Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Weatherreport
•
ติดตาม
6 พ.ค. 2024 เวลา 14:18 • หนังสือ
รีวิวหนังสือ “Four Thousand Weeks ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์”
“การจดจ่อ คือ ชีวิต อะไรก็ตามที่ดึงดูดความสนใจของคุณจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง ก็คือสิ่งที่กลายเป็นชีวิตคุณ ฉะนั้น เมื่อคุณให้ความสนใจกับบางสิ่งที่คุณไม่ได้ให้ค่าเป็นพิเศษ มันจึงไม่ใช่การพูดเกินจริงถ้าจะกล่าวว่า คุณกำลังจ่ายมันด้วยชีวิตของคุณเอง”
Oliver Burkeman
เล่มที่ 37
อ่านชื่อหนังสือแวบแรกทำให้ชวนคิดว่าเนื้อหาจะเป็นการสอนให้ปลงกับชีวิตอันแสนสั้นของมนุษย์มั้ยนะ ซึ่งผู้เขียนก็เปรยมาในบทนำว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์นั้นคือ 4,000 สัปดาห์ หรือประมาณ 80 ปี
แต่เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่าเป็นหนังสือบริหารจัดการเวลาที่แตกต่างกับหนังสือบริหารเวลาในท้องตลาดทั่วไปที่เน้นให้เป็นคน productive เน้นผลงานความสำเร็จ มีตารางเวลาส่วนตัวสุดแสนเข้มงวด บริหารจัดการเวลาในแต่ละวันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยเล่มนี้ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของการบริหารจัดการเวลาว่า “เราควรเลิกคิดว่ามนุษย์สามารถควบคุมทุกอย่างได้และสามารถบริหารจัดการเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราต้องยอมรับว่ามนุษย์มีเวลาจำกัด แม้ว่าเราจะได้รับความสามารถทางปัญญาให้วางแผนการที่ทะเยอทะยานได้โดยแทบไม่มีขีดจำกัด แต่เราก็ไม่มีเวลาเพื่อที่จะลงมือทำมัน”
ผู้เขียนยังบอกอีกว่า “แท้จริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่เวลาอันจำกัดของเรา…ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันสูง ทำให้คุณรู้สึกราวกับว่าต้องใช้เวลาอย่างรอบคอบที่สุดอยู่ตลอดเวลาถ้าอยากอยู่รอด
มันดึงทึ้งเราออกจากปัจจุบัน นำเราไปสู่ชีวิตที่ดำเนินไปโดยมุ่งเน้นอนาคตทำให้เราคอยกังวลว่าเรื่องต่าง ๆ จะออกมาเรียบร้อยหรือไม่“
ผู้เขียนยังบอกว่า “พวกเราส่วนใหญ่มักจะใช้ชีวิตโดยคิดว่าตนเองเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล…นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่มีภาวะหลงผิดว่าตนเองยิ่งใหญ่หรือเป็นโรคหลงตัวเอง แต่มันคือสิ่งที่เป็นรากฐานของการเป็นมนุษย์…เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่นักจิตวิทยาเรียกว่า อคติจากการยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง”
ผู้เขียนจึงแนะนำให้เราระลึกว่าเรามีความสำคัญน้อยเพียงใดในกาลเวลาแห่งจักรวาล ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้วางภาระอันหนักหนาที่กำลังแบกอยู่ ทำให้จิตใจสงบ ไม่ต้องแบกคำนิยามของชีวิตที่หลายๆ คน บอกว่าต้องใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า สร้างผลงานให้เป็นประวัติศาสตร์
และยังแนะนำว่า ”ยิ่งคุณพยายามจะจัดการเวลาของคุณ โดยมีเป้าหมายให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมทุกอย่างได้เต็มที่และเป็นอิสระจากข้อจำกัด ชีวิตก็จะยิ่งเคร่งเครียด ว่างเปล่าและน่าหงุดหงิดท้อแท้มากขึ้น
แต่ถ้าคุณเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ว่าชีวิตคุณมีจุดสิ้นสุด และพยายามที่จะเข้าใจมันแทนที่จะต่อต้านมัน ชีวิตก็จะยิ่งมีผลิตภาพ มีความหมาย และมีความสุขมากขึ้น
และยังหมายถึงการยืนหยัดอย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสของ FOMO (fear of missing out) หรือการกลัวที่จะพลาดอะไรไป เพราะคุณตระหนักได้ว่าการพลาดอะไรไปอย่างไรเสียก็ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ทุกการตัดสินใจที่จะใช้เวลาส่วนหนึ่งกับอะไรก็ตามเท่ากับการสละทางเลือกอื่นๆ…การตัดสินใจเลือกนี้ คำภาษาละตินดั้งเดิมสำหรับคำว่า ตัดสินใจ หรือ decidere หมายถึง การตัดทิ้ง ซึ่งสื่อความหมายถึงการตัดทางเลือกอื่น…และการเลือกที่จะสละด้วยความเต็มใจก็คือการมีจุดยืนว่าจะไม่กั๊กสิ่งต่างๆ เอาไว้ แล้วเลือกให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับคุณ“
ซึ่งผมเห็นว่าผู้เขียนอธิบายเรื่องนี้ไว้ได้ดีมาก ทำให้เข้าใจจริงๆ เลยว่าเราไม่ควรไปยึดติดกับการทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สำเร็จจนเกินไปในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่เฉยๆ นอนรอความตายโดยไม่ได้ทำอะไรให้ชีวิตมีความหมายขึ้นมาเลย
เพียงแต่ให้เราค้นหาให้เจอว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิตเราให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะและจดจ่อทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ให้เวลากับความสัมพันธ์ในครอบครัว ใช้ชีวิตให้มีความสุขเพื่อที่จะใช้เวลาเพียงไม่กี่พันสัปดาห์นี้ได้อย่างคุ้มค่าตามความหมายของการมีชีวิตอยู่ของเราเอง
ผู้เขียนยังแนะนำว่า ”ถ้ากิจกรรมบางอย่างสำคัญกับคุณจริงๆ เช่น ผลงานสร้างสรรค์ หรืออาจจะแค่อะไรง่ายๆ อย่างการดูแลความสัมพันธ์ หรือการทำงานเพื่อสังคมบางอย่าง วิธีเดียวที่จะทำให้มั่นใจได้ว่ามันจะเกิดขึ้น คือทำเรื่องนั้นก่อนบางส่วนในวันนี้ไม่ว่าจะน้อยแค่ไหน“
อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังคงไม่ชอบสไตล์การเขียนของฝรั่งเช่นเดิม ใช้คำที่ดูสวยแต่ไม่ทำให้ถึงใจ บางประโยคเป็นการเชื่อมต่อประโยคที่ยืดยาวสำนวนการเขียนอ่านแล้วเข้าใจยาก หรือสมองผมอาจจะไม่ถึงเองก็เป็นได้ แต่ยังไงก็ไม่ชอบอยู่ดี
จากที่อ่านมาทั้งหมด ผมก็สรุปได้สั้นๆ ว่า ผู้เขียนต้องการให้เรายึดทางสายกลางนั่นเอง อย่าบ้างาน บ้าพัฒนาตนเองเกินไป พักผ่อนบ้าง ชีวิตนี้สั้นนัก ไม่จำเป็นที่เราจะต้องใช้เวลาทุกนาทีให้คุ้มค่ากับการที่ต้องเป็นคนโปรดักทีฟและเป็นที่คาดหวังของทุกคน หาให้เจอว่าอะไรคือความสุขของเรา แล้วทำมันซะ
ผมได้ข้อคิดดี ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันคือ
1.ฝึกเป็นคนใจเย็น รู้จักอดทนรอกับสิ่งต่างๆ ท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่มีแต่ความเร่งรีบและผู้คนดูเหมือนจะเป็นคนที่ไม่สามารถอดทนรอกับสิ่งต่างๆ ได้
2.ให้เวลาเรียนรู้กับสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น อะไรที่เราคิดว่าเราทำไม่เป็นควรจะหัดเรียนรู้ ไม่ใช่ถอดใจว่าเราทำไม่ได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
3.อ่านหนังสืออย่าเร่งรีบควรให้เวลากับมันอย่างที่มันควรจะเป็น
4.ทำในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขในชีวิตที่เหลืออยู่ไม่กี่พันสัปดาห์
5.เลือกทำสิ่งที่สำคัญและมีความหมายกับชีวิตเราก่อนเสมอ
6.หากตั้งใจจะทำอะไรให้กำจัดสิ่งรบกวนสมาธิออกไป เช่น โซเชียลมีเดีย
7.การใช้เวลาหยุดพักควรจะใช้เวลามีความสุขกับช่วงเวลาพักผ่อนอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องคำนึงว่าเราได้พัฒนาตัวเองไปด้วยหรือไม่ เพราะนั่นไม่ใช่การพัก
8.ทำรายการสิ่งที่ต้องทำ 2 ชุด กฎคือไม่สามารถเพิ่มงานใหม่เข้าไปจนกว่าหนึ่งในงานก่อนหน้าจะเสร็จสิ้น และกำหนดขอบเขตเวลาล่วงหน้าของงานนั้นไว้
9.เลือกอุปกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เดียวให้มากที่สุด เช่น Kindle ใช้อ่านหนังสือ ทำให้เราโฟกัสได้ดีขึ้น
10.หาประสบการณ์แปลกใหม่ในความจำเจ เพื่อทำให้ชีวิตแต่ละปีไม่ว่างเปล่ากลวงโบ๋และพังทลาย
แม้หนังสือจะได้รับคำชมมากมายและผมรู้ว่าเขามีความรู้มากจริงๆ แต่ส่วนตัวอ่านแล้วก็ยังไม่ใช่สไตล์ที่ผมชอบสักเท่าไหร่ สรุปให้ 4 ดาว ⭐️⭐️⭐️⭐️
ผู้เขียน : Oliver Burkeman
ผู้แปล : วาดฝัน คุณาวงศ์
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ฮาวทู
หมวด : จิตวิทยาพัฒนาตนเอง
จำนวนหน้า : 226 หน้า ปกอ่อน
ขนาดรูปเล่ม : 14.5 x 20.9 x 1.3 ซ.ม.
น้ำหนัก : 280 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : ขาวดำ
ชนิดกระดาษ : กระดาษถนอมสายตา
พิมพ์ครั้งที่ 2 : 2565
ISBN : 9786161853082
หนังสือราคา 265 บาท (ผมได้มาในราคา 199 บาท) มี 226 หน้า
1 บันทึก
1
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Books
1
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย