9 เม.ย. เวลา 23:12 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

Monkey Man-หนุมานฉบับเลือดสาด

Monkey Man ไม่ใช่หนังอินเดีย แต่คือหนัง Hollywood ที่เล่าเรื่องอินเดีย แสดงโดยคนอินเดียและคนเชื้อสายอินเดีย ถ่ายทำในอินเดียเกือบทั้งหมด
สิ่งนึงที่เราควรพึงระลึกอยู่เสมอคือ Hollywood คือตัวแทนของภาพยนตร์ "อเมริกัน" ไม่ใช่ภาพยนตร์ "สากล" ที่มีความหลากหลาย แม้ว่าคนอเมริกันจะอวยความหลากหลายของตนมากเพียงใดก็ตาม คนอเมริกันก็ไม่ใช่คนประเภทที่เสพหนังต่างชาติมากนัก ด้วยความที่ Hollywood สร้างหนังมากมายอยู่แล้ว ไหนจะความขี้เกียจอ่านซับ ความไม่เข้าใจในวัฒนธรรม และรูปแบบการเล่าเรื่องที่แตกต่าง
ด้วยเหตุนี้หนัง Hollywood จำนวนมากต้องมีคนขาวอยู่ในเรื่อง ต้องพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก มีอเมริกันชนเป็นฮีโร่ ส่วนหนังที่เล่าเรื่องชาติอื่นมักจะไม่ค่อยได้อนุมัติให้สร้าง ตัวอย่างก็เช่น The Last Samurai ที่แม้จะเล่าเรื่องญี่ปุ่น ถ่ายทำในญี่ปุ่น แต่ก็ต้องมีคนขาวอย่างทอม ครูซไปเป็นฮีโร่
ด้วยเหตุนี้ Black Panther กับ Crazy Rich Asians จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในแวดวง Hollywood เพราะมันคือหนังเกี่ยวกับคนแอฟริกัน และคนเอเชียตะวันออก (และตะวันออกเฉียงใต้) ที่แทบไม่มีคนขาวในเรื่องเลย ถึงกระนั้น Kevin Kwan ผู้เขียนนิยาย Crazy Rich Asians ก็ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่าสตูดิโอต้องการเปลี่ยนตัวละครนางเอกให้เป็นคนขาวอเมริกัน
ความโด่งดังของ Crazy Rich Asians ผลักให้เกิดกระแสเอเชียในหนัง Hollywoods ซึ่งนำพาวงการไปสู่หนังอย่าง Everything Everywhere All at Once หรือที่สุดไปกว่านั้นคือ The Farewell หนัง Hollywood ที่พูดจีนกันมากกว่าพูดอังกฤษ
สำหรับเราแล้ว The Farewell น่าจะเป็นหนัง Hollywood ที่เล่าถึงวัฒนธรรมจีนมากที่สุดแล้ว ในขณะที่เรื่องอื่น ๆ เท่าที่เคยดู ก็ยังเล่าผ่านมุมมองตะวันตกมากอยู่
ทีนี้ก็ถึงคราวของชาวเอเชียใต้อย่างอินเดีย (ปีก่อนมี The Polite Society แต่อันนั้นมันมาจากค่ายอังกฤษ ไม่ใช่ Hollywood) ดูเหมือนว่า Monkey Man จะคือ Crazy Rich Asians สำหรับหนังอินเดียโดย Hollywood (ส่วนนึงอาจจะเพราะกระแส RRR จาก Tollywood เมื่อสองปีก่อน ที่ทำให้คนอเมริกันหันมาสนใจหนังอินเดีย)
นี่คือผลงานกำกับเรื่องแรกของ Dev Patel นักแสดงชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียที่มีชื่อเสียงจากเรื่อง Slumdog Millionaire (และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย)
สำหรับคนไทยที่เติบโตมากับรามเกียรติ์ คงแทบจะนึกออกทันทีเมื่อเห็นชื่อเรื่อง Monkey Man ว่ามันอาจจะเกี่ยวของกับหนุมาน แต่ในโลกตะวันตกที่ไม่คุณเคยกับปกรณัมอินเดีย (เพราะเขาเรียนกันแต่เทพกรีกโรมัน) Monkey Man ย่อมเป็นหนังที่จะพาพวกเขาเข้าไปสัมผัสเรื่องเล่าจากอีกมุมหนึ่งของโลก
Dev Patel เล่าว่าตนในฐานะคนอังกฤษ เคยปฏิเสธรากความเป็นอินเดียของตัวเอง แม้จะเคยฟังปกรณัมเหล่านี้จากพ่อและปู่ แต่การได้เล่นหนัง Slumdog Millionaire ทำให้เขาได้กลับไปซึมซับความเป็นอินเดีย และได้แรงบันดาลใจว่าสักวันหนึ่งจะเล่าเรื่องเหล่านั้น และนั่นนำเขามาสู่ผลงานกำกับเรื่องแรก ที่หยิบเอาเรื่องหนุมานมาผสมกับประเด็นการเมืองอินเดีย ระบบวรรณะ เล่าผ่านหนังบู๊ที่เดือดดิบเถื่อนอย่างกับ John Wick
Monkey Man เล่าเรื่องการล้างแค้นของชายหนุ่ม Kid นักมวยสนามใต้ดิน ผู้สวมหน้ากากลิง ฉายานาม Monkey Man เพราะได้แรงบันดาลใจจากเรื่องหนุมานที่แม่เล่าให้ฟัง เขาต้องไต่วรรณะในตึกเพื่อแก้แค้นให้กับแม่ของตน เรื่องราวจะเป็นอย่างไรรอดูกันได้ในโรงภาพยนตร์ (จะไม่สปอยล์เรื่องนี้เพราะมันยังไม่เข้าโรงที่ไทย)
สิ่งหนึ่งที่เราชอบมาก ๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือการนำเสนอภาพของฮิจราออกมาได้อย่างน่าสนใจ เราเองก็ไม่รู้หรอกว่าสังคมฮิจราจริง ๆ เป็นยังไง เคยแต่ได้ยินมาจากการฟังเชฟหมี (อ.ตุล คมกฤช) พูดในยูทูปว่าเป็นกลุ่มนักบวชเพศที่สามในอินเดียที่ผู้คนยำเกรง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความเป็นกลุ่มคนชายขอบของอินเดียอยู่
ใน Monkey Man เราจะได้เห็นความสุดติ่งกระดิ่งแมวของนักบวชฮิจรา พลังอำนาจแห่งส่วนผสมของความเป็นชาย-หญิง ทำลาย-สรรค์สร้าง
แอคชั่นในหนังเรื่องนี้ แม้อาจจะไม่ได้อลังการเท่า John Wick ภาคหลัง ๆ แต่มันให้ฟีลที่มีเอกลักษณ์อีกแบบหนึ่ง คือความเป็นมวยวัด สู้กันแบบไม่สนกฎใด ๆ ทั้งกัดทั้งทึ้ง เพื่อเอาชนะและเอาชีวิตรอด ไม่สนใจความเนี๊ยบ ความสะอาดเรียบร้อย มีแต่ความดิบล้วน ๆ นำเสนอผ่านมุมกล้องเอียง ๆ สั่น ๆ วูบ ๆ ไหว ๆ แต่ยังดูได้โดยไม่มึนหัว
สุดท้ายก็หวังว่าเรื่องนี้จะจุดกระแสให้หนังอินเดียใน Hollywood เหมือนกับที่ Crazy Rich Asians เคยจุดกระแสให้กับเอเชียตะวันออก (และตะวันออกเฉียงใต้) นะ
ปล. ตำนานหนุมานในเรื่องอาจจะต่างจากฉบับรามเกียรติ์ไทยอยู่บ้าง ด้วยความที่ฉบับไทยมันแปลงจากรามายณะมาเยอะอยู่ ในอินเดีย ทศกัณฑ์ชื่อว่า Ravan และไม่ได้เป็นพ่อของนางสีดาแต่อย่างใด อีกทั้งไม่ได้เป็นนนทกกลับชาติมาเกิดด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา