31 ก.ค. 2024 เวลา 05:23 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ “The Three Happiness สู่จุดสูงสุดของชีวิต ด้วยพีระมิดสามสุข”

ณ จุดสูงสุดของขั้นบันไดไม่ได้มีความสุขที่ยิ่งใหญ่รออยู่ แต่ขณะที่ขึ้นบันไดแต่ละขั้นคุณจะพบกับความสุขเล็กๆ ระหว่างทาง เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าขึ้นบันไดจนสุดแล้วจะมีความสุข แต่ขณะที่กำลังเดินขึ้นนี่แหละคือความสุข
คะบะซาวะ ชิอง
ในยุคที่สังคมมนุษย์มีการแข่งขัน แก่งแย่งชิงดี มีความเครียดสูง หากจะมีหนังสือสักเล่มคอยย้ำเตือนแนวทางในการใช้ชีวิตให้มีความสุขได้ คงจะหนีไม่พ้นหนังสือเล่มนี้
เล่มที่ 38
เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้คือ การอธิบายความสุขของมนุษย์ที่ผู้เขียนได้มาจากการอ่านหนังสือจำนวนมากและตกผลึก โดยโยงความสุข 3 ด้าน คือ สุขภาพ ความผูกพัน ความสำเร็จ เข้ากับสารเคมีในสมอง
1.ความสุขแบบเซโรโทนิน (serotonin) คือ ความสุขด้านสุขภาพ
2.ความสุขแบบออกซิโตซิน (oxytocin) คือ ความสุขด้านความรัก ความผูกพัน
3.ความสุขแบบโดพามีน (dopamine) คือ ความสุขด้านความสำเร็จ การเงิน หน้าที่การงาน เกียรติยศ การบรรลุเป้าหมาย
แม้เราจะทราบจากผู้เขียนคร่าวๆ แล้วว่า ความสุขของมนุษย์เรามี 3 ด้าน แต่ผู้เขียนแนะนำว่าควรจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้องก่อน เพราะถ้าจัดผิดจะทำให้ไม่มีความสุข ตัวอย่างเช่น คนที่เอาแต่มุ่งหวังแต่ความสุขแบบโดพามีน ทำแต่งานไม่สนใจสุขภาพไม่ออกกำลังกาย ไม่สนใจความรักความผูกพันในครอบครัวจะประสบปัญหาเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ผู้เขียนแนะให้ว่าควรให้ความสำคัญกับตัวเอง นั่นก็คือให้ความสำคัญกับสุขภาพเป็นอันดับแรก ต่อมาคือความรักความผูกพันในครอบครัว และอันดับสุดท้ายคือความสำเร็จในหน้าที่การงาน
ซึ่งวิธีการต่างๆ ของผู้เขียนก็คือแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีที่เรารู้กันทั่วไปอยู่แล้ว แต่เราอาจหลงลืมไป ผู้เขียนจึงย้ำให้เห็นภาพด้วยการโยงเข้ากับวิทยาศาสตร์ เช่น
1.ความสุขแบบเซโรโทนิน ทำให้รู้สึกสดชื่น หากเซโรโทนินลดลงจะทำให้หงุดหงิดง่าย ความสุขประเภทนี้ได้จากการออกกำลังกาย โฟกัสกับปัจจุบัน ไม่ยึดติดกับอดีตและอนาคต
2.ความสุขแบบออกซิโทซิน ได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย กอด ความอบอุ่นที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
3.ความสุขแบบโดพามีน ทำให้เสพติดได้ จะรู้สึกอยากได้เพิ่มอีก ช่วยส่งเสริมการพัฒนาตนเอง ความสุขประเภทนี้ได้จากการลงมือทำ
ความสุขที่ผู้เขียนเน้นย้ำคือ ความสุขแบบเซโรโทนิน ซึ่ง “เซโรโทนินนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้บัญชาการของบรรดาสารเคมีในสมอง ถ้าสารเคมีในสมองมีมากเกินไปเซโรโทนินจะคอยยับยั้ง แต่ถ้าลดลงต่ำจะช่วยปรับให้เพิ่มขึ้น” ผู้เขียนจึงแนะนำให้เราฝึกฝนให้เซโรโทนินหลั่งออกมาอย่างแข็งขัน เพื่อจะไม่ทำให้เราเป็นคนหงุดหงิดง่าย ฟุ้งซ่าน หรือมีอาการซึมเศร้า
ผู้เขียนยังแนะนำวิธีเพิ่มเซโรโทนินด้วยการ “เขียนเรื่องดี 3 เรื่อง นึกถึงเรื่องราวที่สนุกที่สุดของวันแล้วเข้านอนไปพร้อมกับการปล่อยให้ความรู้สึกสนุกซึมซับเข้าไปจะช่วยยกระดับการยอมรับคุณค่าของตัวเอง ระดับความสุข และทำให้อารมณ์แจ่มใส“
และยังแนะนำโดยยกงานวิจัยของประเทศฟินแลนด์มาอ้างอิงว่า “เพียงแค่มีเวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมากกว่า 5 ชั่วโมงในหนึ่งเดือน นอกจากความเครียดจะลดลงอย่างมาก สมองยังกระปรี้กระเป่า รวมทั้งความจำ ความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ และความสามารถในการวางแผนจะดีขึ้น” อย่างนี้ผมคงต้องหาเวลาเดินเข้าป่าทุกเดือนซะแล้ว
ในเรื่องเซโรโทนินนี้ผู้เขียนบอกว่า “คนส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจนกว่าจะเกิดความเจ็บป่วย และยังคงใช้ชีวิตแบบไร้ระเบียบวินัย เช่น ออกกำลังกายไม่เพียงพอ นอนดึก หรือกินมากดื่มมาก ผลที่ได้คือโรคอ้วน…การตระหนักถึงการป้องกันตัวเองจากความเจ็บป่วยเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องมีกิจวัตรที่ดีต่อสุขภาพตั้งแต่ช่วงหนุ่มสาวตอนอายุ 20-30 ปี”
ผมเห็นด้วยมากครับ ปัจจุบันไปโรงพยาบาลเห็นมีแต่คนเป็นโรคยอดฮิต 3 โรค ความดัน เบาหวาน ไขมัน เป็นเพราะกินไม่ถูกวิธีและไม่ออกกำลังกายนั่นเอง ซึ่งไม่มีทางที่คนเหล่านี้จะมีความสุขกับการต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ เพื่อมารับยาและติดตามผลการรักษา
ผู้เขียนยังชี้ให้เห็นด้านที่ทำให้เซโรโทนินลดลงด้วยว่า ”การนินทาผู้อื่นคือการตั้งใจค้นหาข้อเสีย พฤติกรรมที่ชวนโมโหของอีกฝ่ายให้เจอ เป็นการฝึกทักษะการสังเกตเชิงลบ ทำให้ความสุขลดลง มีงานวิจัยระบุว่า คนที่ชอบนินทาผู้อื่นจะตายเร็วกว่าคนทั่วไป 5 ปี“ โอ้ว ต้องหยุดนินทาคนอื่นแล้วล่ะถ้าอยากอยู่นานๆ
ส่วนวิธีเข้าถึงความสุขแบบออกซิโทซินอย่างง่ายที่ผู้เขียนแนะนำคือ การมีน้ำใจกับผู้อื่น โดย “ให้เรามีน้ำใจกับผู้อื่น 3 ครั้งต่อวันแล้วสารออกซิโทซินจะหลั่งออกมาและจะรู้สึกมีความสุข…ทำให้อายุยืนยาว รู้สึกว่าตัวเองมีค่า”
รวมทั้ง “การกล่าวขอบคุณผู้อื่นวันละ 3 ครั้งต่อวัน จะทำให้สารออกซิโทซินและเอนดอร์ฟินหลั่งออกมาทั้งกับผู้พูดและผู้ฟัง”
อีกทั้งยังมีแง่คิดดีๆ ที่ให้ผู้สูงอายุยังคงมีงานทำหรือมีงานอดิเรกทำแม้ว่าจะเกษียณไปแล้ว เพราะจะทำให้เพิ่มระดับความสุขและลดอัตราการเสียชีวิตได้ หากเลิกทำงานโอกาสพบเจอผู้คนจะลดลงปริมาณการสนทนาลดลงสมองจะได้รับการกระตุ้นน้อยลงความสามารถในการจดจำลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ เสี่ยงเป็นโรคความจำเสื่อม
นอกจากนี้ผู้เขียนยังพูดถึงเรื่อง “ความปรารถนาได้รับการยอมรับ” ซึ่งเข้ากับยุคสมัยนี้ได้ดี โดยยกตัวอย่างคนในยุคนี้ที่ปรารถนายอดไลค์ยอดผู้ติดตามในโซเชียล บางคนซื้อยอดผู้ติดตาม บางคนเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดไลค์ยอดวิวถึงขนาดถ่ายรูปเซลฟี่ตัวเองตรงจุดอันตรายจนทำให้เสียชีวิต ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้วเรื่องนี้คือความปรารถนาได้รับการยอมรับ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปต้องการแต่ถ้าไร้การควบคุมจะเลวร้าย ถ้าควบคุมได้จะทำให้เรามีความสุข
สำหรับโดพามีนผู้เขียนยกตัวอย่างการเพิ่มโดพามีนเปรียบเทียบเข้ากับเกมได้ดี เช่น “ในเกม RPG สมบัติล้ำค่าจะอยู่ในดันเจี้ยน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้ผู้เล่นต้องสู้หรือทำภารกิจโดยจะได้รับรางวัลระหว่างทางหรือตอนท้าย ไม่มีสมบัติล้ำค่าขายอยู่ตามร้านในหมู่บ้านเริ่มต้นการเดินทาง…เพราะฉะนั้นถ้าต้องการพบสมบัติที่ว่านั้นต้องออกจากหมู่บ้านเริ่มต้นการเดินทางเพื่อไปผจญภัย” คอเกมอย่างผมนี่เห็นภาพเลย
ผู้เขียนยังแนะนำให้เปลี่ยนจากความเพลิดเพลินแบบรอมันมาหาเป็นความเพลิดเพลินแบบสร้างขึ้นเอง เช่น “ดูหนังเรื่องนึง ถ้าคิดว่าสนุก แล้วจบไปแค่นั้น มันคือความเพลิดเพลินแบบรอมันมาหา แต่ถ้าดูแบบมีสมาธิและซาบซึ้งกับผลงาน เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้อะไรจากหนังแล้วนำมาสร้าง output จะกลายเป็นความเพลิดเพลินแบบสร้างขึ้นเอง”
ความเพลิดเพลินแบบหลังนี้เป็นการฝึกสมาธินำไปสู่การพัฒนาตนเอง เยี่ยมไปเลยครับผมก็กำลังทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังหรืออ่านหนังสือ มันเป็นการทบทวนไปในตัวและนำไปปรับใช้กับเรื่องต่างๆ ได้จริง มีประโยชน์มาก
ผู้เขียนยังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “คนที่ไม่สนใจที่จะค้นหาอาหารร้านใหม่ๆ คือ คนที่ไม่สามารถออกจากคอมฟอร์ตโซน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกิน แต่จะส่งผลไปถึงการเรียนรู้หรือการทำงานด้วย…ถ้ามีโอกาสได้รับมอบหมายงานใหม่ก็มีแนวโน้มสูงที่จะปฏิเสธว่าตัวเองทำไม่ได้” ดีล่ะเราจะหาร้านใหม่ๆ กินบ่อยๆ เลยแล้วกัน ชอบกินอยู่แล้ว
หนังสือมีความหนามากแต่เนื้อหาประโยชน์อัดแน่น อ่านเข้าใจง่ายตามสไตล์การเขียนของคุณหมอคะบะซาวะ ชิอง ควรค่าที่จะเก็บเป็นอีกหนึ่ง collection ของคุณหมอชาวญี่ปุ่นผู้นี้ ถ้าจะมีข้อเสียบ้างก็คงเป็นช่วงกลางเล่มมีการใส่ตัวอย่างการจดบันทึกต่างๆ ของทางบ้านเยอะไปหน่อย ทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องยกตัวอย่างเยอะขนาดนี้ก็ได้ อ่านแล้วอยากข้ามไวๆ
ผมพอจะสรุปได้ว่า ต่อให้สังคมจะเลวร้าย ต่างคนต่างอยู่ แก่งแย่งชิงดีกันขนาดไหน แต่ถ้าเราจะทำตัวเองให้มีความสุข คิดดี พูดดี ทำดี พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ยังไงซะก็ไม่มีใครทำให้เราทุกข์ได้ ถึงจะทุกข์บ้างก็ทุกข์ไม่นาน เพราะเรามีเกราะป้องกันของเราที่เรียกว่า “ความดี และระเบียบวินัย” คอยคุ้มกันให้เราใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่หลายคนมองว่าโหดร้ายนี้ได้ และเราควรจะมีความสุขกับอะไรง่ายๆ อย่างที่เอพิคิวรัสนักปราชญ์ชาวกรีกกล่าวไว้ว่า “การมีความสุข คือการพอใจกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ“
ผมจะนำความรู้ที่ได้จากหนังสือนี้ไปใช้ให้ดี ดังที่ผู้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือสร้างสุขที่ใช้ได้จริงและเข้าใจง่ายที่สุด ถ้าทำตามเชื่อว่าจะพบความสุขแน่นอน ดังนั้น ผมจึงสรุปสิ่งที่ผมจะทำหลังจากอ่านเล่มนี้ได้ว่า
1.พูดขอบคุณให้มากขึ้น
2.นึกเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อย่างน้อย 3 เรื่อง
3.ทำภารกิจมีน้ำใจกับผู้อื่น 3 ครั้งต่อวัน
4.พยายามลุกขึ้นขยับตัวจากการนั่งนานๆ
5.ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอให้บ่อยขึ้น
6.ฝึกมองแต่ด้านดีของคนอื่น
7.เลิกนินทาคนอื่น
8.ในหนึ่งเดือนจะหาเวลาไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติสักครั้ง
9.ออกจากคอมฟอร์ตโฟน ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แม้จะเป็นงานที่ยากหรือไม่อยากทำ โดยคิดอยู่เสมอว่ามันคือการพัฒนาตนเอง
สรุปให้ 5 ดาว ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ผู้เขียน : คะบะซาวะ ชิอง
ผู้แปล : นิพดา เขียวอุไร
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ howto
หมวด : จิตวิทยาและพัฒนาตนเอง
ขนาดรูปเล่ม : 145 x 210 x 20 มม.
น้ำหนัก : 415 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : 2 สี
ชนิดกระดาษ : กระถนอมสายตา
จำนวนหน้า : 326 หน้า ปกอ่อน
ISBN : 9786161847708
หนังสือราคา 355 บาท มี 326 หน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา