Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InvestWay
•
ติดตาม
21 ธ.ค. 2023 เวลา 08:36 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Balance Sheet Recession คืออะไร และต่างจาก Recession อย่างไร
Balance Sheet Recession อาจเป็นคำที่หลายๆคนไม่ค่อยจะได้ยินมากซักเท่าไหร่นัก ซึ่งต่างจากคำว่า Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่เป็นภาวะที่การเติบโตของ GDP ของประเทศติดลบต่อเนื่องอย่างน้อยสองไตรมาส ซึ่งมักเคยได้ยินกันอยู่บ่อยครั้ง
ครั้งนี้เลยจะพามารู้จักกับคำว่า Balance Sheet Recession กันว่าสิ่งนี้คืออะไรกันแน่ และมักจะเกิดขึ้นเมื่อใดกัน?
คำจำกัดความที่เหมาะสมที่สุดของคำๆนี้ นั่นก็คือ "ภาวะถดถอยของงบดุล" ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่ระบบเศรษฐกิจ ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังของพวกเขา หรือมักจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีปัญหาด้านโครงสร้างหนี้ภายในประเทศ
ซึ่งภาวะถดถอยของงบดุลก็นับเป็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอีกประเภทหนึ่ง
ทีนี้ลองมาทำความเข้าใจกับภาวะดังกล่าวกัน ภาวะถดถอยของงบดุล หรือก็คือ ภาวะที่เกิดจาก "ความไม่สมดุลของสินทรัพย์และหนี้สิน" ในภาคธุรกิจและครัวเรือน
อธิบายง่ายๆ คือ พวกเขามีจำนวนสินทรัพย์และหนี้สินห่างกัน หรือมีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ค่อนข้างมาก จนเกิดความไม่สมดุลกันนั่นเอง
โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นหลังจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีสินทรัพย์และหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย
ที่บอกว่าภาวะดังกล่าวนี้มักเกิดขึ้นกับประเทศที่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลหรือกระทรวงการคลัง
นั่นก็เพราะว่าการที่เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมานั้น มักจะเกิดขึ้นจากการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่มากเกินไป หรือการอัดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อแก้ไขปัญหาบางอย่าง ซึ่งมักมาจากนโยบายการคลังจากทางภาครัฐนั่นเอง
ซึ่งภาวะถดถอยของงบดุลที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่มักจะได้รับแรงหนุนมาจากหนี้ของทางภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง
ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรง เป็นผลให้ธุรกิจต่างๆมีการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางธุรกิจกันมากขึ้น ทำให้ทั้งสินทรัพย์และหนี้สินของธุรกิจเพิ่มขึ้น
ซึ่งรวมถึงในภาคครัวเรือนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เงินที่นำมาใช้ประโยชน์นั้นเป็นเงินที่มาจากการกู้ยืม ไม่ใช่เงินออมของพวกเขาเองทั้งหมด ในขณะเดียวกันการลงทุนต่างๆของธุรกิจหรือครัวเรือนก็จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อให้สิ่งนั้นสามารถที่จะสร้างรายได้หรือผลกำไรได้
หรือก็คือ แม้สินทรัพย์ของพวกเขาจะมีเพิ่มขึ้น แต่สินทรัพย์ดังกล่าวก็สร้างมาจากเงินทุนที่ได้จากการกู้ยืมอยู่ดี
หนี้สินที่เกิดขึ้นปริมาณมาก จุดนี้เองที่กลายเป็นความเสี่ยงและปัจจัยสำคัญ ที่จะนำไปสู่ภาวะถดถอยของงบดุล
เพราะต้องไม่ลืมว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการการกู้หนี้ยืมจำนวนมาก ส่วนใหญ่นั้นมาจากช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรง ในขณะเดียวกันการใช้จ่ายที่มากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจที่ร้อนแรงก็จะนำมาซึ่ง "ภาวะเงินเฟ้อ" ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่หนี้สินของภาคธุรกิจและครัวเรือนมีมากขึ้น
ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจะตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกดดันภาคธุรกิจและครัวเรือนที่มีหนี้สินในระดับที่สูง สถานการณ์ดังกล่าวนี้อาจจะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจและครัวเรือนมีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นคืออะไร?
แน่นอนว่าเมื่อหนี้สินของภาคธุรกิจและครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูงและมีภาระที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น พวกเขาก็จะมุ่งเน้นไปที่การ "ลดภาระ" โดยการลดการใช้จ่ายของตนเองลง เพื่อที่จะลดหนี้สินที่มีอยู่
และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงวิกฤตหรือปัญหาทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้
หรือก็คือ พวกเขาจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายของตนเองลง เพื่อปรับความไม่สมดุลระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินของตนเอง
ซึ่งสิ่งนี้อาจนำมาซึ่งการใช้จ่ายภาคธุรกิจและครัวเรือนที่น้อยลง และเมื่อการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมีน้อยลง
ในทางเศรษฐศาสตร์เมื่อการหมุนเวียนของสภาพคล่องน้อยลง ก็จะนำไปสู่ "ภาวะเงินฝืด" และอาจจะตามมาด้วยเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงนั่นเอง
ที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้ก็เป็นคำตอบของอีกคำถามที่ว่า ภาวะถดถอยของงบดุลนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใดกัน
คำตอบก็คือ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเริ่มปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์ เป็นต้น
ซึ่งในที่นี้อาจรวมถึงปัญหาที่มาจากโครงสร้างหนี้และโครงสร้างประชากรของแต่ละประเทศด้วย เช่น นโยบายประชานิยม สังคมผู้สูงวัยในประเทศ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของภาครัฐด้วยเช่นกัน
โดยผลกระทบที่มาจาก Balance Sheet Recession หรือภาวะถดถอยของงบดุล นั้นมักรุนแรงและยาวนานกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วไป
เนื่องจากภาคธุรกิจและครัวเรือนจำเป็นต้องชำระหนี้ให้หนี้สินของตนเองลดลงเสียก่อน จึงจะสามารถใช้จ่ายหรือลงทุนเพิ่มมากขึ้นได้นั่นเอง
ส่งผลให้การบริโภคและการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจลดลง ภาคธุรกิจและครัวเรือนอาจขาดสภาพคล่องและมีการลงทุนใหม่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น
ตัวอย่างของภาวะถดถอยของงบดุลที่เคยเกิดขึ้นแล้ว อย่างภาวะเศรษฐกิจถดถอยในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯในช่วงทศวรรษ 2000 หรือที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นที่จีนในช่วงเวลานี้
หากเพื่อนๆ หรือนักลงทุนสนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง
References:
https://en.wikipedia.org/wiki/Balance_sheet_recession
https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-06-29/inventor-of-balance-sheet-recession-says-china-is-now-in-one?embedded-checkout=true
เศรษฐกิจ
ธุรกิจ
การลงทุน
3 บันทึก
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
INVESTING NEWS AND ECONOMY SERIES by InvestWay
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย