27 ส.ค. 2024 เวลา 06:02 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ “สายตาดีด้วยวิธีมหัศจรรย์”

“อาหารของดวงตาคือความมืด ดวงตาควรได้รับการพักผ่อนในความมืดไม่ต่ำกว่าวันละ 12 ชั่วโมง ในระหว่างวันหากใช้สายตามากจนเกิดอาการตาพร่า ปวดตา เคืองตา การหลับตาให้ดวงตาอยู่ในความมืดราว 15 นาทีจะช่วยคลายอาการเหล่านั้นได้”
ผู้เขียนได้แนะนำวิธีรักษาดวงตาให้อยู่ในสภาพดีอย่างคร่าวๆ ไว้เช่นนี้ ซึ่งผมว่าก็ดูเป็นเรื่องสามัญที่เราควรรู้อยู่แล้ว แต่ในยุคสังคมปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีมากมายทำร้ายดวงตา ไม่ว่าจะเป็นแสงสีฟ้าจากมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ เรายังมีไฟฟ้าใช้ตลอดเวลาทำให้มนุษย์ไม่ได้นอนในเวลาพระอาทิตย์ตกดินเหมือนยุคโบราณ ใช้สายตาในแต่ละวันเกิน 12 ชั่วโมง
การอ่านเล่มนี้ทำให้เราได้ตระหนักถึงเรื่องสำคัญนี้อีกครั้ง และคิดว่าเราควรเริ่มหันมาสนใจการดูแลดวงตามากขึ้นแล้วสินะ
เล่มที่ 39
ผู้เขียนบอกว่าการใส่คอนแทคเลนส์ทำให้ค่าสายตาที่ผิดปกติอยู่แล้วย่ำแย่ลงไปอีก
ผู้เขียนยังแนะนำว่าหากต้องการมีสายตาดีเราควรจะตระหนักว่า “ถ้าอ่านหนังสือ หรือทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ หรือใช้สายตาในระยะใกล้ก็ไม่ควรใช้สายตาเกิน 45 นาที ควรละสายตามองไปไกลๆ เพื่อคลายกล้ามเนื้อตา ระวังเรื่องท่านั่งการทำงานควรนั่งในที่สบายหลังตรงอย่าให้ไหล่ห่อทำให้หายใจหายใจลำบาก
ผู้เขียนแนะนำคล้ายกับหนังสือ “แค่วันละ 1 นาที เปลี่ยนสายตาแย่ให้กลับเป็นเยี่ยม” ของคนโนะ เซชิ ว่า “หากดวงตาได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอก็จะทำให้กล้ามเนื้อเลนส์ตาสูญเสียความแข็งแรงไปและทำให้ค่าสายตาเพิ่มขึ้น”
แต่เล่มนี้ดูมีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์เยอะกว่าของคนโนะ เซชิ และมีผลการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า “ความผิดปกติทางสายตามีสาเหตุจากการใช้สายตาอย่างผิดๆ และความเครียดก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง การสวมแว่นสายตาไม่ได้ช่วยให้สายตาดีขึ้นแต่เป็นเพียงการช่วยให้มองเห็นได้ชั่วคราวเหมือนคนใช้ไม้เท้าช่วยในการเดินนั่นเอง”
ซึ่งผู้เขียนก็แนะนำวิธีใช้คอมพิวเตอร์อย่างถูกวิธีไว้ด้วยว่าควรปรับตำแหน่งจอคอมพิวเตอร์ในระยะที่เหมาะสมระยะจากตาถึงจอภาพควรเป็น 45 ถึง 50 เซนติเมตร หันหน้าจอไม่ให้รับแสงสะท้อนจากหน้าต่างหรือหลอดไฟเพดานห้องโดยตรง ใส่แว่นกรองแสงเพื่อกรองแสงสีฟ้า หรือทำให้ห้องมืดครึ้มเพียงเล็กน้อยและจัดบรรยากาศห้องทำงานให้ผ่อนคลาย ควรกระพริบตาขณะทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้าง หากแสบตามาก ช่วยควรพักสายตาทุก 30 นาทีโดยมองออกไปไกลๆ หรือหลับตาสักระยะ
ผู้เขียนได้ไปเรียนรู้ศาสตร์การฟื้นฟูดวงตาด้วยวิธีธรรมชาติมาจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดียแล้วนำมาปรับใช้กับการเปิดศูนย์รักษ์ดวงตาวิถีธรรมชาติในประเทศไทย
ผู้เขียนยังแนะนำว่าควรออกกำลังกายให้เพียงพอควรบริหารกล้ามเนื้อตาบ้างเป็นบางครั้ง เช่น “การทำ palming โดยถูฝ่ามือเข้าหากันให้เกิดความร้อนที่ฝ่ามือแล้วนำประคบที่ตาทั้งสองข้างโดยทำมือเป็นรูปสามเหลี่ยมและเว้นเพื่อให้หายใจได้ตรงแนวสามเหลี่ยมพอดี จากนั้นให้ลืมตาในมือตัวเอง 1 นาที คือนับ 1 ถึง 60 แล้วปิดตานานประมาณ 5 ถึง 20 นาที นี่เป็นวิธีการที่ใช้จิตใต้สำนึกดึงพลัง แฝงที่มีอยู่ในร่างกายมาไว้ที่ฝ่ามือทั้งสองข้างเพื่อเยียวยาดวงตา”
ผู้เขียนบอกว่า “ตาไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยวแต่ทำงานประสานกับจิตใจและสมอง ฉะนั้นการบริหารฟื้นฟูดวงตาจึงมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นการทำงานของสามส่วนนี้ก็คือ eye mind brain ให้สอดคล้องและเกื้อกูลกันเมื่อฝึกแล้วจะทำให้สายตาดีขึ้นกระตุ้นการทำงานของดวงตาให้เลือดเข้าไปไหลเวียนในดวงตาได้ดีขึ้น ” และเราควรเชื่อว่าสายตาที่แย่ไปแล้วสามารถทำให้กลับมาดีขึ้นได้ด้วยวิธีธรรมชาติ
ผู้เขียนจึงแนะนำ 12 แบบฝึกที่จะฟื้นฟูดวงตาให้แก่เราได้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมจะยกมาบางตัวอย่างที่ผมนำมาใช้จริง เช่น
1.การล้างตาโดยใช้ถ้วยล้างตาใส่น้ำสะอาดจะเป็นน้ำดื่มก็ได้ วิธีคือ รินน้ำให้เต็มถ้วยล้างตาจากนั้นก้มศีรษะลงแล้วลืมตาในน้ำค่อยๆ ทำทีละข้าง ทุกครั้งที่ล้างข้างนึงเสร็จให้เทน้ำทิ้งแล้วรินน้ำสำหรับล้างตาอีกข้าง “ขณะล้างตากลอกตาไปซ้ายขวา ขึ้นลง ข้างละ 2 รอบ”
2. นวดบริเวณเบ้าตาและกล้ามเนื้อรอบดวงตา เช่น นวดจากหัวคิ้วทั้งสองข้างแล้วคลึงวนไปทางหางตาและวนลงมาด้านล่างอีกครั้งทำ 2 ถึง 3 รอบ
อีกวิธี คือ ถูมือให้ร้อนประคบตาด้วยอุ้งมือหรือฝ่ามือที่ร้อนแล้วปาดมือที่กำลังประคบจากบริเวณหัวตามายังขมับช้าๆ จากนั้นนวดคลึงที่ช่วงขมับเล็กน้อยทำ 2 ถึง 3 รอบ
3. บริหารดวงตาด้วยลูกบอล ผมลองทำแล้วเห็นว่าควรซื้อลูกบอลที่เด้งได้ดีระดับหนึ่ง ไม่ต้องเด้งมากไม่งั้นจะจับลูกบอลยากและทำให้ข้าวของพังได้ ผมซื้อลูกเทนนิสโฟมมาใช้ก็เด้งดีใช้ได้เลย
วิธีคือ “ยืนแยกขาประมาณหนึ่งช่วงหัวไหล่ยืนให้สบายผ่อนคลายเริ่มโยนลูกบอลลงไปที่พื้นตรงหน้าระหว่างเท้าทั้งสองข้างเพื่อให้ลูกบอลกระเด้งขึ้นมาแล้วรับด้วยมืออีกข้างหนึ่ง เมื่อรับลูกบอลแล้วให้ชูลูกบอลขึ้นเหนือศีรษะและเอี้ยวตัวไปด้านข้างกระพริบตาหนึ่งครั้งแล้วจึงโยนลูกบอลลงไปใหม่และรับลูกบอลด้วยมืออีกข้างหนึ่งทำซ้ำๆ กัน 50 ถึง 100 ครั้ง”
4. ประคบตาเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ควรทำทุกครั้งหลังฝึกบริหารดวงตาเสร็จ วิธีที่ผมทำตาม คือ นำถุงเจลไปแช่เย็นแล้วนำมาวางบนดวงตาทั้งสองข้างทิ้งไว้นาน 5 นาที ผู้เขียนแนะนำว่า “สำหรับคนสายตายาวและสายตาสูงอายุแนะนำให้ใช้น้ำอุ่นหรือเจลอุ่นๆ นิดๆ ส่วนคนสายตาสั้นแนะนำให้ใช้น้ำเย็นหรือเจลเย็นนิดๆ“
เล่มนี้ผู้เขียนบอกไว้เลยว่า “การฝึกสายตาให้ดีขึ้นด้วยวิธีธรรมชาตินี้สำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นไม่มากจะใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ถึงหนึ่งเดือนจึงจะเห็นผล” ผมจะลองดูว่าได้ผลจริงมั้ย
นอกจากนี้ช่วงท้ายเล่มยังมีการตอบคำถามที่คนทั่วไปสงสัยเกี่ยวกับสายตาด้วยซึ่งเล่มนี้ผู้เขียนก็ยืนยันเหมือนกับหนังสือของคนโนะ เซชิ เช่นกันว่า “สายตาไม่ดีไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์“ และผู้เขียนยังบอกว่า “คนจำนวนมากพึ่งพาแว่นสายตามากเกินไปทำให้ดวงตาเคยชินและไม่พยายามมองด้วยตาของตนเองจึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานค่อยๆ เสื่อมลง ค่าสายตาจึงเพิ่มมากขึ้น“
นอกจากนี้ผู้เขียนยังแนะนำอาหารที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของดวงตาด้วยอย่างเช่น แครอท น้ำต้นอ่อนข้าวสาลี และน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพสูตรต่างๆ
สรุปให้ 5 ดาว ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️
ผู้เขียน : อุราภา วัฒนะโชติ
หมวด : สุขภาพ
ขนาดรูปเล่ม : 152 x 229 x 12  มม.
น้ำหนัก : 290 กรัม
เนื้อในพิมพ์ : 2 สี
ชนิดกระดาษ : กระดาษถนอมสายตา
จำนวนหน้า : 166 หน้า ปกอ่อน
ISBN : 9786161843496
พิมพ์ครั้งที่ 10 ปี 2565
หนังสือราคา 235 บาท มี 166 หน้า

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา