11 ก.พ. 2024 เวลา 23:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เหตุใดทั้งๆที่ดอกเบี้ยสูง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯกลับทำ All Time High?

อย่างที่นักลงทุนหลายคนรู้กันว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อมุ่งมั่นกดดันเศรษฐกิจให้ตกต่ำลง และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงให้ได้ตามเป้าหมายที่ 2%
อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดหุ้นสหรัฐฯในช่วงปลายปี 2023 มาจนถึงช่วงต้นปี 2024 นี้ ถือได้ว่าน่าสนใจและน่าประหลาดใจอย่างมาก
เพราะแม้จะเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ดัชนีสำคัญอย่าง S&P 500 และ Nasdaq กลับทำสถิติสูงสุดใหม่ (All Time High) อยู่หลายครั้ง
อะไรคือปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นให้ร้อนแรงท่ามกลางสภาวะดอกเบี้ยที่ไม่เอื้ออำนวยนี้กัน?
แต่การที่เราจะสามารถรู้ถึงการเคลื่อนไหวทุกอย่างในเศรษฐกิจนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจเป็นระบบที่มีความซับซ้อน มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และปัจจัยเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงยากที่จะคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ
ซึ่งในครั้งนี้เราจะมาพูดถึงหนึ่งปัจจัยที่ค่อนข้างส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างมาก และอาจเป็นเหตุผลให้ดัชนีที่ชี้วัดเศรษฐกิจอย่าง S&P 500 และ Nasdaq ดีดตัวกลับมาทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง
ปัจจัยที่ว่านี้ก็คือ "สภาพคล่อง (Liquidity)" นั่นเอง
อย่างที่หลายคนทราบว่าในช่วงโรคระบาด Covid-19 ทางธนาคารกลางสหัฐฯได้พิมพ์เงินเพื่ออัดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังได้มีการกดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ
ซึ่งสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่สูง บวกกับต้นทุนการกู้ยืมเงินที่ต่ำ ทั้งสองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อของสหรัฐฯในครั้งนี้
และเพื่อที่จะแก้ไขสิ่งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จึงได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร่วมกับการดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า Quantitative Tightening (QT)
ที่มา Lyn Alden
แผนภูมิที่แสดงนี้ แสดงถึงการดำเนินการด้านสภาพคล่องของธนาคารกลาง (Fed) และกระทรวงการคลังสหรัฐฯในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้
แต่ก่อนที่จะอธิบายสิ่งนี้ ก่อนหน้านั้นเราจะมาทำความเข้าใจแบบพอสังเขปกับคำว่า Fed Balance Sheet, TGA และ Reverse Repo กันก่อนว่าคืออะไร
เริ่มที่ Fed Balance Sheet ให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งบันทึกรายการสินทรัพย์และหนี้สินและแสดงภาพรวมของผลจากนโยบายการเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐฯดำเนินการ ณ ช่วงเวลานั้น
มีหน้าที่สะท้อนผลลัพธ์ของนโยบายการเงินของธนาครากลางสหรัฐฯ แสดงขนาดของสภาพคล่องและแนวทางการควบคุมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
ใน Fed Balance Sheet จะประกอบด้วยสินทรัพย์อย่างพันธบัตรรัฐบาล, สินเชื่อแก่ธนาคารพาณิชย์ และเงินตราต่างประเทศ
ต่อมาคือ TGA หรือ Treasury General Account ให้เข้าใจง่ายๆว่าเป็นบัญชีการเงินที่กระทรวงการคลังของรัฐบาลฝากไว้กับธนาคารกลาง
โดยรัฐบาลจะใช้บัญชีนี้เพื่อฝากเงินภาษีและเงินรายได้อื่นๆ รวมถึงถอนออกมาเพื่อการใช้จ่ายต่างๆ หรือก็คือ เป็นบัญชีที่กระทรวงการคลังใช้ดำเนินธุรกรรมทางการเงินนั่นเอง
สุดท้ายก็คือ Reverse Repo โดยอยากให้ทำความเข้าใจกับคำๆนี้ให้มากหน่อย
โดยอธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ Reverse Repo เป็นข้อตกลงแบบซื้อคืนของสองฝ่ายซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างธนาคารสองแห่ง และมักเป็นข้อตกลงระยะสั้น
โดยฝ่าย A จะขายตราสารหรือสินทรัพย์ให้กับฝ่าย B และตกลงที่จะซื้อคืนตราสารหรือสินทรัพย์นั้นในภายหลังในระยะเวลาที่กำหนดไว้
โดยฝ่าย B ต้องจ่ายเงินให้ก่อนเพื่อใช้เป็นเงินกู้หรือสถาพคล่องในระยะเวลานั้นให้กับฝ่าย A โดยที่ฝ่าย A จะกลับมาซื้อตราสารหรือสินทรัพย์นั้นๆคืนในราคาที่สูงขึ้นเล็กน้อยตามข้อตกลงและระยะเวลาที่กำหนดไว้
ซึ่งจะได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ฝ่าย A จะได้เงินหรือสถาพคล่องไว้ใช้ในระยะสั้นและฝ่าย B จะได้ส่วนต่างราคาของตราสารหรือสินทรัพย์ที่ฝ่าย A จะมาซื้อคืนภายหลังนั่นเอง
ตัวอย่างเช่น การ Reverse Repo ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารพาณิชย์ในประเทศ
ในวันที่ Fed ต้องการปรับเงินในระบบการเงินหรือต้องการเพิ่มเงินในระบบ
พวกเขาจะดำเนินการ Reverse Repo โดยขายตราสารหรือสินทรัพย์ของตนให้กับธนาคารพาณิชย์ เช่น พันธบัตรรัฐบาลหรือสินทรัพย์อื่นๆ ในระยะเวลาที่กำหนด และตกลงที่จะซื้อคืนตราสารหรือสินทรัพย์เหล่านั้นในภายหลัง
โดยธนาคารพาณิชย์จะจ่ายเงินตามราคาของสินทรัพย์ที่ตกลงกันเหล่านั้นให้กับ Fed ในรูปแบบเงิน เพื่อที่ Fed จะได้มีสภาพคล่องไว้ใช้ในระยะสั้น และธนาคารพาณิชย์ก็จะได้กำไรเมื่อ Fed กลับมาซื้อตราสารหรือสินทรัพย์เหล่านั้นคืนตามกำหนดนั่นเอง
อธิบายพอสังเขปเกี่ยวกับ Fed Balance Sheet, TGA และ Reverse Repo ไปแล้วทีนี้กลับมาที่แผนภูมิก่อนหน้านี้
โดยในแผนภูมิพื้นที่สีฟ้าเป็นตัวแทนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่มาจาก Fed Balance Sheet
ส่วนพื้นที่สีแดงจะสะท้อนถึงยอดเงินสดคงเหลือของ TGA และความสามารถในการทำ Reverse Repo ของ Fed
จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่าในช่วงโรคระบาด Covid-19 ที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯได้พิมพ์เงินออกมา สภาพคล่องที่มาจาก Fed Balance Sheet ได้เพิ่มขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ซึ่งในขณะเดียวกันสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระบบเศรษฐกิจ ได้ส่งผลให้งบดุลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองเพิ่มมากขึ้น (สภาพคล่องที่จะนำมาใช้ทำ Reverse Repo ของ Fed)
กล่าวอีกนัยก็คือ ในช่วงปี 2021 และ 2022 สภาพคล่องส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจรวมถึงตลาดการเงิน นั้นมาจากทางฝั่งของ Fed Balance Sheet หรือก็คือมาจากการกระทำของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
ซึ่งเมื่อพวกเขาได้เริ่มดำเนินนโยบายที่ดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจนั้นเริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว
สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่ลดลงบวกกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯได้เริ่มดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงต้นปี 2022
เป็นผลกดดันให้ราคาหุ้นในดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวลดลงในช่วงปลายปี 2021 และในปี 2022
ที่มา fred.stlouisfed.org
ด้วยเหตุผลที่กล่าวก่อนหน้านี้ อย่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร่วมกับการดึงสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯและ Fed Balance Sheet หดตัวน้อยลงเรื่อยๆ จนถึงจุดเปลี่ยนในช่วงไตรมาสสี่ของปี 2022 ไปจนถึงไตรมาสหนึ่งของปี 2023
หากใครติดตามข่าวสารการลงทุนในสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดจะทราบว่า ในช่วงไตรมาสสี่ของปี 2022 จะเป็นช่วงที่ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ดีดตัวกลับมาหลังจากที่เจอแรงกดดันมาตลอดทั้งปี 2022
และช่วงไตรมาสหนึ่งของปี 2023 ก็เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ของ SVB ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีธนาคารในสหรัฐฯบางส่วนล้มละลาย เนื่องจากปัญหาด้านสภาพคล่องของธนาคาร ทำให้ทั้งสามหน่วยงานอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed), กระทรวงการคลัง และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) ต้องเข้ามาให้การช่วยเหลือ
ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการกลับตัวของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
โดยหากเรากลับไปดูที่แผนภูมิอันแรก ก็จะเห็นได้ว่าพื้นที่สีแดงที่สะท้อนถึงยอดเงินสดคงเหลือของ TGA และความสามารถในการทำ Reverse Repo ของ Fed ได้มีการผลักกลับขึ้นมาอยู่ด้านบน
ซึ่งก็หมายความว่า ช่วงไตรมาสหนึ่งของปี 2023 Fed ได้มีการทำ Reverse Repo โดยใช้เงินสำรองของธนาคารพาณิชย์อื่นๆที่ไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่อง
และบวกกับการออกพันธบัตรระยะสั้น (T-bill) ผ่านบัญชี TGA ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
ทำให้ช่วงหลังจากช่วงไตรมาสหนึ่งของปี 2023 เป็นต้นไป สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯได้กลับมาฟิ้นตัวอีกครั้ง
สภาพคล่องดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับมาแข็งแรงได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และอาจเป็นผลให้ตลาดหุ้นของสหรัฐฯดีดตัวสูงขึ้นแม้จะอยู่ในภาวะดอกเบี้ยสูงก็เป็นได้ เนื่องจากอาจมีนักลงทุนบางกลุ่มสังเกตเห็นสัญญาณด้านสภาพคล่องตรงนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านสภาพคล่องนั้นก็เป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆในตลาดอย่างการเปิดตัว ChatGPT ของ Microsoft ที่เป็นตัวจุดประกายการลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ (AI)
อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มคงที่และเงินเฟ้อที่เริ่มลดลง บวกกับความกังวลในสงครามรัสเซียยูเครนเบาบางลง ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจเป็นคำตอบให้กับนักลงทุนหลายๆคนที่สงสัยว่าเหตุใดทั้งๆที่ดอกเบี้ยสูง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯกลับทำ All Time High นั่นเอง
และยังเป็นคำถามที่น่าสนใจที่ชวนให้คิดต่ออีกว่า หากเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่มีความแข็งแกร่งในตอนนี้ เป็นผลมาจากสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่มาจากการทำ Reverse Repo ของ Fed และการออกพันธบัตรระยะสั้น (T-bill) ผ่านบัญชี TGA ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯจริง
แล้วในปี 2024 นี้ ธนาคารพาณิชย์เหลือเงินสำรองไว้ใช้ทำ Reverse Repo อีกเท่าไหร่ และการออกพันธบัตรระยะสั้นของกระทรวงการคลังสหรัฐฯจะมีมาอีกหรือไม่ แล้วถ้ามีมาอีกจะส่งผลต่อสภาพคล่องและราคาหรือผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอย่างไร?
คงเป็นเรื่องที่จะต้องคอยติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนมานำเสนอเท่านั้น เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา