7 ธ.ค. 2023 เวลา 13:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

"หนู" กลายเป็นอีกหนึ่งสายพันธ์ุที่มีความสามารถในการตระหนักรู้ว่าเงาสะท้อนในกระจกคือตัวมันเอง

เข้าร่วมทำเนียบสัตว์โลกที่มีสามารถตระหนักรู้ถึงเงาสะท้อนของตัวเอง อันได้แก่ วานรยักษ์(Great Ape) นกสาลิกาปากดำ และโลมาปากขวด
เราคงเคยเห็นคลิปตลก ๆ ของเหล่า หมา แมว ที่เมื่อเห็นตัวเองในกระจกก็จะแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อเงาสะท้อนในกระจกแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะ ตกใจ ขู่ หรือแม้แต่เข้าโจมตี แม้แต่เรื่องเล่าในนิทานอีสปที่สุนัขกระโจนลงน้ำเพราะเห็นเงาตัวเองที่คาบชิ้นเนื้ออยู่ในปาก
นั่นก็เป็นเพราะว่าพวกมันไม่มีความสามารถในการตระหนักรู้ว่าภาพที่เห็นอยู่ในกระจกนั้นคือภาพสะท้อนของตัวมันเอง มีเพียงไม่กี่สายพันธ์ุบนโลกที่มีความสามารถในการตระหนักรู้แบบนี้ได้ ซึ่งก็รวมถึงมนุษย์เรา
ล่าสุดทีมนักวิจัยได้พบว่าหนูนั้นเป็นอีกสายพันธ์ุที่ผ่านการทดสอบการตระหนักรู้นี้ รวมถึงยังสามารถระบุถึงบริเวณที่เกิดกิจกรรมในสมองของหนูในช่วงของการตระหนักรู้ ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจถึงกลไกการทำงานของกลุ่มเซลล์ประสาทในสมองที่ทำหน้าที่ในการแยกแยะและจดจำตัวเองได้
โดยในการทดสอบนั้นทีมวิจัยได้ทำการป้ายหมึกสีขาวไว้ที่หน้าผากของหนูขนดำ และปล่อยให้พวกมันได้เจอกับภาพสะท้อนตัวเองในกระจก
ซึ่งหนูที่โดนป้ายหมึกสีขาวจะแสดงพฤติกรรมในการพยายามที่จะปัดขนบนหน้าผากบริเวณที่เปื้อนหมึกออก
รูปแบบการทดสอบเปรียบเทียบพฤติกรรม
รูปแบบการทดสอบคือ T1) ป้ายหมึกขาวในกล่องไม่มีกระจกเงา T2) ป้ายหมึกขาวอยู่ในกล่องมืดมีกระจกเงา T3) ป้ายหมึกดำมีกระจกเงา T4) ป้ายหมึกขาวมีกระจกเงา
ทั้งนี้ความสามารถในการตระหนักรู้ถึงเงาสะท้อนตัวเองในกระจกของหนูนั้นยังมีความแตกต่างจากวานรยักษ์หรือมนุษย์ ที่ไม่ต้องอาศัยการป้ายสีขาวบนหน้าผากเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตระหนักรู้ขึ้นมาได้
จำนวนครั้งที่หนูลูบขนบนหน้าผากเยอะขึ้นตามขนาดของปื้นหมึกขาว
ซึ่งจากการทดลองยิ่งปื้นหมึกสีขาวมีขนาดใหญ่หนูก็จะมีความตระหนักรู้ได้มากขึ้นและรวดเร็วขึ้น แต่กับหมึกสีดำหรือการป้ายหมึกสีขาวที่บริเวณอื่นของร่างกายนั้นไม่ได้กระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมรับรู้ว่าสิ่งที่เห็นในกระจกคือตัวมันเองเท่ากับการป้ายหมึกสีขาวบนหน้าผาก
และจากการทดสอบนี้ทีมนักวิจัยยังได้ทำการสแกนดูกิจกรรมของกลุ่มเซลล์ประสาทของหนูทดลองเพื่อศึกษาดูว่าสมองส่วนไหนบ้างที่เกิดการตอบสนองและกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมตระหนักรู้นี้
เซลล์ประสาทในสมองบริเวณที่เรียกว่า Dorsoventral CA1 ในสมองส่วน ventral hippocampus คือส่วนที่มีกิจกรรมเกิดมากในระหว่างการแสดงพฤติกรรมนี้
ซึ่งก็คือบริเวณที่เรียกว่า Dorsoventral CA1 ในสมองส่วน ventral hippocampus โดยนักวิจัยยังได้ทำการทดสอบลึกลงไปอีกและพบว่ากลุ่มเซลล์ประสาทในบริเวณนี้ยังทำหน้าที่ในการจดจำและแยกแยะถึงรูปร่างและลักษณะของหนูสายพันธฺ์เดียวกันอีกด้วย
เปรียบเทียบกิจกรรมในสมองเมื่อหนูเห็นตัวเองในกระจกและเห็นพวกเดียวกันผ่านกระจกใส
โดยในการทดลองพบว่ากิจกรรมในสมองเมื่อหนูเห็นตัวเองในกระจกและเห็นพวกเดียวกันผ่านกระจกใสนั้นเกิดขึ้นในบริเวณเดียวกัน
ซึ่งนี่อาจจะเป็นการเปิดโลกให้เราเข้าใจการทำงานของสมองเรามากขึ้นถึงกลไกการแยกเยอะเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกับเรา รวมถึงการตระหนักรู้ถึงตัวเอง
ก่อนหน้านี้เราเริ่มมีความเข้าใจในกลไกการสร้างและเก็บความทรงจำลงในสมองของเรา ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูล สถานที่ กิจกรรม ช่วงเวลา และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่กลไกในการใส่ตัวตนของเราเข้าไปในเหตุการณ์ของความทรงจำนั้นยังคงเป็นเหมือนกล่องดำปริศนามาจนถึงทุกวันนี้
ขอต้อนรับเจ้าหนูน้อยสู่อาณาจักรสัตว์ที่มีความสามารถตระหนักรู้ตัวตนในกระจกเงา เชื่อได้ว่ายังจะมีอีกหลายสายพันธ์ุบนโลกนี้ที่มีความตระหนักรู้แบบนี้เช่นเดียวกัน ;)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา