15 ก.พ. 2024 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ลงทุนหุ้นปันผลอย่างไร ไม่ให้ติด กับดักปันผล

การลงทุนในหุ้นปันผล แม้จะดูน่าดึงดูดด้วยเงินปันผลที่สม่ำเสมอ และเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนระยะยาว แต่ก็มี "กับดัก" ที่นักลงทุนควรรู้เท่าทัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า
บทความนี้เลยจะมาแนะนำวิธีการลงทุนในหุ้นปันผลเบื้องต้น เพื่อเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นปันผลได้อย่างชาญฉลาดและปลอดภัยมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงอัตราเงินปันผล (Dividend Yield) สูงเกินจริง
ความเสี่ยงแรกเลยสำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นปันผลควรหลีกเลี่ยง นั่นก็คือ อัตราเงินปันผลที่สูงเกินจริง ซึ่งวิธีที่เราสามารถประเมินหุ้นที่จ่ายเงินปันผลที่สูงเกินจริงนั้นมีอยู่หลายวิธี โดยวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ Dividend Payout Ratio
Dividend Payout Ratio (DPR) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ระบุเปอร์เซ็นต์ของรายได้สุทธิของบริษัทที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล อัตราส่วนนี้จะบอกว่าบริษัทนำรายได้ของพวกเขา จ่ายปันผลให้นักลงทุนมากหรือน้อยเมื่อเทียบกับรายได้ที่บริษัททำได้
หาก DPR สูง หมายความว่าบรริษัทนำรายได้ที่ทำได้มาจ่ายปันผลให้ระดับที่สูง กลับกันหาก DPR ต่ำ หมายความว่าบรริษัทนำรายได้ที่ทำได้มาจ่ายปันผลให้ระดับที่ต่ำ
คำนวนโดย (เงินปันผลต่อหุ้น / กำไรสุทธิต่อหุ้น) x 100
ตัวอย่างเช่น
บริษัท A จ่ายเงินปันผลต่อหุ้น = 2 บาท และ กำไรสุทธิต่อหุ้น = 5 บาท หมายความว่า Dividend Payout Ratio ของบริษัท A จะเท่ากับ 40% ซึ่งยังถือว่าไม่ได้มีความเสี่ยงอะไรมากมาย เนื่องจากเงินที่นำมาจ่ายปันผลยังอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับรายได้ของบริษัท
บริษัท B จ่ายเงินปันผลต่อหุ้น = 3 บาท และ กำไรสุทธิต่อหุ้น = 2 บาท หมายความว่า Dividend Payout Ratio ของบริษัท B จะเท่ากับ 150 % ซึ่งถือว่าบริษัท B กำลังจ่ายเงินปันผลสูงเกินจริง เพราะเงินที่นำมาจ่ายปันผลนั้นสูงกว่ารายได้ที่บริษัททำได้
หุ้นปันผลของบริษัท B จึงเป็นหุ้นที่นักลงทุนควรที่จะหลีกเลี่ยง
  • หลีกเลี่ยงหุ้นที่มีหนี้สินในส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูง
Debt to Equity Ratio หรือหนี้สินในส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นตัวชี้วัดทางการเงินที่ใช้บ่งบอกถึงโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ว่าบริษัทใช้เงินทุนจากการกู้ยืม (หนี้สิน) มากหรือน้อย เมื่อเทียบกับเงินทุนจากเจ้าของ (ส่วนของผู้ถือหุ้น)
คำนวนโดย หนี้สินรวม / ส่วนของผู้ถือหุ้น
หากบริษัทมี D/E ที่สูง อาจแสดงถึงความเสี่ยงที่สูงของบริษัทในการจ่ายดอกเบี้ยและผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น เนื่องจากบริษัทอาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อชำระหนี้ ซึ่งอาจกินส่วนแบ่งกำไรของบริษัทในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อผลตอบแทนต่อหุ้นที่จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น
บริษัทที่มี D/E ที่สูงอยู่ตลอดเวลาจึงมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นน้อยลง หรือการจ่ายเงินปันผลนั้นอาจจะไม่แข็งแรงนั่นเอง
  • เช็คประวัติการจ่ายเงินปันผลของบริษัท
เช็คประวัติการจ่ายเงินปันผลของบริษัท เป็นสิ่งที่พึ่งกระทำสำหรับนักลงทุนที่คิดจะลงทุนในหุ้นปันผล
การเช็คประวัติการจ่ายเงินปันผล จะทำให้ทราบถึงความสม่ำเสมอของการจ่ายเงินปันผล และยังเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความมั่นคงและวินัยทางการเงิน รวมถึงการเติบโตของเงินปันผลของบริษัท
โดยหากบริษัทมีประวัติการรจ่ายเงินปันผลที่ไม่ดีหรือมีการลดเงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นบ่อยครั้ง อาจบ่งบอกได้ว่าบริษัทอาจจะกำลังประสบกับปัญหาด้านการเงินบางอย่างในบริษัท
โดยสามารถเช็คประวัติการจ่ายเงินปันผลของบริษัทต่างประเทศ
  • กระแสเงินสดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัทที่จ่ายปันผล
กระแสเงินสด (Cash flow) มีบทบาทสำคัญและยังเป็นสัญญาณบ่งบอกความสามารถของบริษัทในการจ่ายเงินปันผลหรือชำระหนี้
กระแสเงินสดที่เป็นบวกจากกิจกรรมดำเนินงาน เป็นตัวชี้วัดแนวโน้มของบริษัทในการรักษาการจ่ายเงินปันผลในระยะยาว
เพราะหากบริษัทสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งอย่างสม่ำเสมอ และครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ภาระหนี้ รายจ่ายฝ่ายทุน จะบ่งชี้ว่าบริษัทนั้นมีความสามารถในการจัดการกับชำระภาระผูกพันทางการเงิน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท
กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งจึงช่วยลดความเสี่ยงในการลดหรือระงับการจ่ายเงินปันผลนั่นเอง
ในการลงทุนในหุ้นปันผล เราควรให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลการเงินของบริษัทอย่างรอบคอบ เช่น Dividend Payout Ratio, Debt to Equity Ratio, และ Cash Flow รวมถึงประวัติการจ่ายเงินปันผลของบริษัท
เพื่อหลีกเลี่ยงกับดักปันผล และทำให้เราสามารถเลือกลงทุนในบริษัทที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ
ซึ่งจะทำให้เรามีโอกาสในการสร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอจากการลงทุนในหุ้นปันผลได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง
อย่างไรก็ดี บทความนี้แนะนำวิธีการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงกับดักปันผลแบบเบื้องต้นเท่านั้น ความเสี่ยงของหุ้นปันผลนั้นยังมีอีกมากมาย และแตกต่างกับไปในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา