4 มิ.ย. เวลา 01:19 • ปรัชญา

เราไม่ได้รู้สึกพอใจเองนะ แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่มาทำให้เรารู้สึกพอใจ

" อะไรก็ตามมาปรากฏให้สุข เราก็สุข
อะไรก็ตามมาปรากฏให้เราทุกข์ เราก็ทุกข์
แสดงว่าเราเลือกความสุขความทุกข์ด้วยตัวเองไม่ได้ใช่ไหม
นั่นหมายถึงว่าเราก็ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเรา
เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราเนี่ยส่งผลต่อความรู้สึกเราได้ทั้งนั้นเลย
ใช่ไหมล่ะ
สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้ยิน สิ่งที่เราดมกลิ่น ลิ้มรส รับการสัมผัส แล้วก็สิ่งที่ปรากฏกับใจเราคือกลุ่มอารมณ์ทั้งหลาย
ส่งผลต่อความรู้สึกเราได้เสมอ
แล้วความรู้สึกจะมีสองด้าน ดีกับไม่ดี
พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “อิฏฐารมณ์” กับ “อนิฏฐารมณ์”
ใช่ไหมล่ะ
เราเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตนี้ไหม เห็นไหม
ถ้าไม่เห็นนี่ขาดสตินะ ถ้าไม่เห็นนี่ขาดสติ
“เห็นอารมณ์” กับ “รับอารมณ์” ไม่เหมือนกัน
ถ้าเห็นอารมณ์ เราจะไม่เป็นอันเดียวกันกับอารมณ์
แต่ถ้าเรารับอารมณ์ที่เกิดขึ้น เราจะเป็นอันเดียวกันกับอารมณ์
สรุปเราเห็นหรือเราไม่เห็น
ถ้าเห็น เราจะไม่ได้เป็นอารมณ์ เพราะอารมณ์จะถูกเห็น
สิ่งที่ถูกเห็นจะไม่ทำให้สิ่งนั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเรา
แต่ถ้าอารมณ์นั้นไม่ได้ถูกเห็น มันจะส่งผลต่อความรู้สึก
ทำให้เราเป็นไปตามอารมณ์นั้น "
โยม : คือแบบ เห็นแวบ ๆ แต่ก็รับมา
" นั่นคือ เห็นหลังจากที่มันเข้ามาก่อตัวในจิตแล้ว
คำว่า “เห็น” ในความหมายคำว่าสติคือ ต้องเท่าทัน
เท่าทันสภาพตอนที่เกิด และเท่าทันสภาพตอนที่ดับ
ที่นี้เราเห็นตอนที่เกิดแล้ว
“เกิดแล้ว” กับ “ตอนเกิด” ไม่เหมือนกันนะ
ถ้าเกิดแล้วนี่คือ ต้องส่งผลกระทบแล้ว
แสดงว่ามาเห็นตอนเกิดแล้ว แต่ไม่เห็นตอนก่อนที่จะเกิด ใช่ไหมล่ะ
แล้วก็เป็นความจริงที่เราจะต้องเห็นอารมณ์ภายหลังจากการที่มันเกิดแล้วทั้งนั้น
เราเห็นก่อนไม่ได้
ฉะนั้นอารมณ์จึงกระทบต่อความรู้สึกเราได้ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี ถูกต้องไหม
มันต้องกระทบ
แต่เมื่อกระทบแล้ว จิตใจเราเป็นยังไง
ถ้าเป็นฝ่ายดี จิตใจเราก็พึงพอใจ ยินดี น่าปรารถนา
หรืออาจจะถึงขั้นเพลิดเพลินไปกับอารมณ์เหล่านั้น
โดยที่ไม่รู้ในอารมณ์ที่กำลังปรุงแต่งใจเราอยู่
ว่ามีบางสิ่งบางอย่างปรุงแต่งใจให้เรารู้สึกพอใจ
นั่นหมายถึงว่า
เราไม่ได้รู้สึกพอใจเองนะ
แต่มีบางสิ่งบางอย่างมาปรุงแต่ง มีเหตุปัจจัยที่นำมาซึ่งความพอใจนี้
แล้วทำให้เรารู้สึกพอใจไปด้วย... "
พระอาจารย์ต้น ธรรมนาวา (จารุวณฺโณ ภิกฺขุ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา