26 ก.พ. เวลา 04:11 • หนังสือ

สรุปหนังสือ The power of IN PUT ศิลปะของการเลือก รับ รู้

ปัจจุบันผู้คนล้วนต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และทุกวันนี้ใช่ว่าจะอยู่ในยุคที่ข้อมูลหายาก แต่เป็นยุคที่ข้อมูลเต็มไปหมด และนี่คือสิ่งที่จะวัดว่าใครสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
วันนี้จะมาสรุปหนังสือ The power of IN PUT ศิลปะของการเลือก รับ รู้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้อ่านหนังสือเล่มนี้ คงหนีไม่พ้นจากประสบการณ์การอ่านหนังสือเล่มก่อนหน้านี้นั่นก็คือ The power of OUT PUT ศิลปะของการปล่อยของ ซึ่งส่วนตัวประทับใจมาก ไม่ว่าจะสาระที่ได้รู้ เช่น การเปรียบเทียบคนที่อ่านหนังสือ 10 เล่ม แต่ไม่ทำสรุปหรือเอาไปใช้จริง กับคนที่อ่านเพียง 3 เล่ม แต่ทำสรุปและนำไปใช้จริง คนที่อ่าน 3 เล่มจะมีประสิทธิภาพมากว่า รวมทั้งเทคนิคการพูดและเขียนที่มีในหนังสือ ถ้าใครสนใจอยากให้ลองอ่านดู
หนังสือ The power of IN PUT ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ จิตแพทย์ชิออน คาบาซาวะ ที่มีประสบการณ์มากมายในการทำทั้ง IN PUT และ OUT PUT (มีช่อง Youtube ด้วย เดี๋ยวใส่ไว้ใน comment)
เข้าสู่เนื้อหาในหนังสือ
.
ในหนังสือถ้าดูตามสารบัญ จะมีอยู่ด้วยกัน 7 บท จะสรุปเนื้อหาได้แก่ การเลือกข้อมูล การดู การฟัง การอ่าน และวิธีเรียนที่ช่วยดึงศักยภาพออกมา
มาทำความรู้จัก IN PUT กันก่อนว่าคืออะไร
ถ้าเอาตามภาษาบ้านๆ IN PUT ก็คือ การรับข้อมูล ซึ่งแต่ละวันเรารับข้อมูลกันเยอะมาก ยกตัวอย่างบางคนตื่นเช้ามาต้องเช็กอีเมล เลื่อนโทรศัพท์ดูความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในตอนที่หลับสักหน่อย ในหนังสือได้เปรียบเทียบระหว่าง "คุณภาพ" กับ "ปริมาณ" ไม่ว่าจะทำงานอะไรให้เราเน้น "คุณภาพ" จะพัฒนาตัวเองได้ดีกว่า (ส่วนตัวกำลังแก้นิสัยเน้นปริมาณจะได้มีผลงานเยอะๆ แต่งานไม่ได้คุณภาพสักเท่าไหร่ จะพยายามเน้นเนื้อหาของงานให้มากกว่านี้ การเขียนโพสต์นี้ก็เช่นกัน)
การเลือกข้อมูล อย่างที่บอกตั้งแต่แรก ในยุคนี้มีข้อมูลเต็มไปหมด อยู่ที่ว่าใครจะเลือกนำมันมาใช้แล้วเกิดประโยชน์มากที่สุด การเลือกควรเลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองไม่ควรเลือกตามกระแสเพราะจะไม่ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้เลย ยกตัวอย่าง การเลือกอ่านหนังสือ หากเราอ่านตามกระแส เล่มนี้ดี เล่มนี้ดัง แต่ไม่ได้ตรงตามรูปแบบการใช้ชีวิตของเรา ก็ทำให้ไม่อยากอ่าน เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา
ก่อนที่เราจะเลือกรับข้อมูล เราต้องมีเป้าหมาย มีทิศทาง มีการวางแผน ต้องตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆว่า "ทำไมต้อง..." เมื่อเรามีเป้าหมายชัดเจนแล้ว ต้องกำหนดแผนให้ละเอียด ทำอะไร? ที่ไหน? ใช้ระยะเวลาเท่าไหร่? เพราะเป้าหมายคือนามธรรม แต่การวางแผนและลงมือทำ จะทำให้เป้าหมายกลายเป็นจริง
การดู การฟัง และการอ่าน ขอรวบไว้ด้วยกัน เกี่ยวกับการทำผ่านตะแกรง หรือก็คือการอ่าน การฟัง การดูไปงั้นๆ ไม่ได้ให้ความตั้งใจขณะที่ทำ ถ้าหากเราตั้งใจทำตั้งแต่แรกจะช่วยประหยัดเวลาไม่ต้องกลับมาทำสิ่งนั้นซ้ำๆ ลองนึกดูว่า สมมติเราดูหนังเรื่องหนึ่ง แต่ดูแบบผ่านๆ เวลาไปคุยกับเพื่อน เราจะไม่สามารถเล่ารายละเอียดได้เลย เพื่อนก็อาจจะสงสัยว่า ดูจริงหรือเปล่าเนี่ย
การเรียนรู้ที่ช่วยดึงศึกยภาพ ล้วนมาจากผู้คน หนังสือ และการเดินทาง เดี๋ยวมาเจาะรายละเอียดแต่ละอย่าง
 
ผู้คน ในหนังสือกล่าวว่าให้เลือกผู้เชี่ยวชาญด้านที่เราสนใจ ลองติดตามเป็นเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือการพบปะผู้คนที่ในหนังสือกล่าวว่า พบ 10 คน 10 ครั้ง ดีกว่า พบ 100 คน 1 ครั้ง เป็นเพราะว่ายิ่งเจอบ่อยจะช่วยให้ความสัมพันธ์กระชับขึ้น และการพบกันก็ช่วยให้แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้ความรู้ใหม่ๆ เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ
หนังสือ อย่างที่บอกไปเกี่ยวกับการเลือกข้อมูล หนังสือต้องเลือกให้ตรงกับจริตของเรา หรือที่ชิออน คาบาซาวะ บอกไว้ว่าให้เลือกหนังสือโฮมรัน จะเกิดประโยชน์กับเรามากที่สุด รูปแบบของหนังสือมีทั้งเป็นแบบเล่ม ที่จะทำให้เราได้สัมผัสได้ขณะอ่าน มีสมาธิมากกว่า และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ พกพาง่าย อ่านได้หลายเล่มต่อเดือน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคลและบริบท ณ ขณะนั้น
การเดินทาง ช่วยเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นเจอผู้คนใหม่ๆ ประสบการณ์ชีวิตใหม่ บางครั้งเราอาจพบสิ่งที่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของเราได้เลย และการเดินทางมีทั้งไปคนเดียวก็จะทำให้เรามีการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าได้ ได้ใช้ความคิดอยู่กับตัวเอง หรือการเดินทางกับคนอื่น ไม่ว่าจะแฟน เพื่อน เพื่อนร่วมงานก็จะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์นั้นดีมากยิ่งขึ้น
หัวข้อที่ชอบ
1. หากจะทำอะไรสักอย่างต้องมีแผนและเป้าหมายโดยละเอียด "ทำไมต้อง..."
2. เทคนิคการจำที่น่าสนใจ คือ ให้ลองจำแบบสอนคนอื่น
3. เรียนรู้ตอนที่สารเคมีในสมองหลั่ง
4. เวลาเราจะรับข้อมูลใหม่ๆมา ต้องรับมาด้วยความรู้สึกเป็นกลาง
5. เลือกติดตามผู้เชี่ยวชาญในด้านที่เราสนใจ
6. ไม่ควร Net surfing หรือก็คือการไถโทรศัพท์ ท่องอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยเปื่อย
7. ถ้าลดการใช้ Social media ได้ก็จะลดสมาธิสั้นและลดซึมเศร้าได้
8. การเรียนรู้ที่ทำให้เราฉลาดขึ้นล้วนมาจาก ผู้คน หนังสือ และการเดินทาง
**จริงๆตอนเปิดอ่านดูสารบัญ เจอหัวข้อ "หากคิดเรียนต่อปริญญาโท จงทำใจพร้อมรับ ความเหนื่อยยาก" ตรงประเด็นที่อยากอ่านมากในช่วงนี้ และเมื่อได้อ่านก็ไขคำตอบได้เลยทีเดียว
สำหรับใครที่เคยอ่านหนังสือเล่มดัง The power of OUT PUT ศิลปะของการปล่อยของ ก็อยากให้ลองอ่าน The power of IN PUT ด้วยจะทำให้การเลือกข้อมูลก่อนที่จะนำไปใช้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา