14 มิ.ย. เวลา 23:00 • การตลาด

เปลี่ยนจากชอบเป็นซื้อด้วย Halo Effect กลไกจิตวิทยาโน้มน้าวจิตใจของแบรนด์ดัง

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยมีประสบการณ์ที่ว่า ตกหลุมรักสิ่งของหรือบุคคลตั้งแต่ครั้งแรกที่พบเจอ แบบเจอครั้งแรกก็ชอบเลย ต่อจากนั้นไม่ว่าเขาหรือเธอคนนั้นจะทำอะไร หรือสิ่งของชิ้นนั้นภายในจะเป็นยังไง เราก็มักจะมองว่ามันต้องดีไปหมดเสียทุกอย่าง
กลไลทางจิตวิทยานี้เราเรียกกันว่า Halo Effect หรือเอฟเฟกต์รัศมีการรับรู้
เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาประเภทหนึ่งที่อธิบายถึงการรับรู้หรือการรู้สึกดีหรือไม่ดีต่อคุณลักษณะใดลักษณะหนึ่งของบุคคลหรือสิ่งของ ซึ่งมักจะส่งผลต่อการรับรู้หรือความรู้สึกต่อคุณลักษณะอื่นๆ ของบุคคลหรือสิ่งของนั้นๆ ด้วย
อย่างเช่น ถ้าผู้บริโภคชอบรูปลักษณ์ภายนอกของผลิตภัณฑ์ พวกเขาอาจจะเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพดี แม้ว่าจะยังไม่ได้ลองใช้จริงเลยก็ตาม หรือถ้าลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีจากการบริการครั้งหนึ่งแล้ว พวกเขาก็มักจะคาดหวังว่าการบริการในครั้งต่อไปจะดีเช่นกัน
ในบริบทของการตลาดและการสร้างแบรนด์ Halo Effect มีความสำคัญอย่างมากในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ โดยการทำให้คุณลักษณะบางอย่างของผลิตภัณฑ์หรือบริการโดดเด่นขึ้นมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ไปตลอด
Halo Effect ในกรณีของ Louis Vuitton...
Louis Vuitton แบรนด์แฟชั่นชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดสูงสุดของแบรนด์แฟชั่นทั้งปวง เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาขั้นเยี่ยมของการนำกลไลจิตวิทยาอย่าง Halo Effect นี้มาใช้ในการสร้างแบรนด์
ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ Louis Vuitton นั้นเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตกระเป๋าและสินค้าแฟชั่นที่มีคุณภาพสูง การใช้วัสดุที่ดีและการผลิตอย่างประณีตทำให้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์นี้ ถูกมองว่ามีคุณภาพและมีความทนทานแต่ยังคงไว้ด้วยความหรูหราและคลาสสิก
เช่น กระเป๋า Louis Vuitton รุ่น Speedy ที่เป็นรุ่นซิกเนเจอร์ของทางแบรนด์ ซึ่งแม้จะเปิดตัวมาแล้วกว่า 94 ปี แต่ก็ยังคงเป็นรุ่นที่ขายดีของแบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน เนื่องด้วยโมเดลที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ว่าใครมองก็ต้องรู้สึกคุ้นว่าเป็นกระเป๋าของแบรนด์ Louis Vuitton
อย่างไรก็ดี หากไม่พูดถึงเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ Louis Vuitton ก็ยังมีคุณลักษณะพิเศษบางอย่างที่เด่นชัดออกมา โดยพวกเขานั้นเล่าผ่านเรื่องราวความเป็นมาของทางแบรนด์
Louis Vuitton เป็นแบรนด์มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 160 ปี สืบทอดความรู้และฝีมือจากรุ่นสู่รุ่น โดยแบรนด์มีจุดเริ่มต้นจากชายที่ชื่อว่า หลุยส์ วิตตอง ช่างทำหีบฝึกหัดของมูซิเยอร์ มาร์ชาล (Monsieur Maréchal) ช่างทำหีบและบรรจุภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงในกรุงปารีสในเวลานั้น
สมัยนั้นคนเรายังเดินทางกันด้วย รถม้า เรือ และรถไฟ และสัมภาระในการเดินทางต่างๆ มักได้รับการจัดการอย่างคร่าวๆ หีบเก็บสัมภาระเลยได้รับความนิยม และด้วยฝีมือการออกแบบสุดประณีตและหรูหรา แต่ก็ยังคงความทนทานเอาไว้ ทำให้หีบเก็บสัมภาระของหลุยส์ วิตตอง ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ด้วยประวัติความเป็นมาที่ยาวนานและความหรูหราที่สั่งสมมา ทำให้แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้สนใจผลิตภัณฑ์ของ Louis Vuitton แต่แค่รับรู้ประวัติความเป็นมาของแบรนด์ก็รับรู้ได้ถึงความหรูหรา ความคลาสสิก ความชนชั้นสูง ความผู้ดีเก่า ที่ทางแบรนด์ตะโกนออกมาได้แล้ว
ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือความเป็นมาของแบรนด์ หรือแม้แต่การตกแต่งภายในร้านที่เต็มไปด้วยความหรูหรา ไปจนถึงพนักงานบริการในร้านที่มีบุคลิกภาพดีสวมใส่ชุดสูทพร้อมบริการและให้คำแนะนำเราเหมือนเป็นแขกคนสำคัญ
ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ Louis Vuitton ล้วนทำเพื่อสร้างการรับรู้หรือความรู้สึกที่ดีในครั้งแรก หรือ First impression เพื่อให้ลูกค้าจดจำ Louis Vuitton ในคุณลักษณะที่เด่นชัดที่แบรนด์พยายามจะสื่อสารออกมาซึ่งก็คือ ความหรูหรา คลาสสิก เรียบง่าย และเก่าแก่
และเมื่อลูกค้าจดจำภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ Louis Vuitton ได้แล้ว พวกเขาก็มักจะมีแนวโน้มที่ดีต่อผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของแบรนด์ตามกลไล Halo Effect
ซึ่งไม่เพียงแต่ Louis Vuitton แต่กลไกจิตวิทยานี้ยังถูกนิยมใช้ในแบรนด์หรูอีกหลายแบรนด์ โดยหากเราลองสังเกตเวลาที่แบรนด์หรูเหล่านั้นมีผลิตภัณฑ์รูปร่างแปลกๆ หรือดูแล้วไม่น่าจะขายออกได้ แต่ท้ายที่สุดก็มักจะมีลูกค้าบางคนที่มาซื้อผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นไป
ดีหรือไม่ดี สวมใส่แล้วโอเคหรือไม่ไม่รู้ ขอแค่ได้สวมใส่มัน เพราะเป็นของแบรนด์หรู ซึ่งนี้ก็คือ พลังของเอฟเฟกต์รัศมีการรับรู้ หรือที่เรียกว่า Halo Effect นั่นเอง ทั้งนี้ Halo Effect ยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความภักดีต่อแบรนด์ (Brand Loyalty) ของลูกค้าอีกด้วย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา