13 ธ.ค. 2023 เวลา 23:00 • ธุรกิจ

ข้อได้เปรียบเสียเปรียบของธุรกิจแบบ "สแตนอโลน"

ในการเริ่มต้นที่จะประกอบธุรกิจนั้น หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเลยก็คือ โมเดลธุรกิจของเรา
โมเดลธุรกิจมีความสำคัญต่อธุรกิจทุกประเภท การเลือกโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมจะช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดทิศทางและเป้าหมายของธุรกิจได้อย่างชัดเจน
และช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้
ครั้งนี้จะมาบอกเล่าข้อได้เปรียบเสียเปรียบของโมเดลธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนั่นก็คือ "สแตนอโลน"
ความหมายของคำว่า "ธุรกิจแบบสแตนอโลน" หลายๆคนอาจนึกถึงร้านแบบสแตนอโลน หรือร้านที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า เช่น สวนอาหาร บ้าน ตึกแถว ริมถนน หรือสิ่งปลูกสร้างเดี่ยวๆ
แต่จริงๆแล้วความหมายหรือนิยามของธุรกิจแบบสแตนอโลนนั้นมีมากกว่าการเป็นร้านที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้า
สแตนอโลนเป็นโมเดลธุรกิจที่ดำเนินงานแยกออกจากธุรกิจอื่นๆ โดยไม่มีการบริหารร่วมกับธุรกิจอื่นๆ
หรืออธิบายแบบง่ายก็คือ เป็นธุรกิจที่รับผิดชอบและการตัดสินใจทั้งหมด ตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์ การบริหารงาน ไปจนถึงการหารายได้และกำไร ด้วยตนเองนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะบอกว่าเป็นธุรกิจที่รับผิดชอบและการตัดสินใจทั้งหมดด้วยตนเอง แต่ธุรกิจสแตนอโลนนั้นจะค่อนข้างเรียบง่าย และมักไม่ได้มีรูปแบบการบริหารบริษัทหรือองค์กรที่ซับซ้อนอะไรนัก ซึ่งมักพบในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง
ตัวอย่างเช่น นาย A เปิดร้านชานมไข่มุกขนาดเล็กที่ชื่อว่า KALA ในตึกแถว ด้วยความที่ร้าน KALA เป็นร้านขายชานมไข่มุกเล็กๆและนาย A ลงทุนเปิดร้านนี้ด้วยตัวคนเดียว จึงไม่จำเป็นจะต้องมีการแบ่งอำนาจบริหารหรือตัดสินใจให้กับใคร
ร้านชานมไข่มุก KALA ของนาย A จะจัดว่าเป็นธุรกิจแบบสแตนอโลน
ในทางกลับกัน นาย B ลงทุนเปิดสวนอาหารขนาดใหญ่กับนาย C บนที่ดินริมถนนที่ชื่อว่า Heavenly Food Garden ซึ่งมีอยู่หลายสาขา โดยนาย B และนาย C ถือหุ้นสวนอาหารนี้กันคนละครึ่ง
ด้วยความที่เป็นสวนอาหารขนาดใหญ่ นาย B และนาย C จึงมีการแบ่งอำนาจการบริหารเป็นฝ่ายบุคลากร ฝ่ายรักษาความปลอคภัย ฝ่ายบัญชี ฝ่ายจัดหา และฝ่ายอื่นๆ
และมอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายดูแล โดยให้สิทธิ์ขาดในการบริหารฝ่ายนั้นๆ ในทุกสาขาในเครือของ Heavenly Food Garden โดยอำนาจสูงสุดจะอยู่ที่นาย B และนาย C
ร้าน Heavenly Food Garden ของนาย B และนาย C จึงอาจไม่ได้จัดอยู่ในธุรกิจแบบสแตนอโลน แม้ร้าน Heavenly Food Garden จะตั้งอยู่นอกห้างสรรพสินค้าก็ตาม
และแม้ทั้งสองร้านที่กล่าวมา อาจจะตั้งอยู่นอกห้างสรรพสินค้าและอำนาจสูงสุดจะอยู่ที่เจ้าของธุรกิจเหมือนกัน แต่จุดที่ทำให้ร้าน Heavenly Food Garden ไม่จัดอยู่ในธุรกิจแบบสแตนอโลนแบบเต็มตัว
ก็คือ ร้าน Heavenly Food Garden ไม่ได้มีเจ้าของหรือผู้บริหารเพียงคนเดียว รวมถึงอำนาจในการบริหารต่างๆของสาขาทั้งหมดอยู่ที่หัวหน้าฝ่าย ไม่ได้อยู่ที่ตัวสาขานั้นนั่นเอง
ทำให้ร้าน Heavenly Food Garden จึงไม่จัดอยู่ในธุรกิจแบบสแตนอโลนแบบเต็มตัว แต่เป็นโมเดลธุรกิจแบบผสม
  • ข้อได้เปรียบของธุรกิจแบบสแตนอโลน
1. อิสระ เจ้าของธุรกิจแบบสแตนอโลนมีอิสระในการตัดสินใจทุกเรื่อง ตั้งแต่การวางแผนธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ ไปจนถึงการการตลาดและการขาย เจ้าของธุรกิจสามารถกำหนดทิศทางและเป้าหมายของธุรกิจได้ตามที่ต้องการ
2. ความยืดหยุ่น ธุรกิจแบบสแตนอโลนมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของตลาดและความต้องการของลูกค้า เจ้าของธุรกิจสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยไม่ต้องการการอนุมัติจากใคร
3. ความคิดสร้างสรรค์ ธุรกิจแบบสแตนอโลนจะเปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจได้แสดงความเป็นตัวเองและความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ เจ้าของธุรกิจสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
4. ความเป็นไปได้ในการทำกำไร ธุรกิจแบบสแตนอโลนอาจสามารถทำกำไรได้สูง เนื่องจากเป็นธุรกิจเดี่ยวไม่มีพันธะทางการเงินกับธุรกิจอื่นๆ และเจ้าของธุรกิจไม่จำเป็นต้องแบ่งกำไรให้กับผู้อื่น
5. บทบาทในชุมชน ธุรกิจแบบสแตนอโลนมักมีบทบาทสำคัญในชุมชน ส่วนใหญ่ธุรกิจโมเดลนี้จะเป็นขนาดเล็กและขนาดกลาง จึงมักเป็นแหล่งจ้างงาน รวมถึงมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของชุมชน และด้วยความที่ใกล้ชิดกับชุมชนจะทำให้ธุรกิจได้ข้อมูลและเข้าใจพฤติกรรมหรือความคิดของผู้บริโภคในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
  • ข้อเสียเปรียบของธุรกิจแบบสแตนอโลน
1. ความเสี่ยง ธุรกิจแบบสแตนอโลนมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเจ้าของธุรกิจต้องแบกรับภาระทั้งหมดด้วยตนเอง หากธุรกิจประสบปัญหา เจ้าของธุรกิจอาจต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือเงินทุนของตนเองที่มีอยู่
2. ต้นทุนเริ่มต้นสูง ธุรกิจแบบสแตนอโลนมีต้นทุนเริ่มต้นสูง เนื่องจากเจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักต้องลงทุนในสิ่งต่างๆ เช่น สถานที่ตั้ง อุปกรณ์ สินค้าหรือบริการ และอื่นๆ ด้วยตนเองเพียงผู้เดียว
3. การทำงานหนัก เจ้าของธุรกิจแบบสแตนอโลนมักต้องทำงานหนัก โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เจ้าของธุรกิจอาจต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เช่น บริหารงาน การตลาด และการขาย เนื่องด้วยธุรกิจแบบสแตนอโลนมักมีเจ้าของและตัดสินใจเพียงคนเดียว
4. ทรัพยากรจำกัด ธุรกิจแบบสแตนอโลนมักมีทรัพยากรจำกัด ทั้งในด้านเงินทุนและบุคลากร สิ่งนี้อาจทำให้ธุรกิจไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ แต่หากเป็นโมเดลธุรกิจอื่น อาจสามารถระดมเงินทุนหรือทรัพยากรให้กับธุรกิจได้
5. ความท้าทายในการตลาด ธุรกิจแบบสแตนอโลนมักต้องเผชิญกับความท้าทายในการทำธุรกิจหลายประการ เนื่องจากมักเป็นธุรกิจที่ขนาดเล็กและขนาดกลาง ทำให้การที่จะประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) อย่างเช่น การซื้อวัตถุดิบทีละเยอะๆเพื่อที่จะต่อรองราคาวัตถุดิบกับผู้ผลิตให้ได้ราคาถูก อาจทำได้ยากกว่าโมเดลธุรกิจอื่นหรือธุรกิจขนาดใหญ่
คำจำกัดความของธุรกิจแบบสแตนอโลนที่นอกเหนือจากการเป็นร้านที่อยู่นอกห้างสรรพสินค้ายังมีอยู่อีกหลายแง่มุม
ธุรกิจแบบสแตนอโลนมักเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือธุรกิจขนาดกลางและมีโครงสร้างบริษัทหรือองค์กรที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน
และมักเป็นที่รู้จักในชุมชนหรือท้องถิ่นเสมอ เนื่องจากเป็นเป็นแหล่งจ้างงาน และผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจมักเป็นคนในบริเวณชุมชนหรือท้องถิ่นนั้นๆ
ทำให้ธุรกิจแบบสแตนอโลนมักมีส่วนร่วมกับชุมชนหรือท้องถิ่น ส่งผลให้สามารถรับรู้ถึงพฤติกรรมหรือความต้องการของผู้บริโภคในชุมชนหรือท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
และด้วยโครงสร้างธุรกิจที่มีเจ้าของหรือผู้บริหารที่รับผิดชอบในการตัดสินใจทั้งหมดเพียงผู้เดียว ทำให้ธุรกิจรูปแบบนี้มีความยิดหยุ่นในการปรับปรุงการดำเนินงานต่างๆได้สูงและรวดเร็ว เพราะว่าไม่จำเป็นต้องขอความเห็นหรือรออนุมัติจากผู้ร่วมลงทุนและผู้ร่วมธุรกิจ
แต่ในทางกลับกัน เพื่อแลกกับอิสระและความยืดหยุ่นของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจแบบสแตนอโลนมักเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำการตลาด และการทำงานที่ค่อนข้างหนัก ความท้าทายนี้ยังรวมถึงต้นสูงเริ่มต้นธุรกิจหรือต้นทุนด้านอื่นๆ
เนื่องจากธุรกิจแบบสแตนอโลนมักมีเจ้าของเพียงคนเดียวเลยต้องตัดสินใจเอง ซึ่งอาจจะเกิดความผิดพลาดก็ได้เช่นกัน และเจ้าของธุรกิจยังต้องแบกรับความเสี่ยงทั้งหมดนั้นไว้เพียงผู้เดียวอีกด้วย
การตัดสินใจอะไรเองทุกอย่างนี้ อาจทำให้ธุรกิจแบบสแตนอโลนไม่สามารถที่จะแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้ในบางกรณี เนื่องด้วยธุรกิขขนาดใหญ่มีโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย ทำให้สามารถทำงานและบูรณาการร่วมกันได้มากกว่า
จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าธุรกิจแบบสแตนอโลน แม้จะมีข้อได้เปรียบที่ยอดเยื่ยมแต่ก็มีข้อเสียเปรียบที่สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งความเหมาะสมหากต้องการเลือกใช้โมเดลธุรกิจนี้ นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจด้วยว่าทำเกี่ยวกับอะไร
การเลือกโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมและสอดคล้องกับประเภทของธุรกิจนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมาก
ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา