12 ม.ค. 2024 เวลา 06:40 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Fiscal Dominance ภาวะที่ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกอาจต้องเผชิญ

Fiscal Dominance หรือการครอบงำทางการคลัง เป็นแนวคิดเศรษฐศาสตร์แนวคิดหนึ่ง ที่กล่าวถึงภาวะที่รัฐบาลมีหนี้สินหรือมีการขาดดุลงบประมาณในระดับที่สูง จนเป็นผลทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หรือก็คือ ภาวะที่สถานะการคลังมีความสำคัญมากกว่านโยบายการเงิน ซึ่งนำไปสู่สถานการณ์ที่การตัดสินใจทางการคลังของรัฐบาลมีอิทธิพลมากกว่าการตัดสินใจของธนาคารกลาง
หากนึกภาพไม่ออกให้ลองสมมุติดูว่า ประเทศ A ที่มีหนี้สินสาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 300% และกำลังเกิดภาวะเงินเฟ้อ โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5%
แต่ด้วยหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ที่สูงเกินไป ทำให้ธนาคารกลางของประเทศ A ไม่สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินอะไรได้มากนัก
เพราะในกรณีของประเทศ A หนี้สินสาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 300% ซึ่งถือว่าสูงมาก หากธนาคารกลางต้องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ธนาคารกลางจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงมาก โดยทั่วไปมักจะปรับให้อยู่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นและอาจทำให้รัฐบาลของประเทศเล็กๆล้มละลายได้ หรืออาจเกิดการพังทลายของระบบเศรษฐกิจได้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ดังนั้นธนาคารกลางของประเทศ A จึงไม่สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อได้อย่างเต็มที่
อธิบายง่ายๆ ก็คือ เป็นภาวะที่เสถียรภาพของการคลังมีความสำคัญมากกว่าเสถียรภาพด้านอื่นๆ รวมถึงเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารกลางด้วยนั่นเอง
ซึ่ง Fiscal Dominance หรือการครอบงำทางการคลังดังกล่าวนี้ เป็นภาวะที่กำลังเกิดขึ้นกับเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่มีหนี้สูง หรือมีการเติบโตของหนี้จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา
และในบรรดาประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีการครอบงำทางการคลังเด่นชัดที่สุด นั่นก็คือ ประเทศญี่ปุ่น
ในกรณีของญี่ปุ่น ด้วยหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ที่อยู่ที่ประมาณ 255% ซึ่งถือว่าสูงมาก
ภาวะหนี้สินที่สูงนี้ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ไม่สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อญี่ปุ่นต้องเผชิญกับอัตาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้
หรือไม่สามารถรักษามูลค่าของสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าลง จากการที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้
เพราะถ้าหากธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของพวกเขา จะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องรับภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป ด้วยโครงสร้างหนี้ที่เปราะบางนี้เอง อาจทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา
ธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงได้ตัดสินใจที่จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามธนาคารกลางสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา
แต่พวกเขาอาจเลือกที่จะรอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาแทน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านการคลังภายในประเทศ ญี่ปุ่นจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการครอบงำทางการคลังนั่นเอง
  • ปัจจัยเบื้องต้นอะไรบ้างที่เข้าเกณฑ์ Fiscal Dominance
- ระดับหนี้สาธารณะที่สูง
ระดับหนี้สาธารณะที่มากเกินไปเมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ อาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงอำนาจทางการคลังที่มีต่อเศรษฐกิจ
หากรัฐบาลพึ่งพาการกู้ยืมเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายมากเกินไป จะทำให้นโยบายทางการคลังมีความสำคัญต่อประเทศสูงกว่านโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพังทลายของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบต่อหนี้ภาคเอกชนด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วไม่ควรจะเป็นแบบนั้น
- การจัดหาเงินทุนสำหรับพัฒนาประเทศ
สิ่งที่มักจะพบเห็นในประเทศที่กำลังเผชิญกับการครอบงำทางการคลัง นั่นก็คือ การพิมพ์เงินใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายนักลงทุน
เมื่อประเทศหันไปใช้วิธีหาเงินเพิ่ม อย่างการพิมพ์เงินเพื่อใช้แก้ไขปัญหาหรือดำเนินเศรษฐกิจ โดยที่เงินนั้นไม่ได้มาจากการเพิ่มผลผลิตของประเทศ (Productivity) นั้นอาจบ่งบอกว่ารัฐบาลไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นได้
ทำให้แนวโน้มที่พวกเขาจะทำการพิมพ์เงินออกมาใหม่อีกครั้งนั้นมีมากขึ้น และจะนำไปสู่ระดับหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น และการขาดดุลทางการคลังที่มากขึ้น
- การเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย
ประเทศที่กำลังเผชิญกับการครอบงำทางการคลัง นั่นมักจะมีการรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับที่ต่ำ แม้จะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ตาม ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินนโยบายทางการเงินให้ปลอคภัยกับสถานการณ์การคลังของประเทศ
ซึ่งอาจบ่งชี้ว่าธนาคารกลางมีอำนาจด้อยกว่าทางการคลัง ในการตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศ
- ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง
โดยปกติแล้ว ธนาคารกลางนั้นจะค่อนข้างเป็นอิสระจากรัฐบาล โดยรัฐบาลจะมีหน้าที่ดูแลการคลังของประเทศซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แต่หน้าที่นั้นจะเป็นของธนาคารกลางที่มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
เมื่อใดที่รัฐบาลมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญหรือควบคุมกระบวนการตัดสินใจของธนาคารกลางได้ นั่นอาจเป็นสัญญาณของการครอบงำทางการคลัง
โดยความเป็นอิสระมักวัดจากบทบัญญัติทางกฎหมาย และกรอบการทำงานของสถาบันการเงินนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ภาวะ Fiscal Dominance หรือการครอบงำทางการคลัง นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ระดับหนี้สินสาธารณะ หนี้สินภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายทางเศรษฐกิจอื่นๆของรัฐบาล ซึ่งสามารถมองได้ในหลายแง่มุม
เช่น แม้ระดับหนี้สาธารณะของประเทศจะสูง แต่ถ้าหากยังสามารถเพิ่มผลผลิต (Productivity) ของประเทศให้เติบโตสอดคล้องไปกับระดับหนี้สาธารณะได้ การครอบงำทางการคลังนี้อาจจะไม่ได้เป็นปัญหา
ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความเห็นพ้องต้องกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ ว่าการครอบงำทางการคลังนั้นมีปัญหามากน้อยเพียงใด
บางคนแย้งว่ามันเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในขณะที่บางคนแย้งว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่อะไรอย่างที่คิดไว้
อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวก็ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในการลงทุน และเป็นสิ่งที่นำลงทุนจำเป็นต้องทราบเอาไว้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา