 องศาเหนือ ลองจิจูด 95 องศาตะวันออก ซึ่งห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กม. หรือประมาณ 210 ไมล์ทะเล เรียกว่าทุ่นตัวใกล้
๘. ระบบการทำงานของทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิได้รับการออกแบบโดย หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ประกอบด้วยชุดเครื่องมือ 2 ส่วน
ส่วนที่เป็นทุ่นลอยบนผิวน้ำ (Surface Buoy) มีเครื่องรับคลื่นเสียงความถี่ต่ำจากชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล เครื่องส่งสัญญาณข้อมูลผ่านดาวเทียม และชุดแบตเตอรี่พลังงาน และส่วนที่เป็นชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล (Bottom Pressure Recorder: BPR) เป็นแท่นใต้สมุทร ติดตั้งอยู่ลึกลงไปประมาณ 2,500 - 3,600 เมตร ใต้ผิวน้ำทะเล ประกอบด้วย เครื่องวัดระดับแรงดันน้ำทะเล พร้อมชุดประมวลผล อุปกรณ์รับ – ส่งสัญญาณคลื่นเสียงความถี่ต่ำในการสื่อสารข้อมูล และชุดแบตเตอรี่
หลักการทำงานของระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องตรวจวัดความดันน้ำ และทุ่นลอยที่ผิวน้ำ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งสองส่วนนี้จะมีการสื่อสารกันตลอดเวลา โดยเครื่องตรวจวัดความดันน้ำจะทำหน้าที่ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและนำข้อมูลที่ได้ส่งผ่านไปยังทุ่นลอย
๙. เมื่อมีคลื่นสึนามิเคลื่อนผ่านแท่นใต้สมุทร ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความดันน้ำที่เครื่องวัดความดันน้ำ เครื่องจะส่งสัญญาณมายังทุ่นที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ สัญญาณดังกล่าวจะถูกแปลงเป็นสัญญาณดาวเทียม และถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA)
ข้อมูลจะถูกวิเคราะห์และนำเสนอในรูปกราฟ ความเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ เผยแพร่ในเว็บไซต์ National Data Buoy Centre (http://www.ndbc.noaa.gov/) โดยจะส่งข้อมูลทุก ๆ 15 นาที ในกรณีปกติ (Normal mode) และจะส่งข้อมูลทุก ๆ 15 วินาที ในกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำผิดปกติ
๑๐. หากทาง NOAA ตรวจสอบแล้วว่าเป็นคลื่นสึนามิ ก็จะแจ้งเตือนมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานด้านแจ้งเตือนภัยของประเทศต่างๆ รอบมหาสมุทรอินเดีย
สำหรับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อได้รับข้อมูลการเกิดสึนามิก็จะส่งสัญญาณแจ้งเตือน ไปยังหอเตือนภัยที่ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อให้ประชาชนอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัย
๑๑. ตามมาตรฐานการปฏิบัติในการแจ้งเตือนสึนามิ (SOP : standard operation procedure) จะเริ่มการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวในทะเลระดับความรุนแรงตั้งแต่ 7.8 เป็นต้นไป
โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะส่งสัญญานแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์เตือนภัยสึนามิและมีประกาศแจ้งเตือนเป็นข้อความ 5 ภาษาว่าเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง เพื่อให้คนในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมหากเกิดสึนามิขึ้น และถ้าได้รับสัญญานจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิหรือจากการแจ้งยืนยันของ NOAA ว่าเกิดคลื่นสึนามิ จะมีการกดสัญญานแจ้งเตือนสึนามิ เนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวในทะเลไม่ใช่ทุกครั้งที่จะเกิดเป็นสึนามิ
ติดตามอ่านต่อ ในตอน 3 https://www.blockdit.com/posts/6572c0dd05b7b3c9f9dcf720
โดย นาย Bt
๘ ธันวาคม ๒๕๖๖
ติดตามอ่านเรื่องต่างๆ และ ร่วมกด follow ได้ที่
# สองข้างทาง https://www.blockdit.com/bntham
#รอยเท้าที่ก้าวผ่าน https://www.blockdit.com/bntham2
และติดตามซีรีย์ disaster ได้ที่ https://www.blockdit.com/series/65262b5af363005c5fce7edd และ
ซีรีย์ @อำเภอ ได้ที่ https://www.blockdit.com/series/652aa201a7b7eabb6b5e1144

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา