4 ก.ค. เวลา 10:24 • ประวัติศาสตร์

ทำไมบาดทะยัก อาการหนักถึงตาย ตอนที่ 1 | อะไรฆ่าทหารที่ร่วมรบในสงคราม

ณ ห้องทดลองของมหาวิทยาลัยกอทิงเกน ประเทศเยอรมนี ปี 1884
นักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง กำลังง่วนอยู่กับการส่องกล้องเพื่อดูตัวอย่างเลือดที่ได้จากกระต่าย ถ้าผลเลือดกับสิ่งที่เขาคิดตรงกัน นี่จะเป็นการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ที่จะทลายความกลัวที่มีมานานนับพันปีให้สิ้นสุดลงเสียที
เป็นความกลัวต่อโรคปริศนา ที่ไม่เคยมีใครรู้สาเหตุ
โรคปริศนา ที่มักจะทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็งจนตัวงอ หรือบางทีก็บิดเกร็งจนกระดูกหัก
โรคปริศนานี้ไม่เคยมียารักษา ในยุคก่อนไม่เคยมีคำอธิบาย เมื่อเป็นแล้วก็เห็นจะมีแต่ “ความตาย” ที่จะสามารถปลดปล่อยร่างกายออกจากความทรมาน
1
ทุกท่านครับ นี่คือเรื่องราวของโรคที่เราคุ้นเคยกับชื่อของมันมากที่สุด แต่กลับเข้าใจความเป็นไปของมันน้อยเหลือเกิน (พูดแล้วหลายคนอาจจะไม่คุ้นว่าโรคนี้มีอาการอย่างนี้)
โรคนั้นมีชื่อว่า “บาดทะยัก”
บาดทะยักคืออะไร มันทำอะไรกับร่างกายของเรา ทำไมผู้หลักผู้ใหญ่ถึงต้องคอยเตือนลูกหลานของตัวเองให้ระวัง?
ในซีรีส์สองตอนจบนี้ เราจะมาหาคำตอบของทุกคำถาม ผ่านประวัติศาสตร์ของโรคบาดทะยักกันครับ
[ตอนที่ 1 อะไรฆ่าทหารที่ร่วมรบในสงคราม]
จุดเริ่มต้นของโรคบาดทะยัก สามารถย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุคอียิปต์โบราณ เมื่อห้าพันกว่าปีมาแล้ว
ผู้คนในสมัยนั้นไม่ได้บรรยายถึงโรคบาดทะยักเอาไว้ตรงๆ แต่พูดถึงอาการประหลาดอย่างหนึ่ง ที่มักจะพบในทหารที่มีบาดแผลเอาไว้ว่า “สยดสยอง น่ากลัว กรีดร้อง และทรมาน”
1
สมัยก่อนที่มีการทำสงคราม ทหารมักจะพกกันแต่ดาบ แต่ไม่ค่อยพกเบตาดีน (มันมีที่ไหนล่ะ!) ฉะนั้นความสะอาดคืออะไรไม่ต้องพูดถึง โดนฟันเข้าไปทีหนึ่งถ้าไม่รอดก็คือร่วงไปเลย ทหารที่ร่วงส่วนใหญ่ก็จะถูกเพื่อนทหารหามกลับกองทัพ
และความน่ากลัวมันก็เริ่มต้นจากตรงนี้
อาการเริ่มแรกมักจะเป็นแผลอักเสบบวมแดง แต่ถ้าผ่านไปสามวันแล้วพี่เขายังหายใจ แผลที่โดนฟันจะเริ่มกระตุก เป็นการกระตุกของกล้ามเนื้อเหมือนคนเป็นตะคริว ปวดบ้าง คลายบ้าง แต่ก็ยังไม่มีอะไร
1
กระทั่งเข้าวันที่ห้าวันที่หก พี่ทหารจะรู้สึกได้ว่าจู่ๆ กรามก็เริ่มล็อก พูดคุยลำบาก นิ้วมือนิ้วเท้าหดเกร็ง ก่อนที่อาการเกร็งเหล่านี้จะเริ่มลามไปที่กล้ามเนื้อมัดหลัง กล้ามเนื้อเหล่านี้จะไปดึงลำตัวพี่เขาจนโก่งโค้งเหมือนกับคันธนู
ระยะที่โก่งโค้งนี้เอง ที่คำว่าทรมานดูจะน้อยไปเลย
อาการของโรคบาดทะยัก
เมื่อระยะนี้มาถึง กล้ามเนื้อทุกมัดจะเริ่มหดจนควบคุมไม่ได้ พวกมันพร้อมใจกันหักกระดูกขาออกเป็นสองท่อนโดยที่เจ้าตัวไม่มีสิทธิ์ได้อ้อนวอน
แต่พี่เขายังรู้สึกตัวตลอดเวลา หยดน้ำตายังไหลพราก การหายใจเริ่มทำได้ไม่คงที่ สิ่งที่เดียวที่คงจะทำได้ในตอนนี้ก็คือรอ และรอ ให้วันสุดท้ายผ่านมาถึง
อาการลักษณะเดียวกันนี้ ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ เมื่อมันเกิดขึ้นที่กรีก หมอกรีกจึงตั้งชื่อให้กับอาการประหลาดนี้ว่า เททานอส (Tetanos) มาจากรากศัพท์ ten- ที่แปลว่ายืดเหยียดตึง (เช่น tension ความตึง)
สุดท้ายก็เพี้ยนมาเป็น เททานัส (Tetanus) หรือที่เรารู้จักในชื่อภาษาไทยว่า “บาดทะยัก” นั่นล่ะครับ
แล้วถามว่าหมอกรีกรู้ไหมว่าเจ้าเททานัสนี่เกิดจากอะไร?
คำตอบคือ ไม่รู้
ถึงจะรู้ว่าต้องเป็นแผลก่อน แต่ทำไมเป็นแผลแล้วถึงมีอาการแบบนั้นก็ยังตอบไม่ได้
1
บาดทะยักจึงกลายมาเป็นปริศนาอันดำมืดของวงการแพทย์มาเกือบๆ สองพันปี กระทั่งเข้าสู่ปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อมีนักศึกษาแพทย์คนหนึ่ง ฉีดสารบางอย่างจากหลอดทดลองเข้าไปที่ขาของกระต่าย
ความลับที่เคยถูกปิดตาย ก็กำลังจะค่อยๆ เผยตัวออกมา …
เยอรมนี 1880s
ลึกเข้าไปในห้องทดลองของมหาวิทยาลัยกอทิงเกน ประเทศเยอรมนี ปี 1884
อาร์เธอร์ นิโคไลเออร์ (Arthur Nicolaier) นักศึกษาแพทย์ชาวเยอรมันปีสุดท้าย กำลังง่วนอยู่กับการส่องกล้องเพื่อดูตัวอย่างเลือดที่ได้จากกระต่าย หลายวันก่อนหน้าเขาเพิ่งผสมน้ำซุปกับเศษดินแล้วฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อขาของมันไป
1
เพื่ออะไรน่ะเหรอ?
ก็เพราะเขาเชื่อว่าในเศษดินนั่นน่ะ ต้องมีอะไรสักอย่างที่เป็นต้นเหตุของโรคบาดทะยักเป็นแน่!
อาร์เธอร์ นิโคไลเออร์
นิโคไลเออร์เป็นนักศึกษาแพทย์ที่สนใจเรื่องบาดทะยักเป็นพิเศษครับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงชีวิตที่เขาเติบโตมา เยอรมนีกำลังจะรวมชาติ สงครามจึงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทหารก็บาดเจ็บล้มตาย ส่วนที่ยังไม่ตายก็ล้วนต้องพบเจอกับอาการประหลาด
อาการประหลาดที่ว่านั้นมักจะเริ่มจากบาดแผลที่อยู่ลึก เช่น รอยดาบ หรือรอยกระสุน ก่อนจะเข้าตำราเมื่อหลายพันปีก่อน คือกล้ามเนื้อกระตุก เริ่มจากขา ไปแขน กรามล็อก หลังแอ่นโค้งเป็นธนู และจบลงด้วยความตาย
บางทีอาการเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนสองคน แต่อาจจะทั้งกองร้อย การสูญเสียกำลังพลไปเรื่อยๆ ทำให้กองทัพต้องทำอะไรสักอย่าง พวกเขาจึงให้ทุนศึกษาแก่นักวิจัยตามสถานพยาบาล
แต่นิโคไลเออร์ไม่ได้เงินอะไรกับเขาหรอกครับ เขาแค่สนใจเรื่องนี้มากๆ ถึงขั้นใช้เรื่องบาดทะยักเป็นหัวขัอหลักของวิทยานิพนธ์ก็เท่านั้นเอง
1
เดิมทีแล้วคนยุคก่อนจะเชื่อว่า โรคภัยไข้เจ็บเกิดจากสมดุลในร่างกายที่เสียไป แต่สำหรับนิโคไลเออร์แล้ว เรื่องนี้ฟังยังไงก็ฟังไม่ขึ้น
เขาเชื่อว่ามันต้องมีคำอธิบายที่ดีกว่านี้ ไม่งั้นทำไมอาการป่วยแต่ละคนถึงแตกต่างกัน ประจวบเหมาะพอดีกับที่ช่วงเวลานั้น มีทฤษฎีหนึ่งกำลังบูมขึ้นมา และน่าจะตอบทุกปัญหาให้กับเขาได้
1
ทฤษฎีนั้นมีชื่อว่า ทฤษฎีเชื้อโรค (Germ theory)
ทฤษฎีเชื้อโรคบอกว่า โรคภัยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากจุลชีพที่ดำรงชีวิตเป็นปรสิต ซึ่งจุลชีพนี้ไม่ใช่ว่าส่องกล้องเพียงอย่างเดียวก็จะสามารถพิสูจน์ได้ แต่ต้องทดลอง คัดแยก เพาะเลี้ยง เปลี่ยนโฮสต์ และทำซ้ำ เพื่อพิสูจน์ว่าไอ่เจ้าจุดเล็กๆ ที่ลอยเท้งเต้งผ่านกล้องจุลทรรศน์นั่นน่ะ มันก่อโรคได้จริงๆ
ทฤษฎีนี้นำโดยสองนักวิทยาศาสตร์แห่งยุคอย่างหลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) และโรเบิร์ต ค็อค (Robert Koch) เพียงแค่การมาของสองท่านนี้ โรคที่เป็นปริศนามานับพันปีก็ถูกเผยตัวอย่างง่ายดาย ทั้งวัณโรค อหิวาตกโรค แอนแทรกซ์ และพิษสุนัขบ้า
หลุยส์ ปาสเตอร์ และ โรเบิร์ต ค็อค
พอนิโคไลเออร์ได้ฟังทฤษฎีนี้แล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย! มันเป็นไปได้! แล้วถ้าเป็นบาดทะยักบ้างล่ะ?
ถ้ามีเชื้อบาดทะยักอยู่จริงๆ เหมือนกับเชื้อวัณโรค มันจะอยู่ที่ไหน ลูกกระสุนเหรอ ไม่สิ ทหารที่โดนฟันจนเหวอะหวะก็เป็นบาดทะยักได้ถมไป
คิดไปคิดมา หรือจะเป็นดิน
เพราะทหารที่ไปรบก็ต้องคลุกดิน ทหารที่โดนยิงก็ต้องล้มลงดิน ดินมีอยู่ในสนามรบ ดินมีอยู่ทุกที่ ดินอาจจะมีเชื้ออย่างว่าอยู่ก็เป็นได้
พอคิดได้แบบนั้น เขาก็ไปกวาดต้อนดินมาจากหลายๆที่ ที่ไหนมีคนเป็นบาดทะยักเขาเอาหมด จากนั้นก็เอาตัวอย่างดินมาจึ๋งหนึ่ง ผสมเข้ากับน้ำซุปเพื่อให้มันมีโปรตีนกับวิตามิน แล้วฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อขาของกระต่าย ที่เหลือก็แค่รอ
ผ่านไปวันแรก ยังไม่มีอะไร
วันที่สองก็ยังไม่มี
แต่วันที่สามที่สี่อันนี้เริ่มชัดเจน กระต่ายแสดงอาการเหมือนทหารได้แผลจากการไปรบไม่มีผิด มันชักกระตุก เป็นตะคริว ก่อนจะเริ่มนอนแน่นิ่ง พอนิโคไลเออร์เจาะเลือดมาตรวจดู ก็พบว่ามีเศษตะกอนคล้ายกับหัวเข็มหมุดเต็มไปหมด
เชื้อที่มองเห็นผ่านกล้องจุลทรรศน์
เขาลองเอาเจ้าเข็มหมุดนี้ไปเพาะเลี้ยง ก่อนจะพบว่ามันแบ่งตัวได้ พอลองทำซ้ำอีก ก็แบ่งตัวได้อีก ทีนี้เขามั่นใจแล้วว่าอะไรสักอย่างที่อยู่ในดินต้องเป็นสาเหตุของโรคบาดทะยักแน่ๆ แต่กลไกก่อโรคคืออะไรล่ะ?
คำถามนี้ยังตอบไม่ได้ในยุคของนิโคไลเออร์ แต่ผลงานของเขาก็วางรากฐานที่แน่นปึ้กให้กับนักวิจัยรุ่นถัดไป
กระทั่งมีแพทย์ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง เริ่มจะเพาะเลี้ยงเจ้าเข็มหมุดนี้ได้เป็นกองทัพ แพทย์ญี่ปุ่นคนนั้นพบว่ามันสร้างสารบางอย่างขึ้นมาด้วยระหว่างที่ทำการแบ่งตัว สารเหล่านี้เมื่อฉีดเข้าไปที่หนูจะทำให้หนูชักกระตุก ชัดเจนเลยว่านี่คือสารพิษ และนี่อาจจะเป็นต้นตอของเรื่องราวทั้งหมด
เขาตั้งชื่อสารพิษเหล่านี้ว่า Tetanus toxin
ต่อมาเขาก็พบว่ามันคือแบคทีเรีย
แบคทีเรียพันธุ์นี้ถูกตั้งชื่อว่า คลอสทรีเดียม เททานี (Clostridium tetani)
(คำว่า Clostridium มาจากคำว่า Kloster ในภาษากรีก แปลว่าแกนหมุน บางคนก็มองเป็นแกนเพราะมันจะป่องๆ บางคนก็มองเป็นไม้กลอง หรือบางคนก็มองเป็นเข็ม)
1
ต่อมาเขาก็พบอีกว่าพิษของมันโจมตีระบบประสาท แต่เมื่อทำให้พิษอันตรายน้อยลง มันก็เอาไปทำเป็นเกราะป้องกันได้ด้วย
เมื่อรวมความรู้ทั้งหมดนี้เข้าด้วยกัน ปัจจุบันเราจึงเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วว่า
กลไกที่ทำให้เราป่วยเป็นโรคบาดทะยักคืออะไร
เชื้อมีวิถีชีวิตยังไง
ทำไมร่างกายเราถึงโก่งโค้งอย่างนั้น
และเราจะป้องกันตัวเองจากโรคนี้ได้อย่างไร?
ไว้ตอนหน้า เราจะมาตอบคำถามเหล่านี้กันครับ
#WDYMean
อ้างอิงจาก
ใครคือ อาร์เธอร์ นิโคไลเออร์
แพทย์ชาวญี่ปุ่นคนนั้น
อ้างอิงรูปภาพจาก getty images, pixabay, science photo library, google image
ภาพ Arthur Nicolaier

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา