28 ม.ค. เวลา 15:06 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ “กระบี่เย้ยยุทธจักร” Part 1 (ส่วนของเล่งฮู้ชง และคุณภาพของหนังสือ)

นวนิยายเรื่องนี้ผมชอบเป็นส่วนตัวอยู่แล้วจากการดูซีรีส์จีนเดชคัมภีร์เทวดา เวอร์ชันปี 1996 ของ TVB และอ่าน “กระบี่เย้ยยุทธจักร เดชคัมภีร์เทวดา“ ฉบับการ์ตูนที่หลี่จื้อชิงใช้พู่กันวาด (มี 26 เล่ม) เนื้อเรื่องกระบี่เย้ยยุทธจักรเน้นไปที่การแบ่งแยกฝ่ายธรรมมะและอธรรม ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะแบ่งแยกความดีความชั่วของคนอื่นทันทีจากกลุ่มที่บุคคลนั้นสังกัดอยู่
เรียกได้ว่าตัดสินคนโดยที่ไม่ได้รู้จักก็ว่าได้ ทั้งที่ๆ ฝ่ายอธรรมก็อาจจะมีคนดี และฝ่ายธรรมะก็อาจจะมีวิญญูชนจอมปลอมแฝงตัวอยู่ ดังที่ กิมย้งเองเคยเขียนคำนำไว้ในปี 2002 ว่า “แต่ละชนชาติ แต่ละศาสนา ทุกสาขาอาชีพมีทั้งคนดีและคนเลว…”
เล่มที่ 33
สิ่งที่ผมชอบอย่างหนึ่งของการอ่านนวนิยายจีนกำลังภายใน คือ การบรรยายฉากของเรื่องราวได้อย่างละเอียดทำให้เราได้จินตนาการภาพตามได้ดี อย่างเช่น ฉากเปิดเรื่องของกระบี่เย้ยยุทธจักนี้ ขึ้นต้นว่า “ลมเย็นโชยลูบไล้กิ่งก้าน กลิ่นบุปผชาติหอมรวยริน เป็นฤดูใบไม้ผลิอันเพริศแพร้วของดินแดนใต้”
สิ่งเหล่านี้ไม่อาจหาได้จากการดูซีรีส์ เพราะไม่ใช่ฉากสำคัญอะไรที่จะทำให้ดึงดูดคนดูได้เท่าฉากบู๊ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้มีการบรรยายที่ใช้ภาษาพรรณนาพร่ำเพรื่อจนน่าเบื่อ มีแค่มาคั่นบางฉากเพื่อให้ฉากนั้นๆ ดูมีอะไรขึ้นมาบ้างนอกจากคำพูดตัวละครและฉากต่อสู้
เรื่องนี้กิมย้ง ผู้เขียนเล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เปิดเรื่องมาด้วยการเล่าถึงความสมบูรณ์แบบมีทุกสิ่งพร้อมสรรพของลูกคุณหนูตระกูลหนึ่ง ที่อยู่ๆ ชีวิตพลิกผันไปอย่างกลับตาลปัตรในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันด้วยการที่ครอบครัวถูกฆ่าล้างตระกูล จนกลายไปเป็นคนที่มีสภาพไม่ต่างจากขอทาน ยอมแลกทุกอย่างทิ้งศักดิ์ศรีของตัวเองเพื่อจะแก้แค้น
เล่าถึงความขัดแย้งของฝ่ายธรรมะกับอธรรมที่มิอาจอยู่ร่วมโลกกันได้ ปูเรื่องให้ผู้อ่านคิดตามว่าการแบ่งฝ่าย แบ่งพรรคพวกคือกฎเกณฑ์ตายตัวของสังคมที่ทำให้คนเราไม่สามารถคบหาเป็นมิตรสหายกับฝ่ายตรงข้ามได้นั้นถูกต้องแล้วหรือไม่
การตัดสินคนโดยพิจารณาเพียงว่าคนนั้นอยู่ในกลุ่มของคนที่สังคมกล่าวหาว่าเป็นคนเลวคนผู้นั้นย่อมต้องเป็นคนเลวด้วย เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
และผู้เขียนยังดำเนินเรื่องได้เข้มข้นน่าติดตาม มีทั้งการชวนให้คิดว่าอะไรคือสิ่งที่มนุษย์นำมาชี้วัดความดีความเลว เพียงเพราะอยู่ในกลุ่มที่คนกล่าวหาว่าเป็นคนเลวก็เป็นคนเลว อยู่ในกลุ่มที่คนยกย่องว่าเป็นคนดีก็เป็นคนดีอย่างนั้นหรือ นิยามของคำว่ามิตรแท้คืออะไร กลุ่มของตนและสหายเป็นศัตรูกันสามารถคบหาเป็นมิตรกันได้หรือไม่
พระเอกของเรื่องชื่อ เล่งฮู้ชง หรือเหล็งฮู้ชง (ในหนังสือการ์ตูนและในซีรีส์เรียกเล่งฮู้ชง ส่วนในนิยายเรียกเหล็งฮู้ชง ผมคุ้นเคยและถนัดเรียกเล่งฮู้ชงมากกว่า)
“กระบี่เย้ยยุทธจักร เดชคัมภีร์เทวดา“ ฉบับการ์ตูนที่หลี่จื้อชิงใช้พู่กันวาด
เล่งฮู้ชงมีนิสัยเปิดเผยและด้วยการที่พระเอกเป็นบุคคลที่ฉีกทุกกฎของสังคมดังที่กล่าวมานั้น ไม่ยึดถือลาภยศชื่อเสียง พิธีรีตรองใดๆ หากถูกคอกันสามารถเป็นเพื่อนกับทุกคนได้ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนรวย คนจน ฝ่ายธรรมะ หรือฝ่ายอธรรม บุคลิกสนุกสนานเฮฮา ฉลาด มีไหวพริบ รู้จักใช้คำพูดหลอกล่อ แถมกวนตีน ทำให้เนื้อเรื่องดูมีสีสัน ดึงดูดให้ติดตามว่าเนื้อเรื่องจะเป็นเช่นไรต่อไป
หากมองในมุมผู้อาวุโสในสังคมอาจมองว่าเล่งฮู้ชงมีบุคลิกค่อนข้างเสเพล ดังที่ปรากฏในบทสนทนาของเล่งฮู้ชงว่า “คนมีชีวิตอยู่ในโลกควรปล่อยตัวเต็มที่ กระทั่งสุราก็ดื่มไม่ได้ สตรีก็คิดถึงไม่ได้ ผู้อื่นข่มเหงรังแกก็ยังตีโต้ไม่ได้ ยังมีชีวิตไปไย มิสู้ตายเสียประเสริฐกว่า“
แต่อย่างไรเสียพระเอกก็เป็นคนดี
มีคุณธรรม อย่างเช่นตอนที่ถูกหลอกให้กินยายืดชีวิตเข้าไปในขณะที่ตัวเองมีอาการบาดเจ็บสาหัสและคิดว่าตัวเองใกล้ตายอยู่แล้ว แต่เล่งฮู้ชงกลับกรีดเลือดตัวเอง 2 ชาม กรอกใส่ปากให้แก่หญิงสาวที่ป่วยและควรจะได้กินยานั้น ทำให้ตัวเองเลือดไหลอยู่ในสภาะเกือบตายอีกครั้ง
การพัฒนาของพระเอก เล่งฮู้ชงที่ไม่ได้เปิดเรื่องมาด้วยการเก่งเทพตั้งแต่ต้น แต่ได้รับคำชี้แนะจากปรมาจารย์ยอดยุทธ์ ซึ่งด้วยความฉลาดมีไหวพริบดีทำให้เขาเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อจับแก่นแท้ของคำ “กระบี่คล้ายเมฆพลิ้วละลิ่วล่อง ใช้ออกตามในปรารถนา” ที่ฮวงเช็งเอี้ยงสอนให้ก็เก่งขึ้นในพริบตา
การได้เรียนรู้แก่นแท้ของวิชาฝีมือที่ว่า “หัดให้เป็นใช้ให้เป็น เพียงเป็นขั้นที่หนึ่ง ต้องกระทำถึงขั้นไร้กระบวนท่า” ทำให้เล่งฮู้ชงเก่งขึ้นแบบก้าวกระโดดและหลังจากนั้นยังเรียนรู้ยอดวิชาอีกมากมายได้ภายในเวลาอันสั้น
ความจำอันเป็นเลิศของเล่งฮู้ชงปรากฏให้เห็นหลายตอน เช่น ตอนที่ฮวงเช็งเอี้ยงสอนเคล็ดวิชาเก้ากระบี่เดียวดายท่าที่หนึ่งให้เล่งฮู้ชง ฮวงเช็งเอี้ยงบอกว่า “ท่าที่หนึ่งมีความพลิกแพลงสามร้อยหกสิบประการ ครั้งกระโน้นเราฝึกกระบวนท่านี้ ต้องใช้เวลาสามเดือน ให้เจ้าเล่าเรียนสองกระบวนท่าในคืนเดียว ออกจะล้อเล่นไปแล้ว” แต่ปรากฏว่าเมื่อฮวงเช็งเอี้ยงท่องเคล็ดวิชานั้นให้เล่งฮู้ชงฟังรอบเดียว แล้วให้เล่งฮู้ชงท่องให้ฟัง เล่งฮู้ชงกลับจำได้และท่องได้กว่าครึ่งค่อยจำไม่ได้
เมื่อท่องเคล็ดวิชาท่าที่สามติดต่อกันสามร้อยกว่าคำให้เล่งฮู้ชงฟัง รอบแรกเล่งฮู้งท่องผิดเพียงสิบกว่าคำ รอบที่สองท่องผิดเพียงเจ็ดคำ รอบที่สามไม่ผิดพลาดอีก
เล่งฮู้ชงไม่ใช่พระเอกที่ถ่อมตนมักน้อยหรือไม่สนใจวิชาบู๊ แต่เรียกได้ว่ามีความทะเยอทะยานอยากเก่งขึ้น มีความอยากเอาชนะ รู้สึกดีและตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ดังที่เห็นได้จากตอนที่เล่งฮู้ชงกล่าวกับฮวงเช็งเอี้ยงว่า “หลานศิษย์อุกอาจ ขอให้ไท้ซือเจ่กถ่ายทอดเก้ากระบี่เดียวดายให้จนหมดสิ้น” ซึ่งนิสัยเช่นนี้ผมเห็นว่าเป็นได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย เพียงแต่เล่งฮู้ชงยังมีจิตสำนึกความเป็นคนดีมีคุณธรรมอยู่จึงทำให้ตนเองไม่ถลำลึกไปสู่ด้านมืด
ความเทพของเล่งฮู้ชงยังปรากฏในตอนที่สู้กับคนใช้ทวนทั้งแปดที่ผู้เขียนบรรยายว่า “พลันบังเกิดปฏิภาณวูบ นึกถึงท่าทำลายทวนในเก้ากระบี่เดียวดาย ดังนั้นจู่โจมทวนออกได้ยินเสียงดังคราหนึ่ง ทวนยาวทั้งแปดเล่มร่วงหล่นลงโดยพร้อมเพรียง เล่งฮู้ชงกระแทกกระบี่ใส่ข้อมือคนทั้งแปดย่อมมีลำดับก่อนหลัง เพียงแต่สภาวะกระบี่รวดเร็วเกินไป คนทั้งแปดคล้ายถูกกระบี่ในเวลาเดียวกัน”
และยังปรากฏในตอนช่วยสำนักเห็งซัวสู้กับศัตรูที่ผู้เขียนบรรยายว่า “เหล็งฮู้ชง…วิ่งตะบึงดุจเหินบิน บัดเดี๋ยวโถมตรงๆ บัดเดี๋ยวพุ่งเฉียงๆ วิ่งไปที่ใดศัตรูในรัศมีหนึ่งวาไม่มีคนหลงรอดได้ อีกไม่นานก็ปรากฏผู้คนอีกยี่สิบกว่าคนล้มลง…เหล็งฮู้ชงเคลื่อนไหวดุจภูตพรายสุดที่เรี่ยวแรงมนุษย์จะต้านทานได้”
ยังมีตอนที่ถูกคนรอบทำร้ายด้านหลังผู้เขียนบรรยายว่า “เหล็งฮู้ชงรับคำ แต่ไม่หันกายกลับ สะบัดกระบี่กลับหลังปัดป่ายกระบี่ที่คนอ้วนฉุแทงมาบิดเบือน…ที่ด้านหลังพลันบังเกิดเสียงฉี่ฉี่ กระบี่สามเล่มแทงถึงโดยพร้อมเพรียง เหล็งฮู้ชงตอนนี้ไม่เพียงมีเพลงกระบี่ลึกล้ำ ทั้งยังมีกำลังภายในกล้าแข็งพอได้ยินเสียงกระบี่กำลังภายในก็บังเกิดปฏิกิริยา
ล่วงรู้แนวทางกระบวนท่าของศัตรู สะบัดกระบี่แทงใส่ข้อมือฝั่งตรงข้าม ยอดฝีมือทั้งสามก็มีฝีมือสูงเยี่ยม รีบถลันหลบเลี่ยง แต่หลังมือของคนสูงใหญ่ยังถูกกรีดเป็นบาดแผล โลหิตหลั่งไหลออกมา”
แม้ในตอนที่เล่งฮู้ชงบรรลุยอดวิชาจนแทบจะไม่มีใครสู้ได้แล้วเขาก็ไม่ได้มีความทะนงตัวว่าตัวเองเก่งกล้าไม่มีผู้ใดเทียบ เขาก็ยังคิดในใจว่า “เจ้าสำนักเห็งซัวเตี่ยเอ้ยซือไถ่เมตตาการุณย์ เจ้าสำนักไท้ซัวเทียนมึ้งเต้าหยินเคร่งขรึมทรงอำนาจ เจ้าสำนักซงซัวจ้อแนเซี้ยงลึกซึ้งเยือกเย็น ซือแป๋เราเป็นสุภาพบุรุษอันอ่อนโยน มกซือแป๊ะเปลือกนอกคล้ายชาวบ้านร้านตลาด เจ้าสำนักของห้าสำนักกระบี่ล้วนเป็นบุคคลมากปัญญา เราเหล็งฮุ้ชงด้อยกว่าพวกท่านมากนัก“
อีกทั้งไม่ได้เป็นคนประเภทสาธยายหรือโอ้อวดความดีของตนให้ผู้อื่นฟัง ดังที่ปรากฏในตอนที่เล่งฮู้ชงพูดคุยกับมกไต้ซิงแซว่า “เหล็งฮู้ชงจึงบอกเล่าเหตุการณ์ที่พบพายเตี่ยแจ๋เตี่ยเอ้ยเตี่ยอิดซือไถ่ทั้งสาม เมื่อถึงตอนที่ตนเองช่วยเหลือก็เล่าข้ามไปโดยเร็ว”
แต่ไม่ว่าพระเอกจะเก่งเทพแค่ไหนก็เป็นธรรมดาของโลกมนุษย์ ที่มักจะผู้ที่เมื่อเห็นคนอื่นเก่งกว่าได้ดีกว่าแล้วรู้สึกอิจฉาและเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่เขาเป็น เล่งฮู้ชงก็เช่นกัน มีทั้งคนรักและคนเกลียดทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งในส่วนนี้กิมย้งก็ทำออกมาได้ดี
ตลอดทั้งเรื่องเล่งฮู้ชงอาจจะไม่ได้โชว์เทพอะไรมากมายเพราะถูกใส่ร้ายป้ายสีบ้าง ถูกยาพิษบ้าง ถูกทำร้ายสาหัสปางตายอยู่เสมอ แต่เนื้อเรื่องก็เข้มข้นมาก การวางเค้าโครงเรื่องที่สนุกน่าสนใจตลอดเวลา แม้จะไม่ซับซ้อนมีปมอะไรมากมายแต่สามารถทำให้ผู้อ่านสนุกจนไม่อยากวางก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงแล้ว บทสนทนาข้อคิดสอนใจก็มีมากมาย จึงนับได้ว่าเป็นผลงานนิยายกำลังภายในชั้นเยี่ยมที่ต้องมีติดบ้านไว้
สรุปให้ 5 ดาวเต็ม ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ผู้เขียน : กิมย้ง
ผู้แปล : น.นพรัตน์
สำนักพิมพ์ : สยามอินเตอร์บุ๊คส์
หมวด : นวนิยายจีนกำลังภายใน
ปีที่พิมพ์ : 2549
จำนวนเล่ม : 4 เล่มจบ
วาระ 50 ปี กิมย้ง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา