8 ม.ค. 2024 เวลา 09:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีกี่ประเภท นักลงทุนควรให้ความสำคัญอะไรมากกว่ากัน

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทและเศรษฐกิจโดยรวม
โดยวัดจากมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตได้ภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายและการลงทุนเพิ่มขึ้น
สำหรับการลงทุนแล้ว เราจึงควรพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มีรายได้เติบโตตาม GDP ของประเทศนั้นๆ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ดีตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างเช่น ประเทศ A มี GDP Growth Rate อยู่ที่่ 5% หากเราต้องการลงทุนในประเทศ A เราควรพิจารณาลงทุนในบริษัทที่มี EPS Growth อย่างน้อย 5% เช่นกัน
ครั้งนี้เลยจะมาเจาะลึกกันว่า มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประเภทใดบ้างที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญและแตกต่างกันอย่างไร
สำหรับการลงทุนแล้วเราควรที่จะอ้างอิงประเภทใดมากกว่ากัน ซึ่งหลักๆแล้วมีด้วยกัน 3 ประเภท
  • Nominal GDP
Nominal GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน เป็นการวัดผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ โดยไม่ได้มีการปรับปรุงหรือตัดอัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืดออกไป ณ ราคานั้นๆ
โดยแสดงถึงมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายทั้งหมดที่ผลิตภายในพรมแดนของประเทศในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปคือ หนึ่งปี
อธิบายง่ายๆ คือ GDP ที่รวมอัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม Nominal GDP นั้นมีการคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงกำลังซื้อของเงินเนื่องจากไม่ได้มีการปรับปรุงหรือตัดอัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืดออกไป
Nominal GDP จึงสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ
แต่ในบางกรณีแม้ Nominal GDP จะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการภายในประเทศได้ แต่ Nominal GDP อาจจะไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในผลผลิตที่แท้จริงของเศรษฐกิจได้อย่างแม่นยำ
ตัวอย่างเช่น หากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อ แล้วปริมาณการผลิตสินค้าและบริการภายในประเเทศไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม แต่ Nominal GDP ก็จะเพิ่มขึ้น
ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัวแต่จริงๆแล้วไม่ใช่ Nominal GDP ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ ไม่ได้มาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว เนื่องจากปริมาณการผลิตสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มขึ้น
Nominal GDP จึงไม่เหมาะ หากจะนำมาประเมินผลผลิตที่แท้จริงภายในประเทศ
  • Real GDP
Real GDP หรือ GDP ที่แท้จริง เป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาคงที่
โดยคำว่า "ราคาคงที่" หมายถึง ตัวเลข GDP ที่ได้รับการแก้ไขสำหรับการเปลี่ยนแปลงในระดับราคาทั่วไปแล้ว
หรือก็คือ เป็นการวัดผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดภายในประเทศในช่วงเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปคือ หนึ่งปี ซึ่งได้รับการปรับปรุงและตัดอัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืดออกไปแล้วนั่นเอง
ต่างจาก Nominal GDP ซึ่งไม่ได้มีการปรับปรุงหรือตัดอัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืดออกไป ดังนั้น Real GDP จึงสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของผลผลิตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงภายในประเทศได้อย่างแม่นยำมากกว่า Nominal GDP
อย่างไรก็ตาม แม้ Real GDP จะสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในผลผลิตที่แท้จริง เช่น ปริมาณการผลิตสินค้าและบริการ ได้อย่างแม่นยำ
แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งเลยของ Real GDP คือ ความคลาดเคลื่อนของการประเมินกำลังซื้อของเงิน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืดที่ถูกตัดออกไปนั้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ
เช่น อัตราเงินเฟ้อสามารถแสดงถึงกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศได้ ในทางกลับกันภาวะเงินฝืดก็สามารถแสดงถึงกำลังซื้อที่น้อยลงได้เช่นกัน
Real GDP จึงอาจไม่สามารถที่จะแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์
อธิบายง่ายๆ คือ Real GDP สามารถใช้ประเมินผลผลิตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงทั้งหมดภายในประเทศได้ แต่ Real GDP อาจไม่สามารถใช้ประเมินกำลังซื้อของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก
ตัวอย่างเช่น ประเทศ A สามารถขายสินค้าและบริการให้กับต่างชาติได้มากขึ้น ทำให้ Real GDP เพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากความต้องการจากต่างประเทศ ไม่ได้มาจากความต้องการภายในประเทศ
ในกรณีนี้หากเราประเมินเพียง Real GDP อย่างเดียว เราจะไม่สามารถทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของกำลังซื้อของประชาชนภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง
  • GDP Per Capita
GDP Per Capita หรือรายได้ภายในประเทศเฉลี่ยต่อหัว เป็นการวัดผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยต่อคนในพื้นที่ที่กำหนด เช่น ประเทศหรือภูมิภาค
ตัวชี้วัดนี้จะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมาตรฐานการครองชีพ และความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของบุคคลโดยเฉลี่ยในพื้นที่เฉพาะ
ซึ่งมักถูกใช้เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ
โดย GDP ต่อหัวที่สูงขึ้นบ่งบอกถึงมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตทางเศรษฐกิจสำหรับแต่ละคนโดยเฉลี่ยมากขึ้น
ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเติบโตหรือการลดลงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
จากที่กล่าวมา GDP แต่ละประเภทนั้นมีลักษณะเฉพาะ และมีความสำคัญแตกต่างกันไป
ซึ่งในแง่การลงทุนแล้ว การที่จะบอกว่าควรให้ความสำคัญกับประเภทใดมากกว่ากันนั้นขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนลงทุนในสินทรัพย์อะไร
ตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนลงทุนในกองทุนที่อ้างอิงดัชนี A50 ที่รวมบริษัทขนาดใหญ่ 50 อันดับแรกของประเทศ A
นักลงทุนควรที่จะให้ความสำคัญกับ GDP ทั้งสามประเภท เนื่องจากนักลงทุนลงทุนในกองทุนที่อ้างอิงบริษัทขนาดใหญ่ชั้นนำของประเทศ GDP แต่ละประเภทจึงมีความสำคัญทั้งสิ้น
แต่หากนักลงทุนลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสินค้าฟุ่มเฟือย นักลงทุนอาจให้ความสำคัญกับ GDP Per Capita มาเป็นอันดับแรก เนื่องจาก GDP Per Capita ที่เพิ่มขึ้น สามารถบ่งบอกถึงกำลังบริโภคที่เพิ่มขึ้นของประชนในประเทศนั้นๆได้นั่นเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา