28 ต.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

ย้อนประวัติศาสตร์ 'อังคารทมิฬ' (Black Tuesday)

เกิดอะไรขึ้นกับอเมริกาในปี 1929?
‘อังคารทมิฬ’ คืออะไร ทำไมถึงสำคัญกับประวัติศาสตร์ของอเมริกา?
อังคารทมิฬ หรือ Black Tuesday เกิดขึ้นในปี 1929 เมื่อตลาดหุ้นวอลสตรีทสหรัฐฯ ล้มดิ่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีการขายหุ้นออก 16.4 ล้านและตลาดหุ้นเสียหายไปกว่า 14 พันล้านดอลลาร์เพียงวันเดียว!
แล้วมันสำคัญอย่างไร?
เพราะเหตุการณ์นี้ ทำให้อเมริกาตกอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression) ซึ่งกินเวลาเวลาไปอีก 10 ปี!
ตัวเลขว่างงานสหรัฐดิ่งร่วงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ธนาคารข้ามชาติพากันปิดตัวระนาว
ไม่เพียงแต่อเมริกา แต่ประเทศอื่นทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ แม้แต่ไทยเองก็ตาม
บทความวันนี้จึงจะพาไปรู้จักกับ ‘อังคารทมิฬ’ (Black Tuesday)
📌 บริบท ‘ก่อน’ อังคารทมิฬปี 1929
ช่วงก่อนนั้น เศรษฐกิจของสหรัฐเฟื่องฟูอย่างมาก เป็นเพราะผลพวงจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่อเมริกาเป็นผู้ชนะโดยไม่ได้รับความเสียหายอะไรเลย
ไม่เพียงแต่เศรษฐกิจ แต่ความเจริญก้าวหน้าทางสังคม ศิลปะ วัฒนธรรม การประดิษฐ์ก็เฟื่องฟูเจริญงอกงามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นยุคที่โลกก้าวสู่ยุค Roaring Twenties หรือยุคที่คนสุดเหวี่ยงกับความสุข เพื่อปลดปล่อยจากความเครียด ความกลัวจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สังคมและเศรษฐกิจทั่วโลกคึกครื้นจนฉุดไม่อยู่
ตอนนั้น ผู้หญิงออกมาทำงานนอกบ้านมากขึ้น จำนวนแรงงานจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เงินสะพัดไปทั่วสหรัฐฯ
เมื่อความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานดี คนจึงเริ่มมองหาความมั่งคั่งด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การซื้อรถยนต์ ซื้อทอง หรือซื้อเทคโนโลยีใหม่ ๆ หากแต่เป็นการ ‘ซื้อหุ้น’ เพื่อลงทุนในความมั่งคั่ง
1
ตอนนั้น การซื้อขายหุ้นเหมือนซื้อขายผักปลาในตลาด ไม่ว่าใครก็สามารถซื้อขายหุ้นได้ จนมีคำกล่าวว่าไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อครัว คนซ่อมรองเท้า หรือคนขับแท็กซี่ ก็สามารถเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์ นักธุรกิจ ได้ทั้งนั้น
2
บริษัทใหม่ ๆ มากมายถือกำเนิดขึ้นจากการที่ธนาคารเปิดให้กู้เงินไปลงทุนและมีรายได้จากการเก็บดอกเบี้ย
จึงถือยุคทองของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดัชนีดาวโจนส์พุ่งสูงถึง 218% เมื่อเทียบกับปี 1922 มูลค่าหุ้นสูงติดต่อกันต่อเนื่องเกือบ 10 ปี
1
แต่ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะการที่หุ้นขึ้นมาจากความคาดหวังของคน แต่ไม่ได้รู้ถึงความสามารถที่แท้จริงของบริษัท คล้ายกับแมงเม่าเข้ากองไฟนั่นแล
เช่น บริษัทของ Henry Ford ที่ราคาหุ้นสูงและใคร ๆ ก็ต่างแย่งกันซื้อ แต่ไม่สามารถทำการผลิตและยอดขายได้มากขนาดนั้น
ตามหลักแล้ว บริษัทไหนผลประกอบการดี ราคาหุ้นจึงสูง แต่ครั้งนี้กลับกันเพราะบริษัทแม้จะมีผลประกอบการไม่ดี แต่ราคาหุ้นกลับสูงซะงั้น
นี่จึงเป็นความกลับตาลปัตรอย่างใหญ่หลวง
จนในปี 1929 ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มลดลง คนเริ่มรับรู้สัญญาณว่าสถานการณ์นี้ไม่ใช่อีกต่อไป และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่เหตุการณ์วัน Black Tuesday
📌 สัญญานวิกฤตแรกเริ่ม
วันพฤหัสที่ 24 ตุลาคม 1929 หรือ Black Thursday นักลงทุนเริ่มแห่ขายหุ้นระนาว เพียงวันเดียวหุ้นถูกขายไปถึง 12.9 ล้านหุ้นเป็นสัญญาณแรกเริ่มของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ
เหตุการณ์ดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 1929 เมื่อดัชนีดาวโจน์ตกลงไป -12% และทำลายสถิติขายหุ้นออกไปถึง 16.4 ล้านหุ้น
ตอนนั้น ตลาดเสียหายไปมูลค่ากว่า 14 พันล้านภายในเวลาเพียงวันเดียว!
📌 ผลพวงของ Black Tuesday
นักลงทุนที่ถือหุ้นก็ราคาตกฮวบ ส่วนใครที่กู้เงินมาลงทุนก็กลายเป็นคนล้มละลาย หนี้ท่วมไปหมด
เมื่อบริษัทล้มละลาย คนก็ตกงาน ตัวเลขว่างงานในตอนนั้นพุ่งสูง 24.9% ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ธนาคารหลายแห่งปิดตัว และเหตุการณ์นี้ไม่ได้ส่งผลแค่กับอเมริกาเท่านั้น ไม่ว่าจะอังกฤษ ฝรั่งเศส แคนาดา ไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกมากมายต่างได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้
ความเสียหายเริ่มมาตั้งแต่ปี 1929 และทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1939 นับเป็นวิกฤตใหญ่ครั้งหนึ่งที่โลกต้องจดจำ
1
แล้วอเมริกาแก้ปัญหานี้อย่างไร?
วิกฤตครั้งนี้สิ้นสุดในปี 1939 สาเหตุมาจากโลกกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 จากการก้าวขึ้นมาของผู้นำอย่าง ‘ฮิตเลอร์’ ทำให้สหรัฐฯ ต้องเตรียมการรบทำสงคราม ส่งผลให้มีการจ้างแรงงานจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นการสิ้นสุดวิกฤตเรื่องนึง และเกิดอีกวิกฤตแทน
2
ในแง่นโยบายการคลัง ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ มุ่งเน้นคุ้มครองความมั่งคั่งของสหรัฐฯ ให้เสถียรภาพมากขึ้น เช่น จัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Federal deposit insurance corporation) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ฝากเงิน และมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (U.S. Securities and Exchange Commission) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมที่เกิดในตลาดหุ้นให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น
4
ผู้เขียน : ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
References:
2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา