5 ม.ค. 2024 เวลา 23:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สิ่งที่ควรคำนึงถึงเมื่อต้องการซื้อหุ้นกู้ของบริษัทต่างๆ

หุ้นกู้เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่ออกโดยบริษัทเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ โดยผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุหุ้นกู้
การลงทุนในหุ้นกู้ถือเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน แต่ก็มีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้
ดังนั้นนักลงทุนจึงจำเป็นจ้องพิจารณาและคำนึกถึงปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ของบริษัทใดๆ
  • อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit ratings)
อันดับความน่าเชื่อถือ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการบ่งบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ โดยอันดับความน่าเชื่อถือจะแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่ AAA จนถึง D
โดย AAA เป็นอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด ซึ่งมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้น้อยที่สุด ในขณะที่ D เป็นอันดับความน่าเชื่อถือต่ำสุดซึ่งมีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงที่สุด
และไม่เพียงแค่เป็น อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้เท่านั้น แต่โดยทั่วไปแล้ว บริษัทที่มี Credit ratings สูงจะกู้เงินได้ง่ายกว่าบริษัทที่มี Credit ratings ต่ำ
เนื่องจาก Credit ratings เป็นตัวบ่งชี้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ สถาบันการเงินต่างๆ มักจะพิจารณา Credit ratings ของบริษัทในการอนุมัติสินเชื่อ
ซึ่งหมายความว่า ในกรณีที่สถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่บริษัทวางแผนไว้ บริษัทจะยังสามารถกู้ยืมเงินมาจ่ายดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ของพวกเขาได้
  • ระดับหนี้และโครงสร้างเงินทุนและสุขภาพทางการเงินของผู้ออกหุ้นกู้
ระดับหนี้และโครงสร้างเงินทุนและสุขภาพทางการเงินเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ที่ควรพิจารณา ได้แก่
- อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวม (Debt-to-Asset Ratio)
เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดระดับหนี้สินของบริษัท โดยคำนวณจากหนี้สินทั้งหมดของบริษัทหารด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท
อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์รวมที่สูงบ่งชี้ว่าบริษัทมีภาระหนี้สินสูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการผิดนัดชำระหนี้
- อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt-to-Equity Ratio)
เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดระดับหนี้สินของบริษัท โดยคำนวณจากหนี้สินทั้งหมดของบริษัทหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท
อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูงบ่งชี้ว่าบริษัทมีภาระหนี้สินสูงเมื่อเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซึ่งอาจทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการผิดนัดชำระหนี้ได้เช่นกัน
- อัตราส่วนหนี้สินที่ครบกำหนดชำระต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Debt-to-Cash Flow Ratio)
เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัท โดยคำนวณจากหนี้สินที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปีหารด้วยกระแสเงินสดจากการดำเนินงานภายในหนึ่งปี
อัตราส่วนหนี้สินที่ครบกำหนดชำระต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูงบ่งชี้ว่าบริษัทอาจมีปัญหาในการชำระหนี้ระยะสั้น
  • รูปแบบหรือประเภทของหุ้นกู้
รูปแบบหรือประเภทของหุ้นกู้ สามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ตามลักษณะของสิทธิที่ผู้ถือหุ้นกู้ได้รับ โดยจะมีอยู่ 4 ประเภทหลักๆ
- หุ้นกู้ประเภทไม่มีสิทธิ์แปลงสภาพ (Plain Vanilla Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่เรียบง่ายและไม่มีคุณสมบัติพิเศษหรือซับซ้อนใดๆ และไม่สามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย และจะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุหุ้นกู้
- หุ้นกู้ประเภทแปลงสภาพ (Convertible Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย และหากเลือกที่จะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นสามัญ เช่น สิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น สิทธิในการได้รับเงินปันผล เป็นต้น
- หุ้นกู้ประเภทมีหลักประกัน (Secured Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่มีหลักประกันการชำระหนี้ ซึ่งอาจเป็นทรัพย์สินของบริษัทหรือหลักทรัพย์อื่นๆ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย และหากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน
- หุ้นกู้ประเภทไม่มีหลักประกัน (Unsecured Bond)
เป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันการชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย และหากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินหลักประกัน
นักลงทุนจึงควรพิจารณารูปแบบหรือประเภทของหุ้นกู้ก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อเลือกหุ้นกู้ที่เหมาะสมกับความต้องการและความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้
  • สภาพคล่องของหุ้นกู้
สภาพคล่องของหุ้นกู้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลลงทุนอาจพึ่งพิจารณา เนื่องจากหุ้นกู้ที่มีสภาพคล่องสูงจะซื้อหรือขายได้ง่ายกว่าในตลาดรอง
หากหุ้นกู้ที่มีสภาพคล่องที่น้อย อาจทำให้มีค่าสเปรดหรือราคาซื้อราคาขายที่ห่างกัน เวลาที่นักลงทุนต้องการซื้อขายหุ้นกู้ในตลาด และอาจทำให้ขายหุ้นกู้ได้ยากขึ้น
  • วันครบกำหนดไถ่ถอน ระยะเวลา และอัตราผลตอบแทน
นักลงทุนควรตรวจสอบวันครบกำหนดไถ่ถอนและระยะเวลาของหุ้นกู้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อทุกครั้ง และที่สำคัญเลยควรตรวจสอบอัตราผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้
โดยอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่ดีนั้นไม่ควรที่จะอยู่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม วันครบกำหนดไถ่ถอนหรือระยะเวลาที่ยาวนาน และอัตราผลตอบแทนที่สูง อาจถูกชดเชยด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงแต่กลับมีอายุหรือวันครบกำหนดไถ่ถอนที่ยาวนาน อาจบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะผิดนัดชำระหนี้
เนื่องจากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะต้องให้ผลตอบแทนที่สูงแก่นักลงทุนเป็นเวลาที่นาน หากพวกเขาไม่ได้มีสถานะทางการเงินที่แข็งแรง พวกเขาก็มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้
ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่นักลงทุนพึ่งพิจารณาเบื้องต้นและควรให้ความสำคัญทั้งสิ้น
นอกจากปัจจัยที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ด้วย
เช่น ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต ปัจจัยทางเศรษฐกิจ การเมือง และข้อมูลอื่นๆที่ระบุไว้ในเอกสารนำเสนอขาย (Factsheet) เป็นต้น
เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในหุ้นกู้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา